แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรวมในประเทศจะดีขึ้น แต่การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” เป็นสายพันธุ์น่ากังวล (Varients of Concern) ตัวล่าสุดที่พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกได้สร้างความวิตกกังวลพร้อมกับคำถามมากมายขณะที่มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว
ท่ามกลางข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมากมาย
“สายพันธุ์ใหม่นี้น่ากลัวกว่าเดลต้าหรือไม่”
“จะติดเชื้อง่ายขึ้นมั้ย”
“อาการของโรครุนแรงหรือไม่”
และ “วัคซีนที่มีอยู่จะสามารถป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน”
เหล่านี้คือคำถามที่ Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยยืนยันว่ายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่หวังว่าจะได้คำตอบในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ในงานเสวนาวิชาการออนไลน์ “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ : รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธ์ใหม่มาเยือน” ซึ่งจัดโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีข้อมูลเบื้องต้นที่ยืนยันว่า การตรวจเชื้อไวรัสในปัจจุบันสามารถดักจับโอไมครอนได้แน่นอนและวัคซีนที่มีอยู่ก็ยังมีประสิทธิภาพเช่นกัน
>> รู้จักโอไมครอน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สายพันธุ์นี้คือเป็นการกลายพันธุ์แบบตัวใหม่ ไม่ใช่ลูกหลานของสายพันธุ์ที่มีมาก่อน และมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง บางการกลายพันธุ์ก็เกิดในสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้เกิดความน่ากังวล เพราะคุณสมบัติบางอย่างจะตามมาด้วย เช่น การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว การหลบวัคซีนได้ แน่นอนว่ายังสรุปไม่ได้ในตอนนี้ แต่จากข้อมูลเท่าที่มีคือค่อนข้างแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหนักหนากว่าสายพันธ์เดลต้า และมีแนวโน้มในการหลบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามด้วยช่วงเวลาจำกัดยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้
ทั้งนี้เนื่องจากการเข้ามาในช่วงเปิดประเทศพอดีจึงต้องเตรียมการรับมือและปรับมาตรการให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น ก่อนหน้านี้มีแผนจะลดการตรวจ RT-PCR โดยจะให้ตรวจเฉพาะ ATK เฉพาะกลุ่มเดินทางเข้ามาแบบ Test and Go แต่หลังจากมีการตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ยังคงมาตรการเดิมไว้ต่อไป ซึ่งอัพเดตสุดขณะนี้เข้าข่ายโอไมครอน 14 ราย ยืนยันด้วยวิธี Whole genome sequencing ถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว 9 ราย ขณะที่การตรวจมี 3 วิธีตั้งแต่ตรวจเร็วๆไปจนถึงตรวจละเอียด ทันทีที่เจอว่ามีโอกาสเป็นจะรีบแจ้งยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเลย
“ตั้งแต่เปิดประเทศมา สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยยังเป็นเดลต้าเป็นส่วนใหญ่ แต่วันใดวันหนึ่งต้องเป็นการติดเชื้อภายในประเทศสักวัน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ยังไม่ต้องตกใจมาก เพราะถ้าเราเจอแล้วจำกัดวงได้เร็วก็ยังไม่น่ามีปัญหาอะไรส่วนข้อกังวลเรื่องการหลบการตรวจสายพันธุ์นั้น นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการตรวจหลายตำแหน่งและหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ด้วยการสุ่มตรวจสัปดาห์ละเป็นพัน ถ้ามีเข้ามาก็ไม่น่ารอดเพียงหวังให้เจอตอนเพิ่งเข้ามา ย้ำว่าการตรวจ RT-PCR ไม่ได้มีปัญหาอะไร รวมถึงการตรวจ ATK ณ วันนี้ 90% ยังไม่มีผลกระทบ เพียงแต่การใช้เครื่องมือ ATK มีผลลบลวงได้อยู่แล้ว เนื่องจากเชื้อน้อยหรือตรวจผิดวิธี นั่นเป็นปัญหามากกว่า เพราะฉะนั้นประชาชนสบายใจได้เลยว่าวิธีการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดักได้แน่นอน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ใหม่
>> วัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอ?
หนึ่งในคำถามที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องวัคซีนกับการรับมือโอไมครอน เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า จากการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนตั้งแต่เดือนพ.ค.พบว่า ทุกวัคซีนป้องกันได้แต่ไม่มีชนิดไหนป้องกันได้ 100 % แต่สามารถป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ดี โดยเมื่อผ่านไประยะหนึ่งภูมิจะตกลงเสมอ ทำให้ต้องมีเข้มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิเพิ่มขึ้น
“ช่วงนี้วัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยถือว่ามีปริมาณมากทีเดียว มีหลายชนิดแต่เนื่องจากการฉีดมีหลายชนิด บางสูตรฉีดได้เฉพาะบางตัว การบริหารจัดการจึงมีความซับซ้อน เช่น ไฟเซอร์ ซึ่งมีเข้ามาพอสมควรแต่ต้องกันไว้สำหรับเด็กและกลุ่มที่ฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็มและกลุ่มเสี่ยงก่อน แต่ด้วยจำนวนที่จะเข้ามาในปีหน้า 120 ล้านโดส ซึ่งตอนนี้ทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว 90 ล้านโดส รอดำเนินการอีก 30 ล้านโดส น่าจะเพียงพอต่อความต้องการอีกทั้งยังอาจจะมีตัวใหม่เพิ่มเข้ามาอีก"
ขณะที่ พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ดีกับสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยอ้างข้อมูลจากแอฟริกาใต้พบว่า การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 5 เท่าและป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต 10 เท่า
“ในแอฟริกาใต้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40 % แต่เจอตัวเลขผู้ติดเชื้อกระโดดขึ้นจากโอไมครอน เป็นข้อสังเกตได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อได้ง่าย และหลบหนีจากภูมิคุ้มกันเดิมได้พอสมควร ซึ่งคนที่มีอาการหนักส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า โอไมครอน มีความรุนแรงกว่าเพราะอาจยังไม่ใช่ช่วงพีค จึงอยากย้ำว่า มาตรการส่วนบุคคลและการฉีดวัคซีนยังเวิร์กอยู่”
>> วัคซีนเข็มเสริม...แนวทางใหม่
ขณะที่นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ระดับทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอว่า แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วการตอบสนองหรือประสิทธิผลของวัคซีนจะน้อยกว่าคนทั่วไป เพราะภูมิจะตกไวกว่า จึงจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มเสริม (Additional dose) แตกต่างจากเข็มกระตุ้นเพราะเร็วขึ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น
สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ควรจะได้รับเข็มเสริมตามคำแนะของ WHO ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะแอ็คทีฟหรือภายใน 12 เดือนหลังจบการรักษา กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะในช่วง 2 ปีแรกหรือกำลังได้รับยากดภูมิ กลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำรุนแรง เช่น ได้รับยากดภูมิหรือสเตียรอยด์ รวมถึงผู้ที่รับการล้างไตต่อเนื่อง และผู้ป่วยเอดส์ที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส
“กลุ่มนี้ควรจะมีการฉีดวัคซีนเข็มเสริมอย่างน้อย 1-3 เดือนหลังได้รับวัคซีนชุดแรกไปแล้ว และถ้าใครเลทเกิน 3 เดือนแล้วเป็นกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำควรจะรีบเข้ามา การให้วัคซีนอาจเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างกับชุดแรก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศ โดยในประเทศไทยการให้วัคซีนเข็มเสริม กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือแพ้ภูมิตนเองที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับวัคซีนเข็มเสริม”
ทั้งนี้แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มเสริมคือ ผู้ที่ได้รับซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ควรได้รับวัคซีนเข็ม3 เป็น mRNA จำนวน 3 เข็มห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย 1 เดือน ส่วนคนที่ได้รับเอสตราเซเนกา ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 2 เข็ม ควรได้รับวัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน และวัคซีนสูตรไขว้า สูตรแนะนำคือ วัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน ส่วนกลุ่มที่มีภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิดมาแล้ว จำนวนเข็มเสริมจะน้อยลง เช่น จาก 3 เข็มเหลือ 2 เข็ม
“เรายังยืนยันเรามีวัคซีนมากเพียงพอ เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพสำหรับคนทุกๆ กลุ่มเพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันสูงที่สุด เพื่อต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าที่มีอยู่หรือโอไมครอนที่กำลังเข้ามา” พญ.สุเนตร กล่าวพร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า “ณ วันนี้เรายังมีสายพันธุ์เดลต้าระบาดอยู่ มีผู้เสียชีวิต เราทราบดีว่าไอไมครอนกำลังเข้ามา และมีโอกาสติดเชื้อเร็วขึ้น ในช่วงแรกอาการอาจจะดูรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมแต่เรายังคงไม่ประมาท เราไม่สามารถบังคับไม่ให้ไวรัสไม่กลายพันธุ์ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการดูแลตัวเอง และใช้วัคซีนป้องกัน เมื่อมีข้อมูลทางวิชาการออกมาแล้วว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังสามารถจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ จะช่วยลดอัตราการป่วยหนักและอัตราการตายได้”
ภาพจาก https://www.who.int/
- 172 views