อย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงกลโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างรักษาโรคมะเร็ง ย้ำ อย. ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาในเชิงบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค แนะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ออกกำลังสม่ำเสมอ ลดเสี่ยงมะเร็งร้าย
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า 10 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” เพื่อให้ประชากรชาวไทยตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง รวมถึงรณรงค์ให้หันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยปี พ.ศ. 2563 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,890 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,245 ราย และเพศหญิง จำนวน 1,645 ราย
โดย 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบมากในชายไทย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งหลอดอาหาร
ส่วนมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งตับและท่อน้ำดี
กลุ่มผู้ป่วยจึงแสวงหาวิธีการหรือผลิตภัณฑ์มาดูแลสุขภาพ จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสนี้โฆษณาอวดอ้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาโรคมะเร็ง โดยมักจะโอ้อวดสรรพคุณหรือนำรูปผู้เชี่ยวชาญมาใช้ประกอบการโฆษณาจำหน่าย เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน
เนื่องในวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ 10 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในการบรรเทา หรือรักษาโรคมะเร็ง ทางสื่อต่าง ๆ เนื่องจาก อย. ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาในเชิงบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค ซึ่งโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี คือ เลือกรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
เพื่อการรักษาโรคอย่างถูกต้อง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาต ผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา, Line : @FDAThai, Facebook : FDAThai, App อย. หัวข้อ ตรวจเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องสงสัยหรือผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง หรืออวดอ้างว่า ช่วยบรรเทา หรือรักษาโรค สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556
- 1257 views