นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งในปัจจุบัน โดยระบุว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
“จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยปี 2562 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่าโรคมะเร็งที่พบในผู้ชายไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่มะเร็งตับและท่อน้ำดี รองลงมาคือลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ,ปอด ,ต่อมลูกหมาก และช่องปาก ในขณะที่ผู้หญิงไทย 5 อันดับแรก คือ มะเร็งเต้านม ,ปากมดลูก ,ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ,มดลูก และสุดท้ายมะเร็งปอด ซึ่งมีค่ารักษาค่อนข้างจะสูง ทำให้มีผู้ประกอบการบางราย ใช้โอกาสนี้ทำการโฆษณาอวดอ้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่าสามารถรักษาโรคมะเร็ง โดยมักจะกล่าวอ้างสรรพคุณหรือนำรูปผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยหลงเชื่อและซื้อมารับประทาน” นพ.พูนลาภ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องในวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ 10 ธันวาคม 2563 อย.จึงอยากจะเตือนผู้บริโภคว่าอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายแรงต่างๆ เนื่องจาก อย. ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหาร ทำการโฆษณาสรรพคุณ คุณภาพ มาตรฐาน หรือคุณประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อการบำบัด บรรเทาและรักษาโรค
“ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ และรู้เท่าทันการโฆษณาในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ ซึ่งเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และถือเป็นการสื่อข้อความที่เป็นเท็จ หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลักลอบใส่สารอันตรายหรือสารต้องห้าม อาจทำให้ผู้ป่วยมีทรุดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบสถานะเลข อย. ได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทาง ORYOR Smart Application และเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หากพบเลขผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย.หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย หรือผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างรักษาโรคเกินความเป็นจริง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรมศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2511 หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” มาโดยตลอด โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศของกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการ ด้านการตรวจ วินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็ง
ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี โดยโรคมะเร็ง ที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และ ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก มีผู้เสียชีวิตวันละ 221 คน หรือคิดเป็น 80,665 คนต่อปี
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้โรคมะเร็งจะเป็นโรคร้าย แต่เราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ ด้วยการใช้หลักการ 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง โดย 5 ทำ ได้แก่ 1) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2) ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด 3) กินผักผลไม้ 4) กินอาหารหลากหลาย 5) ตรวจร่างกายเป็นประจำ ส่วน 5 ไม่ ได้แก่ 1) ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดม ควันบุหรี่ 2) ไม่มั่วเซ็กซ์ 3) ไม่ดื่มสุรา 4) ไม่ตากแดดจ้า 5) ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ หากปฏิบัติตามหลักการนี้จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองจาก 7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง ได้แก่ 1) ระบบขับถ่าย ที่เปลี่ยนแปร 2) แผลที่ไม่รู้จักหาย 3) ร่างกายมีก้อนตุ่ม 4) กลุ้มใจเรื่องการกลืนกินอาหาร 5) ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล 6) ไฝ หูด ที่เปลี่ยนไป 7) ไอ และ เสียงแหบ จนเรื้อรัง เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรกเป็นประจำ
- 580 views