นักวิทยาศาสตร์ต่างเร่งงานวิจัยศึกษาศักยภาพของสายพันธุ์โอไมครอนในการแพร่กระจายเชื้อและความรุนแรงของโรค แต่ข้อมูลเบื้องต้นชี้การกลายพันธุ์ยังอยู่ในตำแหน่งที่ยังไม่มีนัยสำคัญต่อการเกิดความรุนแรงของโรคที่มากกว่าสายพันธุ์เดลต้า ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ยังเห็นว่าวัคซีนรุ่นปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพเพียงพอกับสายพันธุ์ใหม่
การแพร่กระจายของสายพันธุ์โอไมครอนมากกว่า 30 ประเทศ ภายในระยะเวลาแค่สองสัปดาห์ หลังจากพบเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ความหวังในการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคอยู่ในภาวะชะงักงัน หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยออกมาตรการห้ามการเดินทางเข้าประเทศของคนที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา เพื่อชะลอและป้องกันการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ในประเทศของตน อย่างไรก็ดีข้อมูลของไวรัสโอไมครอนยังมีไม่มากเพียงพอที่จะระบุว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดของโรคในปัจจุบันนี้หรือไม่ และวัคซีนจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้มากน้อยขนาดไหน ทั่วโลกกำลังรอคอยคำตอบจากการศึกษาของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่จะมีความชัดเจนขึ้นภายในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า
เปรียบเทียบโอไมครอน กับ เดลต้า
นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการกลายพันธุ์ 50 ตำแหน่งในสายพันธุ์โอไมครอน โดยมีถึง 32 ตำแหน่งพบในหนามโปรตีนที่อยู่บริเวณพื้นผิวของตัวไวรัสที่ทำหน้าที่เกาะยึดกับเซลล์ของมนุษย์ ในขณะที่สายพันธุ์เดลต้ามีลักษณะกลายพันธุ์ที่น่ากลัวเช่นกัน และยังคงเป็นการกลายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยการติดเชื้อพบในทุกกลุ่มประชากร และความกังวลในประเด็นที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบัน ดังเช่นรายงานที่พบในสายพันธุ์อย่างเบต้า เป็นต้น
โรเบิร์ด แกลรี่ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยทูเลน ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างไวรัสสองสายพันธุ์ในลักษณะตัวต่อตัวของลักษณะการกลายพันธุ์ โดยเขายอมรับว่า สายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งอีกสายพันธุ์หนึ่ง แต่ก็เคยพบการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งมักจะมีหลายตำแหน่งที่จะมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่มากขึ้น จะทำให้ตัวไวรัสนั้นๆมีความอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าองค์ประกอบของการกลายพันธุ์นั้นจะมีผลอย่างไรกับตัวไวรัส
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นการกลายพันธุ์ที่สำคัญที่จะบ่งชี้ว่า โอไมครอนจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าเดลต้า ซึ่งคำถามใหญ่ในขณะนี้คือ โอไมครอนจะสามารถเข้ามาแทนที่การระบาดของเดลต้าได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรมบางกลุ่มออกมาให้ความเห็นว่า โอไมครอนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนัยสำคัญอันใดที่จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าเดลต้า
อย่างไรก็ตามมีรายงานจากสองสามงานวิจัยที่ระบุว่า สายพันธุ์ไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโรคแต่อย่างใด ดร.ปีเตอร์ โฮเตส คณะบดีคณะการแพทย์เขตร้อน ของมหาวิทยาลัยการแพทย์เบเล่อร์ มองว่าความสามารถในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อัลฟาเป็นอย่างมาก ซึ่งมีการระบาดที่อังกฤษครั้งแรก ก่อนที่จะมาพบในอเมริกาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ก็ไม่ได้เร็วไปกว่าสายพันธุ์เดลต้าแต่อย่างใด ซึ่งเขามองว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะไม่สามารถมาทดแทนสายพันธุ์เดลต้าได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม โอไมครอนก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอยู่ดี
โดยธรรมชาติแล้วไวรัสสามารถคัดลอกตัวเองได้ แต่ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสในทุกครั้ง และมักจะมีข้อผิดพลาดในตัวพิมพ์เขียวพันธุกรรมทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ และยิ่งไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ดีในตัวมนุษย์ โอกาสในการกลายพันธุ์ย่อมจะมีสูงขึ้น ดังนั้นการลดการติดเชื้อจะสามารถลดโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ การฉีดวัคซีนจะช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นกันว่าสายพันธุ์โอไมครอนเอง อาจมีการกลายพันธุ์ในตัวคนไข้ที่มีภาวะอาการโรคค่อนข้างยาวนาน ทำให้ไวรัสมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ได้
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า มีความเป็นไปได้ที่โอไมครอนสามารถผสมพันธุกรรมร่วมกับไวรัสตัวอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหวัด ซึ่งลำดับพันธุกรรมแบบนี้ยังไม่มีในเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่พบอย่างแพร่หลายกับสายพันธุ์ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด และอีกหลายโรค ซึ่งการจะดึงเอาพันธุกรรมจากไวรัสตัวอื่นมาผสมกับโอไมครอนนั้น มันจะต้องทำตัวให้ผสมกลมกลืนกับพันธุกรรมมนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง หรืออาจจะไม่แสดงอาการ
ส่วนโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้ภายในข้อสมมุติฐานที่ว่ามีเชื้อของไวรัสสองตัวอยู่ในร่างกาย และในขณะที่ไวรัสทั้งสองชนิดทำการคัดลอกตัวเอง ได้เกิดยีนส์ใหม่ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับต้นแบบของไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ อย่างไรก็ตามรายงานชิ้นดังกล่าวยังไม่ได้มีการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญ
วัคซีนรุ่นใหม่ยังต้องใช้เวลา
ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นปัจจุบันอาจจะลดน้อยลง เมื่อต้องมาใช้ป้องกันการระบาดของโอไมครอน แต่ก็มีหลายบริษัทกำลังคิดค้น พัฒนา วัคซีนตัวใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะในการศึกษาวิจัย บริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอน่าออกมาให้ความเชื่อมั่นว่ากำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่ากำลังมีการศึกษาว่าวัคซีนปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนต่อสายพันธุ์โอไมครอน
อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโองบริษัทไฟเซอร์กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า ถ้ามีความจำเป็นในการผลิตวัคซีนสำหรับสายพันธุ์ไมครอน ทางบริษัทเองก็ไม่ลังเลที่จะทำมัน เมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์เบต้าและเดลต้า บริษัทก็ผลิตวัคซีนเพื่อสองสายพันธ์ดังกล่าว แต่โดยแท้จริงแล้วมันยังไม่มีความจำเป็น เพราะวัคซีนในปัจจุบันก็ยังคงมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขาเองหวังว่ามันจะให้ผลแบบเดียวกันกับสายพันธุ์โอไมครอน ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นจากบริษัทโมเดอนาที่มองว่า วัคซีนในปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพที่ดีกับการป้องกันของสายพันธุ์โอไมครอน
มีการคาดการณ์กันว่า การผลิตวัคซีนชนิดใหม่อาจใช้เวลามากกว่า 100 วัน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า รัฐบาลมีการทำงานและประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ได้ทันกับสถานการณ์การระบาด แต่อย่างไรก็ตามประชาชนควรรับการฉีดวัคซีนให้ครบ หรือฉีดเข็มกระตุ้น แทนที่จะรอวัคซีนรุ่นใหม่
Source: Omicron variant may have picked up a piece of common-cold virus, Reuters Omicron vs. Delta: More mutations don't necessarily make a meaner Covid-19 virus, CNN Even with a new variant, here's why vaccines and boosters are still the best solution, CNN
What are the Covid variants and will vaccines still work?, BBC
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 628 views