มีข้อมูลมากมายกล่าวถึงการใช้ยากัญชาในการรักษาโรคมะเร็ง จึงมีหลายคนเกิดความสงสัยว่ากัญชาซึ่งอยู่ในสารเสพติด เหมาะแก่การใช้รักษาโรคมะเร็งจริงหรือ ดร. ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ผ่านแพจ Relifnow ดังนี้
สำหรับประเด็นนี้ อยากจะให้ทำความเข้าใจในการใช้ยากัญชาสำหรับรักษาโรคอะไรได้บ้างและมีแนวทางในการใช้อย่างไร?
ดร. ภญ. ผกากรอง เล่าว่า สำหรับยากัญชา เป็นสมุนไพรที่มีในเมืองไทยและใช้ในทั่วโลกมานานแล้วก่อนที่จะถูกเอาไปใส่ในรายการยาเสพติดให้โทษ จริง ๆ แล้วคนโบราณเขารู้ว่ายากัญชาสามารถใช้ลดปวด ช่วยให้นอนหลับ ลดความวิตกกังวลแต่ว่าสมัยก่อนมันไม่มียาให้เลือกมากนัก แต่ก็ได้มีการบันทึกไว้ในตำรับตำราคัมภีร์ดั้งเดิมว่าต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ถ้าใช้มากเกินไปจะได้ผลตรงกันข้าม
ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยากัญชา จึงทำให้บางข้อมูลอาจจะไม่ถูกส่งต่อมาสู่ยุคปัจจุบัน สาเหตุจากระยะเวลาที่ผ่านมานานมาก ส่งผลให้คนเอาไปใช้ในทางที่ผิดสุดท้ายเลยถูกนำไปใส่ในรายชื่อยาเสพติดให้โทษ แต่เมื่อได้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าพบว่า จริง ๆ แล้วกัญชามีสรรพคุณช่วยลดปวด ลดป่วยได้จริง ช่วยให้ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับได้ และอาจจะไปช่วยบรรเทาอาการในกลไกหนึ่งของโรคบางโรคที่มีความซับซ้อนในปัจจุบันได้ เช่น เรื่องภูมิคุ้มกัน เรื่องการอักเสบต่าง ๆ ดังนั้นจึงทำให้มีการรื้อข้อมูลมาศึกษาใหม่เพื่อหักล้างข้อมูลเดิม ๆ กลับมาใช้อีก
อย่างไรก็ตาม สำหรับความรู้ดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ของยากัญชาในความเป็นจริงแล้วมีข้อมูลค่อนข้างสอดคล้องกัน
ในปัจจุบันโรคต่าง ๆ ได้มีการวิวัฒนากันมาเรื่อย ๆ จึงอยากจะทราบว่ายากัญชามีผลการวิจัย ผลการทดลองเกี่ยวกับการนำเอากัญชามาใช้รักษาโรคหรือไม่?
ดร.ผกากรอง ให้คำตอบว่า มี แต่หากเทียบกับยาตัวอื่นแล้วกัญชามีงานวิจัยน้อย ส่วนนึงเพราะกัญชาได้ถูกบรรจุไว้ในรายชื่อว่าเป็นยาเสพติด ฉะนั้นหากเรานำยาเสพติดมาใช้มันจะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน แต่ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้หลาย ๆ ประเทศสามารถทำกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องของทางการแพทย์จึงทำให้มีการศึกษาวิจัยไปได้ค่อนข้างเร็ว แต่ยังขาดงานวิจัยด้านอื่น ๆ มาสนับสนุน โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนอย่าง "โรคมะเร็ง" ที่มีการศึกษาวิจัยในคนค่อนข้างน้อย หากนำมาใช้จริงจะต้องมีการติดตามเพื่อประเมินประสิทธิผล ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในข้อกฎหมายประเทศไทยว่าการจะใช้ยากัญชาจะต้องใช้ภายใต้การดูแลของผู้มีใบประกอบวิชาชีพและจะต้องมีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัย
หากพูดถึงหลักฐานทางงานวิจัยมีหรือไม่นั้น ตอบได้มี แต่วมีน้อยและก็เป็นการศึกษาในระดับเซลล์ในระดับสัตว์ทดลอง ซึ่งมันไม่สามารถนำผลไปสรุปแทนการรักษาโรคในคนได้ ส่วนการศึกษาในคนมีบ้าง แต่ก็มียังน้อยและเป็นการศึกษาในลักษณะที่เป็นการศึกษาย้อนหลัง คือ ใช้ในคนไปแล้วจึงค่อยไปตามเก็บข้อมูลกลับมา ซึ่งในบางกรณีมันมีตัวแปรที่รบกวนกับประสิทธิผลในการรักษาด้วย
สรุปก็คือการจะนำยากัญชามาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ยังอยู่ในวงที่จำกัดและต้องมีการใช้ยาอย่างถูกต้องจากผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ดังนั้นกัญชาจึงเป็นทั้งยารักษาโรคและยาเสพติดให้โทษ หากเราจะใช้จริง ๆ ควรจะมีข้อระมัดระวังในการใช้ และควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
จริงหรือไม่ยากัญชาสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้?
ดร. ภญ. ผกากรอง ตอบถึงคำถามนี้ว่า สำหรับนิยามของการรักษาคือมันต้องไปมีผลกับตัวโรคมะเร็ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานมารองรับ เนื่องจากว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกเป็นได้หลายชนิด ซึ่งยังไม่นับรวมกับกับมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ที่มีอีกมากมาย
สำหรับการใช้ยาสมุนไพรมาเพื่อรักษาโรคจะต้องดูข้อมูล 2 ทางคือ ข้อมูลแผนปัจจุบันและข้อมูลสมุนไพรไทยดั้งเดิมด้วย หากยึดตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยแล้วเราไม่ใช้ยากัญชารักษาโรคมะเร็งเป็นตัวหลัก แต่จะใช้เป็นยาล้อม ในทางแพทย์แผนปัจจุบันเขาจะเรียกว่า ยามุ่งเป้าซึ่ง
ซึ่ง ยามุ่งเป้าพวกนี้มันจะมีความเป็นพิษ เช่น มันจะมีกลุ่มกำมะถันต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในปริมาณน้อยมาก เพราะฉะนั้นบางกรณีเพื่อที่จะไปป้องกันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้เป็นมะเร็งแพทย์มักจะให้ยาล้อม ซึ่งกัญชาจัดอยู่ในกลุ่มนี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย เพื่อทำให้พวกเขากินข้าวได้ นอนหลับ
หากกล่าวถึงกรณีผลการรักษาจากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งหรือพัฒนาการของโรค มันยังไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้นจึงขอยกตัวอย่าง การทดลองในระดับเซลล์จะพบว่าเซลล์มะเร็งบางชนิดพอให้สารสกัดกัญชาหรือ THC เดี่ยว ๆ แล้วเซลล์มะเร็งมันยุบลง แต่บางกรณีมันไปเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สามารถเคลียร์ได้ 100% หากคนไข้บางกลุ่มไปตกในกลุ่มเสี่ยงสมมุติว่าสัก 10% ก็จะได้ผลตรงกันข้าม และที่สำคัญมันเป็นเพียงแค่การศึกษาในระดับเซลล์หรือในระดับสัตว์ทดลองซึ่งมันให้ความแตกต่างกันมากในการศึกษาในระดับคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนมักจะมีปัจจัยแวดล้อมที่ละเอียดอ่อนมากมาเป็นตัวแปร ฉะนั้นงานวิจัย ณ ชั่วขณะนี้ที่มีการศึกษาในกัญชาเกี่ยวกับฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง การพัฒนาการของโรค และต่อเนื้องอกของเซลล์มะเร็ง ก็จะพบว่ามีการศึกษาแค่ 3 ชิ้นที่ใช้กับคนและทำในเซลล์มะเร็งสมองด้วย แล้วมีประสิทธิผลพบว่า ให้การตอบสนองที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ หมายความว่ามีการศึกษาหนึ่งบอกว่าได้ผลแต่ก็ได้มีการตั้งคำถามว่า สรุปแล้วผู้ป่วยที่ได้ยากัญชากับยาหลอกทำไมถึงสุ่มจำนวนคนไข้ได้ไม่เท่ากัน กลายเป็นว่าคนไปได้ยาอยู่กลุ่มกัญชาเยอะแล้วทั้ง 3 การศึกษาก็คือการใช้ยากัญชาร่วมกับยามาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งในทางการแพทย์ด้วย ณ ตอนนี้ หลักฐานมันค่อนข้างชี้ไปว่า ถ้านำไปใช้ต้านมะเร็งอาจจะยังไม่ชัดเจนและจะไม่ใช้เป็นยารักษาหลักด้วย มักจะใช้เป็นยาเสริม
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งในไทยและในต่างประเทศกลุ่มแพทย์มักจะใช้กันเยอะ แต่อยู่ในแง่ของบริบทของการบรรเทาอาการที่มากับมะเร็ง เช่น อาการปวด กลุ่มคนไข้ที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งส่วนนี้มีข้อมูลปรากฏอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย (รายการยาของประเทศไทยที่ควรจะมีเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ) และกลุ่มผู้ป่วยประคับประคองเองก็เป็นกลุ่มที่มีสำคัญ เพราะทางญาติผู้ป่วยก็กำลังมองหาวิธีการที่จะทำให้กลุ่มผู้ป่วยนี้จากไปอย่างสงบหรือมีคุณภาพชีวิตดีมากที่สุด
และทางเราก็เห็นว่างานวิจัยจากทางกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มองไปในทางเดียวกันว่า มันช่วยให้ผู้ป่วยกินข้าวได้ นอนหลับ บรรเทาปวด คุณภาพชีวิตดีขึ้น
โดยสรุปแล้วการนำไปใช้รักษามะเร็งในลักษณะที่ไปฤทธิ์ต่อก้อนเนื้องอก เซลล์มะเร็งยังไม่มีข้อผลศึกษาที่ชัดเจน คุณหมอมักจะไม่ใช้และโดยส่วนตัวเองก็ไม่แนะนำด้วยเช่นกัน แม้จะมีการวิจัยในหลอดทดลองว่าเ ซลล์มะเร็งเมื่อได้รับสารสกัดกัญชาแล้วยุบลง แต่เมื่อนำมาใช้กับคนแล้วจะพบว่าล้มเหลวและในตำรับตำราหรือภูมิปัญญาดั้งเดิมก็ไม่ได้ระบุว่าให้ใช้เพื่อให้เซลล์มะเร็งมันฝ่อ ซึ่งมันไม่ใช่บทบาทหลักของกัญชา
แต่สิ่งที่ในทางการแพทย์ใช้ทุกวันนี้นั้นใช้กับบทบาทในเรื่องอื่น เช่น ผู้ป่วยได้เคมีบำบัดไปแล้วเกิดผลข้างเคียง หมอก็จะใช้ยากัญชาไปช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น เคลื่นไส้ อาเจียน และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีปัญหากับคุณภาพชีวิต เช่น กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการปวด เพื่อช่วยเสริมให้มันดีขึ้น
แต่ทั้งนี้ ยาทุกชนิดถ้าหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมะสมก็จะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ และยากัญชาสายพันธุ์ไทยมีสาร THC สูง ซึ่งมันไปออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทถ้าใช้ในปริมาณสูงมาก ๆ แต่ ณ วันนี้ ทางเรามีระบบเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์มาได้ระยะเวลา 2 ปี และได้มีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการใช้ยากัญชาในคน เมื่อมองผลตอบรับในแง่ดี คือ ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในระบบดังกล่าว อยู่ภายใต้ความดูแลจากหมอ พยาบาล เภสัชกร ก็จะช่วยควบคุมปริมาณการใช้ขนาดยาได้ ซึ่งปัจจุบันใช้ใรปริมาณต่ำ ทำให้มีผลข้างเคียงน้อย แต่ในอนาคตอาจมีการเพิ่มขนาดยาขึ้นได้ ถ้าหากเกิดภาวะดื้อยา
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งมีปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ (วิตกกังวลสูง) ร่วมด้วย แพทย์จะหลีกเลี่ยงการจ่ายยา
สำหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ปากแห้งคอแห้งซึ่งตรงนี้แก้ไม่ยากคือการให้ผู้ป่วยจิบน้ำบ่อย ๆ เรื่องของความดันโลหิตต่ำที่พบมากในช่วงแรก ส่วนกรณีที่ค่าตับค่าไตที่เพิ่มขึ้นที่หลายคนกังวล มักจะเจอในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านนี้มาอยู่ก่อนแล้ว สุดท้ายกลุ่มที่มีอาการทางประสาทก็พบด้วยเช่นกัน แต่พบเพียง 1 คน
- 16848 views