ตลอด​ 1​ เดือน​ หลังให้สถานศึกษาเปิดทำการเรียนการสอนแบบ​ on​ site​ บางแห่งพบนักเรียนติดเชื้อโควิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่จนต้องประกาศปิดเพื่อให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการควบคุมดูแลการระบาดของแต่ละโรงเรียน​ จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนศึกษาพิเศษที่ต้องดูแลเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายซึ่งต้องป้องกัน​มากกว่าโรงเรียนทั่วไป​

นางพวงทอง​ ศรีวิลัย​ ผู้อำนวยการ​โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่​ เปิดเผยแนวคิดวิธีการสร้างมาตรการป้องกันโควิดระบาดภายในโรงเรียนซึ่งประสบความสำเร็จ​ จนกลายเป็นต้นแบบแซนด์บ็อกซ์​ ที่น่าสนใจ

ผู้อำนวยการ​โรงเรียนศรีสังวาล์เชียงใหม่​ กล่าวว่า​ ช่วงต้นปี​ 2564​ รัฐเคยประกาศให้โรงเรียนเปิดเทอมวันที่​ 16​ พ.ค.​ ต่อมาสถานการณ์ระบาดภายในประเทศยังคงวิกฤตทำให้ต้องเลื่อนไปเปิด​ 1​ มิ.ย.​

"การติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ​ เขาก็สั่งเลื่อนอีก​แต่เราเลื่อนไม่ได้​ เพราะว่าทางโรงเรียนได้บอกให้ผู้ปกครองกักตัวพร้อมลูกก่อนมาโรงเรียน​ 14​ วัน​ ถ้าเลื่อนพ่อแม่เด็กก็ต้องถูกกักตัวอีก​ 14​ วัน​ กลายเป็นว่าสถานการณ์นั้นทำให้ครอบครัวเดือดร้อน​ ก็คือไม่ได้ทำงานไม่ได้ออกไปไหนเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง​ ซึ่งเด็กพิการที่โรงเรียนเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่​ แล้วก็เป็นเด็กยากจนถึงจนมากที่สุดอยู่แล้ว​ จึงทำให้คุณภาพชีวิตที่ไปอยู่บ้านยากขึ้นไปอีก​ จึงเป็นความต้องการของผู้ปกครองที่บอกว่าไม่ไหวแล้ว​ ผอ.ต้องเปิด​ เราก็เลยเริ่มเปิดตั้งแต่​ 30​ พ.ค.​ โดยฝืนมาตรการของจังหวัด​ แต่ไทม์ไลน์ของเรา​ เรามั่นใจว่าเด็กปลอดภัย"

"พอเปิดก็ไม่ให้ผู้ปกครองเข้ามาข้างใน​ เราดูว่าเด็กเดินทางมาจากที่ไหน​ เพราะที่นี่รับเด็กทั่วประเทศ​ ไกลสุดมาจาก​ จ.สตูล​ และจ.นครศรีธรรมราช​ เราก็จัดโซนเป็นห้องๆ​ ว่าเด็กมาจากจังหวัดอะไรบ้าง​ จนได้ทั้งหมด​ 17​ ห้อง​ แล้วให้เด็กกักตัว​ 14​ วัน​ เราก็เปิดเรียนปกติ​ on​ site​ คุณครูของเรายังเดินทางไปกลับได้​ พอมาตรการ​ จ.เชียงใหม่​ ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายครู​ นักเรียน​ กลับภูมิลำเนา​ นั่นก็เลยเป็นที่มาว่าเราต้องมากักตัวอยู่ในโรงเรียน​ กักตัวได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็ไม่ไหว​ คำว่าไม่ไหวคือ​คุณครูที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมีปัญหาเรื่องสุขภาพ​ มีลูกเล็ก ท้อง​ ดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยอยู่บ้าน​ นี่เป็นที่มาว่าเราอยู่ไม่ได้ก็เลยต้องประสานกับศูนย์สุขภาพจิต​ หรือกรมสุขภาพจิต​ มาคุยว่าทำอย่างไรให้เราเรียนและอยู่ได้​ ครูมีความสุข​ ปลอดภัย​ เราจึงคิดโมเดลขึ้นมา​ เรียกว่าโมเดลไข่​ 4​ สี" ผอ.รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่​ กล่าว

นางพวงทอง​ อธิบายโมเดลไข่​ 4​ สี​ ได้แก่​ 1.เปลือกไข่​ เป็นโซนคุณครู​ เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย​ และการรับส่งพัสดุ​ อาหารการกินที่จะส่งเข้ามาข้างใน​ และเป็นคุณครูกลุ่มเดินทางไปกลับ​

2.คุณครูกลุ่มไข่ขาว​ โดยกลุ่มไข่ขาวกับกลุ่มเปลือกไข่​ สามารถเกินทางไปกลับได้​ แต่แบ่งเป็น​ 2​ ​ทีม​ ซึ่งทีมหนึ่งหากว่าเราควบคุมเต็มที่แล้ว​ ห้ามคุณครูไปตลาด​ ห้ามไปห้างสรรพสินค้า​ มากว่า​ 6 ​เดือนแล้ว​ แต่โรคนี้เราไม่รู้ว่ามันจะอยู่ถึงวันไหน​ เราควบคุมไม่ได้​ ถ้ามีทีมใดทีมหนึ่งติดก็ยังมีอีกทีมหนึ่งคอยทำงาน​

3.หลังจากนั้นก็ให้คุณครูอีกกลุ่มมากักตัว​ 14​ วันเป็นไข่้เหลือง​ เพราะก่อนจะเข้าไปอยู่กับ​เด็ก​ 14​ วัน​ เราต้องมั่นใจว่าคุณครูปลอดภัยถึงจะเข้าไปอยู่กับ​เด็ก​ ในขณะที่คุณครูกักตัวเสร็จแล้วเข้าไปอยู่กับ​เด็ก​ 7​ วัน​ ไป​ on​ site​ แบบเต็มๆ​

กลุ่มไข่เหลืองกับไข่ขาวที่กำลังกักตัวอยู่ก็สามารถ​ ออนไลน์​ on​ hand​ เข้ามาข้างใน​ แล้วเราก็วนลูปกันอย่างนี้​

4.ไข่แดง​ คือเด็กนักเรียน​ เจ้าหน้าที่​ คุณครู​ คนงาน​ พี่เลี้ยง​ กลุ่มนี้ไม่ได้ออกไปไหนเลย​ อยู่แต่ในโรงเรียน

ทั้งนี้​ ปัญหาที่ตามมาคือ​ ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลอาหารการกินทั้งหมด​ เนื่องจากพื้นที่ในโรงเรียนไม่สามารถมีเตาประกอบอาหาร​ ทำให้ทางโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม​ ค่าน้ำค่าไฟ​ เพราะมาอยู่ด้วยกันเยอะ​ ค่าใช้จ่ายในภาพรวมก็จะเพิ่มขึ้น

"ทำมาได้ระยะหนึ่งก็มีโครงการ​ Safety Zone​ in​ School เป็นโครงการของรัฐ​ ที่เราทำมา​มันแบบลูกทุ่งของเรา​ ต่อมาก็เป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการจับมือกัน​ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง​ ATK​ เราจะสุ่มตรวจทุก​ 7​ วัน​ ถ้าเป็นที่อื่นเขาจะ​ ATK​ ทั้งโรงเรียน​ แต่เราถือว่าเรามีมาตรการเข้มข้นพอสมควรที่ไม่มีอาการติดเชื้อ​ ดังนั้นเราก็ประหยัด​ ATK​ ของเรา​ ส่วนของไข่ขาวสุ่ม​ ATK​ ทุกๆ​ 7​ วัน​ และไข่เหลือง​ เมื่อกักตัวถึงวันที่​ 14​ แล้ว​ ก่อนไปหาเด็กเราจะตรวจ​ ATK​ ด้วย​ ส่วนไข่แดง​ 14​ วันเราจะสุ่มตรวจ" นางพวงทอง​ ฉายภาพมาตรการแบ่งโซน​ 4สี​ เพื่อควบคุมป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้ผ่านเข้าไปยังพื้นที่โรงเรียน​

ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาล์เชียงใหม่​ กล่าวอีกว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ของทางโรงเรียนเป็นผู้พิการ​ และมีปัญหาสุขภาพ​ โดยเฉพาะเรื่องปอด​ โรคประจำตัว​

(ผอ.พวงทอง)

 

"ที่เรากังวลว่าถ้าเด็กติดแล้วมันอันตรายถึงชีวิต​ แล้วส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำมาอยู่รวมกันถ้าใครติดมันไม่ใช่แค่ 1 ชีวิต​ เราไปเยี่ยมบ้านเด็ก​ เราไปเห็นว่ามันอเนจอนาถเด็กอยู่แบบคุณภาพชีวิตต่ำมาก​ เรารู้สึกว่าหดหู่​ ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยากลำบาก​ การลดความเหลื่อมล้ำ​ อยากจะให้มีในนักเรียนด้วย​" นางพวงทอง​ กล่าว

ซึ่งในช่วงโควิด​ ทาง​ รร.ศรีสังวาลย์​เชียงใหม่​ มีปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยวันละ​ 300-400​ ชิ้น​ นอกจากนี้​ ATK​ ราคาต่อชุดประมาณ​ 100​ กว่าบาท​ แต่จำเป็นต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

"ส่วนอื่นๆที่เราต้องการมีอะไรบ้าง​ หากในสถานการณ์ปกติจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาบริจาค​ มาดูแล​ มาให้กำลังใจ​ เนื่องจากส่วนหนึ่งเรามีเด็กที่สูญเสียความรู้สึกท่อนล่าง​ ต้องใช้แพมเพิร์ส​ 4​ ชิ้นหนึ่งคนต่อวัน​ เรามีเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณ​ 60-70​ คน​ เรื่องนี้รัฐเข้าไม่ถึงแล้ว​ ปกติที่ไม่มีไวรัสไม่มีโรค​ เราก็มีปัญหาของเราอย่างนี้อยู่แล้ว​ ปัญหาต่อมาคือสื่ออำนวยความสะดวก​ เช่น​ วีลแชร์​ วอลค์เกอร์ช่วยเดิน​ หรือเครื่องช่วยอำนวยความพิการต่างๆ​ รัฐเข้าไม่ถึง​ ต้องขอนับบริจาค​ 100 % ณ​ ขณะนี้​ การจัดการเรียนรู้ของเราเป็นปกติ​ เด็กๆได้เรียนรู้​ สามารถแข่งขันทางออนไลน์ไปถึงระดับโลกแล้ว​ ตอนเย็นๆเราเปิดสวน​ Smart Farm​ ให้เด็กๆเดินเข็ญรถ​ ปลูกผัก เขาจะได้มีความสุข"

"ที่เด็กมาอยู่ที่นี่​ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนึ่งคือช่วยลดภาระคุณพ่อคุณแม่​ สอง​ ​เด็กๆก็ยังได้รับการพัฒนาปกติ​ สาม​ คุณครูของเราแม้ลำบากก็ยังทำงานได้ สี่คือไข่​ 4​ สีของเรายังเป็นต้นแบบให้เชียงใหม่ทั้งโรงเรียนประจำ​ และโรงเรียนปกติ​ ไปบูรณาการ​ หรือโรงงานถ้ามีพนักงานเกิน100​ คนก็สามารถนำรูปแบบของเราไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงงานได้​ สุดท้ายแล้ว​ สธ.​กับ​ศธ.​ ได้มาเห็นรูปแบบเราก็เอาไปเป็นต้นแบบทั่วประเทศ​แล้วนำไปนำเสนอ​ UN ด้วย" นางพวงทอง​ กล่าว