รองปลัดสธ.ชี้กรณี รพ.ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถใช้เงินบำรุงเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือนให้บุคลากรปฏิบัติงานโควิด ขอให้แจ้งผู้ตรวจฯ นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯของแต่พื้นที่ เหตุมีเงินสปสช. กันกองกลางช่วยเหลือ ส่วนปัญหาคนทำงานโควิดร้องไม่ได้รับสิทธิ์ หากตรงตามเงื่อนไขสามารถร้องเรียนไปยังผู้ตรวจฯ ได้เช่นกัน
ตามที่เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขเรียกร้องสิทธิประโยชน์ตามมติครม. วันที่ 15 เมษายน 2563 ทำหนังสือถึงประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมหลังพบมีบุคลากรปฏิบัติงานโควิด-19 จำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์เงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยให้ผู้ปฏิบัติงานโควิดโดยตรง 1,500 บาทต่อเดือน และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน 1,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติครม.นั้น
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า กรณีเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน จะมีขั้นตอนการจัดสรรจากส่วนกลางส่งให้ทางเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และเขตต้องไปจัดสรรให้หน่วยบริการ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วบงานจัดทำบัญชีเบิกจ่ายว่า คนที่จะได้มีใครบ้าง และเสนอผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ที่ดูแล เพื่ออนุมัติ
โดยการเบิกจ่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเงินงบประมาณ ส่วนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวจะใช้เป็นเงินบำรุง ซึ่งตนได้ลงนามแนวทางการเบิกจ่ายล่าสุดของพนักงานกระทรวงฯ ให้ใช้เงินบำรุง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งหนังสือดังกล่าวจัดส่งให้แก่พื้นที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อกังวลเนื่องจากกรณีใช้เงินบำรุง หากรพ.ที่ขาดสภาพคล่องจะไม่มีเงินจ่ายบุคลากรหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแล และมีเงินกองกลางในการดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดสรรมา เนื่องจากเมื่อ สปสช.จัดสรรเงินมา จะมีเงินก้อนหนึ่งที่ทางผู้ตรวจราชการฯ ต้องกันไว้ส่วนกลางสำหรับแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการจะนำไปใช้จะต้องเข้าสู่คณะกรรมการเขตพิจารณา ตรงนี้จะนำมาแก้ปัญหาได้กรณีหากโรงพยาบาลใดมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะเป็นอีกทางออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจราชการฯ แต่ละพื้นที่ดำเนินการ
"สรุปคือ ทั้งเรื่องเงินเพิ่มพิเศษ และเลื่อนขั้นเงินเดือน 1% ส่วนกลางได้มอบหมายให้พื้นที่ ให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการแล้ว ดังนั้น หากบุคลากรในพื้นที่ใดตรงตามเงื่อนไขการได้รับเงินเพิ่มพิเศษ หรือกรณีได้ปรับขั้นเงินเดือน หากเป็นไปตามเกณฑ์ทั้งหมดแต่กลับไม่ได้ สามารถร้องไปยังผู้ตรวจฯพื้นที่ของตนเพื่อดำเนินการตรวจสอบช่วยเหลือต่อไป" รองปลัดสธ.กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-รองปลัดสธ.ตอบชัด! เลื่อนขั้นเงินเดือน 1% คนทำงานโควิด หากไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องทำอย่างไร...
-ก.คลังชี้ งบเบิกจ่าย “เงินเพิ่มพิเศษโควิด” 7 เดือน พนักงานกระทรวงฯ ลูกจ้างชั่วคราวใช้เงินบำรุง
- 167 views