สปสช.ชี้ทำงานขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันภิกษุสามเณรส่วนใหญ่เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ มีหน่วยบริการประจำพร้อมดูแลเมื่อเจ็บป่วย และมีสิทธิประโยชน์เท่ากับประชาชนทั่วไป
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงภาพรวมการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ว่า ในระยะ 2-3 ปีมานี้ สปสช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรสงฆ์ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพกลุ่มภิกษุสามเณรอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันกลุ่มพระสงฆ์สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและมีความรู้ในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้นกว่าในอดีต
ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สำหรับปัญหาสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์นั้น ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถร้องขอได้ว่าอยากทานอะไร ญาติโยมถวายอาหารอะไรก็ต้องฉันอย่างนั้น ซึ่งโดยปกติญาติโยมก็จะถวายอาหารที่คิดว่าดี อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์แต่ละรูปก็มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่างกันไป ดังนั้นจึงพบว่าปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ในกลุ่มพระสงฆ์จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเมื่อเป็นเบาหวาน ความดัน ก็จะตามมาด้วยโรคไตวายเรื้อรัง หรือถ้ามีน้ำหนักเยอะก็จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ทั้งนี้ เมื่อพระสงฆ์เกิดมีปัญหาสุขภาพขึ้นมาก็จำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งจริงๆ พระสงฆ์มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิผู้ป่วยนอก ค่ายา ค่าห้อง โรคเรื้อรังค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง ตาต้อกระจก ฯลฯ สามารถใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ได้หมด ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินก็เข้ารับบริการได้ทุกที่เหมือนประชาชนทั่วไปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสิทธิได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การคัดกรองโรคต่างๆ ตามช่วงอายุที่ สปสช.กำหนด
ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า การใช้สิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ของกลุ่มพระสงฆ์สามารถเข้ารับบริการได้เลย ถ้าเป็นสิทธิบัตรทอง ระบบจะลงทะเบียนหน่วยบริการประจำให้อัตโนมัติตามทะเบียนบ้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วพระสงฆ์จะไปบวชหรือจำวัดที่ต่างจังหวัด ดังนั้นจึงต้องทำการย้ายสิทธิไปอยู่หน่วยบริการใหม่ ซึ่งการย้ายสิทธิไม่ได้ยุ่งยาก เพียงนำบัตรประชาชน เลขที่วัด หรือเอกสารที่รับรองว่าจำวัดอยู่ที่ไหนไปยื่นที่หน่วยบริการ เพียงวันเดียวก็ใช้สิทธิได้แล้ว ซึ่งในระยะ 1-2 ปีมานี้ สปสช. ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำการสำรวจข้อมูลพระสงฆ์ทั่วประเทศว่าพระรูปไหนจำวัดที่ไหนบ้าง รวมทั้งช่วยลงทะเบียนหน่วยบริการประจำให้ ดังนั้น ในปัจจุบันนี้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่มีเลข 13 หลักจึงมีรายชื่อผูกกับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลใกล้วัดเรียบร้อยแล้ว หากเจ็บป่วยสามารถนำบัตรประชาชนไปยื่นรับบริการได้เลย
นอกจากการพัฒนาการเข้าถึงบริการในกลุ่มพระสงฆ์แล้ว ในด้านการส่งเสริมถวายความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและระบบสุขภาพ สปสช. ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ อาทิ มหาเถรสมาคม มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สำนักพระพุทธศาสนา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการขับเคลื่อนหลายโครงการ เริ่มจากภาพใหญ่อย่างการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ การจัดตั้งศูนย์หลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ 65 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่สื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงสิทธิแก่ภิกษุสามเณร รวมทั้งบางวัดทางคณะสงฆ์ก็ช่วยกระจายความรู้เหล่านี้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
ขณะเดียวกัน สปสช.ยังร่วมมือกับกรมอนามัยฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อช่วยดูแลสุขภาพระสงฆ์ด้วยกันเอง รวมทั้งพระสงฆ์ยังสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (กปท.) โดยมีหลายวัดที่เขียนโครงการขอรับงบประมาณจากกองทุนนี้ไปใช้ขับเคลื่อนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง หรือบางครั้งก็เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับพระสงฆ์ในการเขียนโครงการแล้วขับเคลื่อนการคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ก็ยิ่งเห็นภาพการมีส่วนร่วมระหว่างวัดและชุมชนเพราะมีหลายวัดที่ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้ง Community Isolation ในวัด ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์และเมื่อพระสงฆ์มีความรู้แล้วก็ยังช่วยเทศนากระจายความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพให้แก่ญาติโยมต่อไปอีกด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 134 views