“หมอประสิทธิ์” เผยสถานการณ์โควิด19 ยุโรปน่าห่วง! ฉีดวัคซีนเยอะ แต่มาตรการส่วนบุคคลยังน้อย เหตุหลายปัจจัย ขณะที่ไทยต้องระวัง ช่วงเดือน ธ.ค. เข้าหน้าหนาว เทศกาลเยอะ เสี่ยงระบาดรอบใหม่ ส่วนปัจจัยเชื้อกลายพันธุ์ยังต้องจับตา ล่าสุดพบสายพันธุ์ B.1.1.529 ติดเชื้อ 10 ราย บอสวานา แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังไม่มีรายงานพบความรุนแรงแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูล “อัปเดตสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศและข้อแนะนำในการป้องกันตนเองเมื่อเปิดประเทศ” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า องค์การอนามัยโลกกังวลอย่างยิ่งกับการแพร่ระบาดในยุโรป ณ ขณะนี้ ซึ่งตอนนี้หลากหลายประเทศในยุโรปที่โรคสงบ กลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งมีตัวแทนองค์การอนามัยโลกพูดว่า หากไม่มีการจัดการอะไร ภายในเดือนมี.ค.นี้จะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 แสนราย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาหากมีการระบาดในทวีปใดทวีปหนึ่ง อีกไม่นานก็จะแพร่ไปทวีปอื่น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของโลกเหมือนจะลดลง แต่เดือน ต.ค. อุบัติการณ์การติดเชื้อต่อวันของทั้งโลกกลับขึ้นมา เคยลงมาถึง 3 แสนรายต่อวัน ตอนนี้เป็น 5-6 แสนรายต่อวัน แต่ขณะเดียวกันหากดูอัตราการเสียชีวิต กราฟไม่ไปด้วยกันแล้ว จากปีที่แล้ว ติดเชื้อเยอะ คนเสียชีวิตเยอะด้วย แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ทั้งหมดเป็นปัจจัยจากการฉีดวัคซีน จนถึงทุกวันนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 8 พันล้านโดส ครอบคลุม 7.9 พันล้านคน และขณะนี้ก็ฉีดทุกวัน วันละ 33 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขเริ่มลดลง แต่ช่วงก.ย. - ต.ค. กลับวกขึ้น โดยในอเมริกามีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมฉีดวัคซีน แม้รัฐบาลออกมาตรการหลายอย่าง โปรโมต ส่งเสริมให้ฉีดวัคซีน ก็ยังไม่ฉีด ซึ่งคนกลุ่มนี้นำไปสู่การเสียชีวิต โดยคนเสียชีวิตในอเมริกาส่วนใหญ่มาจากคนไม่ฉีด หรือฉีดไม่ครบ
“สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทย ถือเป็นประเทศต้นๆที่ชวนให้ฉีดเข็มที่ 3 และเราทำก่อนประเทศตะวันตก เพราะเราเห็นบุคลากรทางการแพทย์มีการติดเชื้อเพิ่มเราตัดสินใจฉีดเข็มที่ 3 ตั้งแต่ ก.ย. ตอนแรกประเทศยุโรปไม่ได้เห็นด้วย แต่ตอนนี้เริ่มทำเช่นกัน โดยเขาก็ทำคล้ายไทย เริ่มจากกลุ่มเสี่ยง กลุ่มบุคลากร โดยสหรัฐก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม 70% ของประชากรได้ฉีดแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว และว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 89 ล้านโดส ฉีดทุกวันวันละ 5 แสนกว่าโดส โดยตอนนี้ประมาณ 67% ได้เข็ม 1 และไม่ถึง 57% ได้ครบโดส และ 4.4% ได้เข็ม 3 นี่คือข้อมูลวันที่ 23 พ.ย. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ยังได้รับวัคซีนไม่มากพอ จึงขอย้ำว่า อย่ากลัวว่าจะกระทบต่อลูกในท้อง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนที่สำคัญคือ ขณะนี้ทวีปยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อรอบใหม่ และเดือนหน้าจะยิ่งต้องระวัง เพราะเป็นช่วงอากาศหนาว เทศกาล ขณะที่ประเทศออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการติดเชื้อสูง จนรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา และกำชับมาตรการส่วนบุคคล การป้องกันตัวเอง และผลักดันฉีดวัคซีนให้มากขึ้น จริงๆ การฉีดวัคซีนในออสเตรีย 64% ของประชากร แต่พบว่าน้อยกว่าประเทศอื่น ขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ เดลตาพลัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานมีผลต่อวัคซีน
“ปัจจุบันยังมีกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน แต่ก็อยากมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งอยากให้เป็นอุทาหรณ์ มีคนออสเตรียมากกว่า 4 คน ไปร่วมปาร์ตี้คนติดเชื้อโควิด โดยคนจำนวนหนึ่งอยากมีภูมิคุ้มกัน จึงเอาตัวเองไปติดเชื้อ เพราะคิดว่า หากติดแล้วไม่มีอาการก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อันนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ขณะนี้กลุ่มคนที่ไป 4 คน มี 1 คนเสียชีวิต และ 3 คนอยู่ไอซียู ที่สำคัญ 1 ในนั้นเป็นเด็ก อันนี้แปลว่า ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ คนที่ไม่มีภูมิฯ ก็เสียชีวิตได้ ดังนั้น เรื่องนี้อย่าคิดแบบนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ยุโรปพบว่า แม้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และครบโดสเกิน 70% แล้วก็ยังติดเชื้อได้ ปัจจัยสำคัญมาจาก วัฒนธรรมความเชื่อ ความเป็นอิสระในตะวันตกจะมากกว่า และอีกจำนวนหนึ่งไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพวัคซีน จนถึงวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับวัคซีน การผ่อนคลายสภาวะที่ถูกควบคุม สันทนาการ การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มใหญ่ๆที่ขาดมาตรการป้องกัน อย่าลืมว่า โควิดอยู่มา 2 ปี เรามีความเครียดสะสม และเมื่อประเทศมีการผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้คนอยากผ่อนคลายมากขึ้น เพราะยกเลิกใส่หน้ากาก ยิ่งทำกัน รวมไปถึงเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัย อย่างการดึงเศรษฐกิจด้วยการมีกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ ประกอบกับภูมิอากาศก็เป็นสิ่งหนึ่ง ยิ่งตะวันตกเข้าสู่หน้าหนาว อุณหภูมิลดลง และนิยมอยู่ในอาคารพื้นที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก็ยิ่งเสี่ยง หากมีคนติดโควิดขึ้นมา ดังนั้น ในเดือนธ.ค. จึงเป็นช่วงเวลาเสี่ยงของทั้งโลก
“ภูมิคุ้มกันโควิด19 เราทราบแล้วว่าลดลงเร็ว สำหรับประเทศไทยเราผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า 4-6 เดือนให้หลังภูมิฯลดลง ถึงจุดต้องกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งทั่วโลกก็เช่นกัน อีกปัจจัยคือ การกลายพันธุ์ของไวรัส โดยขณะนี้ต้องติดตามคือ เดลตาพลัส และล่าสุดมีสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 แต่ไม่มีหลักฐานว่าจะก่อเรื่องอย่างไร โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ พบ 10 คนที่มีการตรวจ แต่ที่ไม่ตรวจยังไม่รู้ โดย10 คนเจอครั้งแรก ที่บอสวานา 3 ราย มีรายงานที่แอฟริกาใต้ 6 ราย และ 1 รายฮ่องกง โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ 32 จุดที่เกี่ยวข้องกับสไปร์ทโปรตีน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า กรณีนี้มีการติดตามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันจำไม่ได้หรือไม่ เพราะหากใช่ ก็อาจหลุดไปจากวัคซีนที่ฉีดตอนนี้ ดังนั้น จึงมีการติดตามเรื่องนี้อยู่ ที่นำมาเตือน เพราะให้เห็นว่า เรายังต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องเข้มมาตรการและขอย้ำว่า ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะอย่างไรก็มีการกลายพันธุ์อยู่ดี และทั่วโลกมีการเฝ้าติดตามต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่า มีอัลฟา เดลตา เบตา แกมมา ก็ยังมี 4 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม ยังเป็นแลมดา และMu
“ปัจจุบันไม่ใช่ทุกประเทศเปิดประเทศแล้วเกิดเรื่อง มีญี่ปุ่น อิสราเอล ที่ไม่เกิดเรื่อง จุดสำคัญคือ การมีวินัยและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย อย่างญี่ปุ่นมีการฉีดวัคซีนสูงกว่า 70% อิสราเอลก็เช่นกัน แม้ติดเชื้อหลักพัน แต่เสียชีวิตต่ำมาก ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า ทุกคนต้องร่วมมือร่วมกัน ทั้งรัฐ ประชาชน ผู้ประกอบการ ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนมาก ที่สำคัญคงมาตรการเข้มงวด การใส่หน้ากากอนามัยต้องถูกวิธี ไม่ใช่อยู่ตรงคาง ยังรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และรายงานตัวหากสงสัยติดเชื้อ ที่สำคัญในส่วนรัฐหากมีอะไรเกิดขึ้นต้องตัดสินใจเปลี่ยนมาตรการอย่างรวดเร็ว และขอให้เลี่ยง 4 เสี่ยง คือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ช่วงเวลาเสี่ยง ยิ่ง ธ.ค.นี้สำคัญมาก เป็นวันหยุดยาว อากาศหนาว แม้ไม่หนาวเท่ายุโรป แต่เป็นช่วงเทศกาล ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันทั้งหมด
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 27 views