ศูนย์แปรรูปอาหารทะเล “เลลันตาซีฟู้ด” เกาะลันตา จ. กระบี่ อีกตัวอย่าง SME ที่ภาค+รัฐสนับสนุนจนได้มาตรฐาน อย. พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

“แต่ก่อนผมเปิดร้านขายทอง และมีชาวบ้านเอาทองมาขาย เพราะไม่มีรายได้ ไม่มีทำกิน เนื่องจากโควิดระบาดหนัก อาหารทะเล การท่องเที่ยวหยุดชะงักหมด เพราะเกาะลันตา เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว รายได้มาจากทางนี้ จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะรอดจากสถานการณ์นี้..” นายวิรุจน์ รักสองหมื่น ผู้จัดการบริษัท เลลันตาซีฟู้ด จำกัด ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน ระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเกาะลันตา จ.กระบี่ ของนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา

เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ที่ได้รับเลือกรองรับการเปิดประเทศ เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 รายต่อวัน และได้รับวัคซีนป้องกันโควิด19 ครอบคลุมเข็มแรก 71% ของประชากร(ข้อมูลในหมอพร้อม) ประกอบกับสถานประกอบการต่างๆ ทั้งร้านอาหาร โรงแรมต่างพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐาน COVID Free Setting เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการ

นายสาธิต ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล “บริษัท เลลันตาซีฟู้ด จำกัด” ว่า จากการเปิดประเทศ ทำให้สถานประกอบการต่างๆ มีการเตรียมพร้อม พัฒนาตนเองเพื่อให้ได้มาตรฐานต่างๆ ทั้งการประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus การดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting และมาตรฐาน SHA Plus ตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา อย่างเช่น ศูนย์แปรรูปอาหารทะเล “เลลันตาซีฟู้ด” ได้มาตรฐานการผลิต GMP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting พนักงานได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรอง ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

“ ศูนย์แปรรูปอาหารแห่งนี้ เป็นอีกตัวอย่างของความพยายามของคนในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับภาครัฐ โดยการพัฒนาตนเองจนได้มาตรฐาน ซึ่งเราต้องส่งเสริม SME ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ยิ่งช่วงโควิดจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวได้ และสินค้าก็ยังได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งผมได้กำชับทาง อย.ให้การสนับสนุน คำแนะนำในการรับรองมาตรฐานแก่ SME เหล่านี้ ไม่เพียงแต่กระบี่ แต่ทุกพื้นที่ต้องสนับสนุนเหมือนกันหมด” นายสาธิต กล่าว

ขณะที่ นายวิรุจน์ รักสองหมื่น ผู้จัดการบริษัท เลลันตาซีฟู้ด จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้น ว่า เดิมทีเปิดร้านขายทอง ตอนนั้นก็มีชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง มาเล่าความทุกข์ ว่า โควิดทำให้ไม่มีรายได้ ขายอาหารทะเลไม่ได้ ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีเงิน จนต้องเอาทองมาขาย ช่วงโควิดลำบากมาก เพราะชีวิตคนที่นี่ปกติรายได้มาจากโรงแรม ร้านอาหาร แต่เมื่อมีโควิดก็ไม่มีรายได้ เราจึงคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง และอยากผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องไม่พึ่งพาแค่การท่องเที่ยวภายในเกาะลันตา แต่เราต้องเอาผลิตภัณฑ์ของเราออกสู่ข้างนอก

ด้วยเหตุนี้เราก็ไปปรึกษากับทาง พญ.ศิริพร เนตรพุกกณะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ณ ขณะนั้น ซึ่งได้ให้ทางฝ่ายตรวจอาหารและยา ฝ่ายสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาเป็นพี่เลี้ยงให้เรา 2 ปี ตอนแรกเราก็เริ่มทำเล็กๆ แต่เมื่อมีโควิด จึงตัดสินใจทำเป็นโรงงาน ซื้อที่ดิน และจัดระบบต่างๆ ให้ผ่านมาตรฐานอย. ซึ่งผ่านอย.แล้วประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ลงทุนไปแล้ว 10 กว่าล้านบาท เพิ่งเปิดมาเพียง 4 เดือน แต่วันนี้ได้ส่งให้ร้านอาหารระดับมิชเชอลิน มีร้านบ้านเทพา และขายกับร้านคีโตเฮ้าส์กว่า 80 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ กำลังหารือกับทางการบินไทยอีกด้วย

นายวิรุจน์ เล่าอีกว่า ความพิเศษของเรา คือ โดยปกติอาหารทะเลปลอดสารพิษ หรือออแกรนิคค่อนข้างยาก เพราะสินค้าประมงพื้นบ้านไม่ค่อยมีปลอดสารพิษ ไม่มี อย.รับรอง แต่ของเราได้รับการรับรองจาก อย. จึงหวังว่า จะเป็นสินค้าที่เสิร์ฟระดับพรีเมี่ยมจริงๆ โดยเราจะมีขั้นตอนจำนวนมากในการควบคุมผลิตภัณฑ์ประมง ทั้งการขึ้นจากเรือต้องมาส่งที่เราไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ห้ามดองน้ำแข็งเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไม่สด และต้องรีดเลือดออกให้หมด จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการถนอมอาหารประมงตามมาตรฐาน ที่สำคัญการล้างเราใช้น้ำทะเลทั้งหมด ไม่ใช้น้ำจืด เพราะเทคนิคการรักษาความสด และรักษารสชาติไว้

นายวิรุจน์ รักสองหมื่น

 

“ภาครัฐมีส่วนสำคัญมาก หากไม่ได้ภาครัฐคงไม่ได้ ยิ่งการขอ อย. หรือ GMP ปี 2564 เป็นกฎหมายใหม่ที่ยากกว่าเดิม แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาช่วยเหลือ ทำให้เราผ่านพ้นไปได้ โดยคอนเซ็ปต์ของเรา อยากให้เป็นแบรนด์ที่เหมือนเป็นครัวของลันตาที่ได้มาตรฐาน อย. และสามารถไปแข่งขันระดับสากลได้ ซึ่งปัจจุบันมีเรือมาส่งเราประมาณ 20-30 ลำ จากแรกเริ่ม 3 ลำ”

จริงๆ เราตั้งใจยกมาตรฐานคนที่นี่ให้ได้ เพราะเราไปดูงานมาก่อนหลายที่ อย่างญี่ปุ่น ทำให้ประมงพื้นบ้านเขาขายไฮเอนด์ได้ แต่ทำไมของไทยไม่ได้ จากของไฮเอนด์ทำไมเรากลายเป็นโลวเอนด์ เพราะเราต้องดองน้ำแข็ง กว่าจะถึงมือผู้บริโภค จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับตรงนี้ ทั้งการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมประมง ซึ่งในส่วนกรมประมงเราขอใบรับรองการวิเคราะห์อันตราและควบคุมจุดวิกฤตในกระบวนการผลิต หรือที่เรียกว่า HACCP ซึ่งเราได้ประมงอำเภอเป็นที่ปรึกษา มีประมงจังหวัดมาช่วยผลักดัน เพราะ ในประมงพื้นบ้านไม่มีใครมี หากได้ก็จะส่งขายในยุโรป เพราะมาตรฐาน อย.อย่างเดียวจะส่งไปยุโรปไม่ได้ เนื่องจากมีการลงนามการค้าระหว่างประเทศกลุ่มยุโรป

เมื่อถามว่า จากแผนธุรกิจมองว่าจะคืนทุนได้เมื่อไหร่ นายวิรุจน์ ตอบว่า ส่วนตัวไม่เคยมองว่า จะได้กำไรมากน้อยแค่ไหน แต่คิดเพียงเป็นส่วนหนึ่งช่วยชาวบ้าน เพราะหากเขาอยู่ได้ก็ลดปัญหาขโมย อาชญกรรม เพราะหน้าไฮซีซั่น ชาวบ้านมีรายได้จากต่างชาติ มีร้านอาหาร ร้านค้า มีโรงแรมมากกว่า 300 แห่งที่ขึ้นทะเบียน แต่เมื่อโควิดมากระทบไปหมด เปิดเหลือเท่าไหร่ เขาจะทำอย่างไร จึงไม่ได้มองว่า จะต้องกำไรมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ที่สำคัญเรายกระดับสินค้าประมงของเราได้ จากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 100-200 บาททีเดียว โดยสินค้ามีหลากหลาย ทั้งปลากะพง ปลาเก๋า ปลาหมอทะเล กุ้งลายเสือ ปลาหมึก เป็นต้น

เป็นอีกตัวอย่างของ SME ไทยที่พัฒนาตัวเองจากวิกฤตโควิด และได้รับการสนันสนุนจากภาครัฐ เพื่อรองรับการเปิดประเทศครั้งนี้...

อ่านข่าวอื่นๆ

 : เสียง อสม. ต่อนโยบาย (เพิ่ม) ค่าตอบแทนเดือนละ 1,500 บาทตลอดไป..

:"คลองท่อม" จ.กระบี่ สู่ “ออนเซ็นเมืองไทย” ฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org