โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำร่องเป็นตัวแทนพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชี้หากพิสูจน์ DNA ได้ในพื้นที่ไม่ต้องมาตรวจที่ส่วนกลางจะทำให้กระบวนการขอรับบัตรประชาชนรวดเร็วขึ้น
วันที่ 16 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมและประสานเครือข่ายการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ โดยมีองค์กรเครือข่ายต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ เข้าร่วมประชุม
พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่นำร่องในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลให้แก่ผู้มีปัญหาด้านสถานะให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยการประชุมในวันนี้เป็นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ตามมาตรฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งที่มาของการร่วมมือในครั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลพบว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่มารักษาแล้วโรงพยาบาลต้องให้การอนุเคราะห์ บางรายเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งหากต้องอนุเคราะห์ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ทราบว่าจะมีจุดสิ้นสุดตรงไหน เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่าคนกลุ่มนี้บางคนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาล
ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลจึงได้ประชุมหารือกับทีมผู้ให้การรักษาและกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม จึงได้ทำการประสานงานกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ ในการผลักดันช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้ได้รับบัตรประชาชนและเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่กระทรวงยุติธรรมให้โอกาสโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นที่จุดประกายให้ประชาชนได้รับสิทธิ เมื่อเราจุดนำร่องก็หวังว่าจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในประเทศไทย ให้เป็นไปตามตัวชี้วัดว่าประชาชนชาวไทยต้องมีสิทธิรักษาพยาบาล”พญ.โศรยา กล่าว
ด้าน พญ.วลีรัตน์ ไกรโกศล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายการแพทย์ คนที่ 1 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงพยาบาลร่วมผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้มีปัญหาด้านสถานะและนำมาสู่ความร่วมมือในการเป็นโรงพยาบาลนำร่องพิสูจน์อัตลักษณ์ให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องบำบัดทดแทนด้วยเครื่องไตเทียม 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่อผู้ป่วยมารับบริการแต่ละครั้งต้องเสนอผู้บริหารโรงพยาบาลเพื่อให้การอนุเคราะห์ค่าใช้จ่าย เมื่อสอบถามจึงทราบว่าไม่มีบัตรประชาชน
“การที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลยังผลกระทบต่อการรักษา เพราะมารับบริการแต่ละครั้งต้องรับทราบเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่กล้ามา การฟอกไตจึงทำไม่ได้ตามงวดที่ควรเป็น เกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวเข้า ICU โรงพยาบาลก็ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาวนอยู่เช่นนี้”พญ.วลีรัตน์ กล่าว
พญ.วลีรัตน์ กล่าวว่า ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาก็จะได้ลดแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลมองว่าผู้ป่วยเป็นคนไทยจึงควรต้องเข้าถึงสิทธิ จึงได้เริ่มจึงปรึกษาเครือข่ายต่างๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสิทธิและกระบวนการพิสูจน์ตัวตน เมื่อนำร่องกรณีแรกไปแล้ว ทำให้กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์และกลุ่มงานหลักประกันสุขภาพทราบแนวทางว่าต้องทำอย่างไร ต้องติดต่อประสานงานในจุดไหน จึงมีเคสผู้มีปัญหาด้านสถานะเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันโรงพยาบาลมีส่วนช่วยผลักดันให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวตนและได้รับบัตรประชาชนไปแล้ว 11 ราย
ด้าน พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ครอบคลุมในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และได้เปิดตัวโครงการนำร่องกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งที่ผ่านมา ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนมาตลอด เมื่อค้นหาแล้วก็เข้ากระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์
อย่างไรก็ดี ในบางครั้งผู้ที่ต้องการพิสูจน์อัตลักษณ์ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาตรวจ DNA ที่ส่วนกลาง เช่น เป็นคนไข้ติดเตียง หรือบางครั้งมาได้ก็ต้องหอบหิ้วกันมาทั้งครอบครัว บางรายกว่าจะได้บัตรประชาชนก็สายเกินไป ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงต้องการปรับปรุงกระบวนการพิสูจน์ DNA ให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาโครงการนำร่องให้โรงพยาบาลช่วยเก็บอัตลักษณ์ให้ เพราะถ้าในพื้นที่ทำได้ ผู้มีมีปัญหาสถานะและสิทธิในการรักษาพยาบาลจะได้ไม่ต้องรอนาน
“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงเป็นที่แรกในการดำเนินงานลักษณะนี้ และเราก็อยากให้มีโรงพยาบาลแบบนี้หลายๆ แห่ง เพราะแม้ทีมงานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะส่งทีมไปในพิสูจน์ DNA พื้นที่ก็จริง แต่ต้องรวบรวมคนให้ได้จำนวนมากๆก่อน บางครั้งกว่าจะครบตามกำหนดก็ต้องรอข้ามปี แต่ถ้าในพื้นที่ทำได้ ก็จะสามารถพลิกชีวิตของอีกหลายครอบครัว” พญ.ปานใจ กล่าว
ขณะที่ นายวิศิษฎ์ ยี่สุ่นทอง รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง กล่าวว่า บัตรประชาชนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. มีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนในพื้นที่ที่ทำงานช่วยเหลือให้ผู้มีปัญหาด้านสถานะเข้าได้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ร่วมมือแบบนี้ยังไม่ครบวงจรและต้องรอเวลานาน ซึ่งการพิสูจน์ DNA เป็นกระบวนการหนึ่งในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่ชัดเจนที่สุด แต่เนื่องจากสถานที่พิสูจน์ DNA ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อยู่ที่ กทม. ผู้ที่อาศัยในต่างจังหวัดจึงต้องส่งคนไปตรวจและมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่พอมีการนำร่องในลักษณะนี้ คนในชุมชน เครือข่ายประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน เมื่อค้นหาผู้ที่ยังไม่มีบัตรประชาชนได้แล้วก็จะสามารถผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการได้เร็วขึ้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 70 views