“ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา” เผยมุมมองเส้นทางนักศึกษาแพทย์ กับภาระงานช่วงโควิด รายได้ ค่าตอบแทน พร้อมข้อมูลการใช้ทุน โอกาสเพิ่มพูนทักษะ สู่การเติบโตเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
จากสถานการณ์การระบาดโควิด19 ส่งผลให้แพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอย่างหนักในช่วงวิกฤตโควิด ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหลายรายเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการใกล้ชิดผู้ป่วย ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เกิดคำถามว่าสวนทางกับรายได้ จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อขวัญกำลังใจแพทย์ และส่งผลต่อการเรียนแพทย์ในอนาคตหรือไม่
เรื่องนี้ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ตอบประเด็นคำถาม ดังนี้
“ผมคิดว่าโดยทั่วไป นักเรียน จะทราบได้อยู่แล้วว่าการเป็นแพทย์นั้นมีงานที่ต้องรับผิดชอบค่อนข้างมาก มีสิ่งที่ต้องเรียนที่ต้องใช้ความพยายาม และความอดทน รวมทั้งหลังเรียนจบยังมีภารกิจที่ต้องทำเพื่อผู้ป่วย สถานการณ์ของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่า การที่มีบุคลาการทางการแพทย์และเครื่องมือที่เพียงพอ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผมคิดว่า นักเรียนที่อยากเรียนน่าจะยังสมัครเรียนอยู่ แต่คนที่ยังตัดสินใจว่าเลือกดีหรือไม่ ก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่า ปัจจัยในการเลือกเรียน ว่าปัจจัยใดเป็น ปัจจัยหลัก เช่น การได้ช่วยเหลือคน การได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม หรือเป็นเรื่องของความมั่นคง เพราะว่าสถานการณ์ โควิด-19 สุดท้ายจะค่อยๆ คลี่คลายไป ทำให้ภาระงาน อาจจะกลับมาสู่ช่วงที่ปกติแบบใหม่
ทั้งนี้ แต่ถ้าเกิดว่า พูดถึงรายได้ของแพทย์ กับโควิด-19 ในช่วงที่เกิดสถานการณ์หลายๆ หน่วยงานทั้ง รัฐและเอกชน ก็พยายามหาทางสนับสนุนการทำงานของแพทย์และบุคลากร ด้วยการเพิ่มเครื่องมือรักษา รวมทั้งค่าตอบแทน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่กำลังของหน่วยงาน แต่ตรงนี้ก็มีเฉพาะกิจ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็คิดว่า น่าจะเป็นการให้รายได้ ตามสภาวการณ์เหมือนเดิมครับ ดังนั้นคิดว่าไม่น่ามีผลต่อการตัดสินใจ เรียนต่อของน้อง ๆ นักเรียนมากนักครับ
คำถาม : ที่ผ่านมามีแพทย์ร้องมายังแพทยสภาหรือไม่ถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นและไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทน รวมทั้งค่าตอบแทนปัจจุบันเป็นอย่างไร
นพ.ภาสกร : สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเงินเดือน นั้นในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะได้เงินเดือนตามระดับขั้น ซึ่งในอดีตเราเรียกว่า ซี โดยก่อนหน้านั้นเรียกว่า ซี4 ซึ่งแพทย์จบใหม่ถ้าได้บรรจุเป็นข้าราชการ จะเป็นนายแพทย์ปฏิบัติการ เงินเดือนอยู่ที่จำนวน 18,750 บาท ยังไม่รวมค่าอื่นๆ อย่างเงินที่รัฐบาลให้มานานมากแล้ว เพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ในรัฐบาล เรียกว่า เงินไม่ประกอบเวชกรรม หรือไม่เปิดคลินิก อีก10,000 บาท แต่หากเปิดคลินิกส่วนตัว หรือแม้ไปรับจ็อบพิเศษที่รพ.เอกชนเพียง 1 ครั้งก็จะไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีเงินที่เรียกว่า เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข หรือ พ.ต.ส. ซึ่งในส่วนของแพทย์ได้ประมาณ 5,000 บาท รวมๆแล้วประมาณ 33,750 บาท นอกนั้นก็จะเป็นค่าเวรถึงจะได้รายได้เพิ่มขึ้น” ซึ่งตรงส่วนที่ร้องเรียนผ่านการเข้าตรวจเยี่ยมของ อนุกรรมการเพิ่มพูนทักษะ แพทยสภา ทำให้เห็นว่า เรื่องที่เป็น ค่าเวร เพราะแพทย์เพิ่มพูนทักษะมักได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ที่เจอผู้ป่วยคนแรก เช่น อยู่เวรห้องฉุกเฉิน รวมทั้งการอยู่เวรบ่าย หรือดึก ประจำหอผู้ป่วยต่าง ๆ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่รักษาแก้ไข ปัญหาให้กับผู้ป่วย ทำให้ปริมาณผู้ป่วยที่ค่อนข้างมาก ทำให้เมื่อเทียบค่าตอบแทนระหว่างรัฐกับ เอกชน มีความเหลื่อมล้ำกันหลายเท่า หรือแม้แต่ ระหว่างระหว่างโรงพยาบาลรัฐด้วยกันก็มีความไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้แพทย์เพิ่มพูนทักษะอาจจะรู้สึกได้ว่าไม่เหมาะสม
คำถาม : กรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะ คืออะไร หากมีทักษะเพิ่มขึ้นสามารถไต่ระดับเงินเดือนได้หรือไม่
นพ.ภาสกร : ขออธิบายก่อนว่า โดยปกติแพทย์ที่จบมา 6 ปี จาก โรงเรียนแพทย์ อาจจะมีบางทักษะที่ยังต้องได้รับการเพิ่มพูน ดังนั้นหลังจากมาปีแรกแพทย์ส่วนใหญ่เกือบ 100% จะเข้าสู่โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภา ซึ่งจะกระจายตามโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ทั่วประเทศ เพราะจะมีอาจารย์อาวุโส ช่วยกำกับดูแลแนะนำแนวทางอีกครั้ง และจะมีการประเมินหลังจากที่ผ่านในแต่ละแผนกครับ ซึ่งใน 1 ปีนี้ จะรวมอยู่ในการใช้ทุนของแพทย์จบใหม่เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งระหว่าง 1 ปีแรกนี้ แพทยสภา ร่วมกับโรงเรียนแพทย์ รวม 35 ทีมเยี่ยม142 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาโดยตรง กับคุณหมอเพิ่มพูนทักษะกว่า 2,764 คน รวมทั้งแก้ไขปัญหา ที่เราสามารถช่วยแก้ไขได้ให้อย่างรวดเร็ว สำหรับการขึ้นเงินเดือนของแต่ละกระทรวง เป็นไปตามขั้นตอนของหน่วยงานครับว่ามีขึ้นตามระยะเวลาซึ่งรวมตอนที่เพิ่มพูนทักษะด้วย ครับ
คำถาม : ส่วนคำถามว่า แพทย์ที่ใช้ทุน 3 ปีไม่จบ อย่างเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีแล้วลาออกมีบ้างหรือไม่
นพ.ภาสกร : มีบางส่วนอยากลาออก อย่างจบเพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ขอลาออกเพื่อไปประกอบเวชปฏิบัติของตนเอง แต่ไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่จนครบ 3 ปี และจากงานวิจัยพบว่า สาเหตุของการลาออกส่วนใหญ่คือเพื่อศึกษาต่อ เพราะว่าการเรียนต่อเฉพาะทาง มีทั้งแบบมีทุน และอิสระครับ
ฝากอะไร ถึงน้องๆ
“ชีวิตแพทย์ยาวมาก การเรียนจบ 6 ปี เป็นเพียงการเริ่มต้น ถ้าเปรียบเหมือนนก ก็คือพึ่งบินออกจากรัง ปีกยังไม่แข็งแรง อาจจะพลัดตกได้ ดังนั้นการบินเดี่ยว ๆ โดยไม่มีคนดูแลก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงได้มีโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เพื่อคอยช่วยเหลือให้น้อง ๆ สามารถเริ่มต้นชีวิตการเป็นแพทย์ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด ถึงแม้ว่าปัญหาทุกอย่างอาจจะไม่สามารถช่วยแก้ไขได้เร็ววัน แต่แพทยสภาก็ไม่เคยหยุดแก้ไข พยายามหาวิธีการใหม่ ๆ เข้าช่วยเหลือ ในหลายๆ วิธี ตลอดเวลา อยากให้น้องได้แจ้งปัญหาเข้ามาทาง MD eService link : https://doctor.tmc.or.th/Auth/Login เพราะว่าทุกปัญหาจะนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไข ต่อไป สุดท้ายนี้ ขอให้คุณหมอใหม่ ดำรงตนโดยยึด ผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้งและดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองและคนที่เรารักครับ...” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ทิศทางการผลิตแพทย์ของประเทศไทย เพียงพอหรือยังขาดแคลน...
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1209 views