เปิดมุมมอง “เลขาธิการแพทยสภา” กับทิศทางการผลิตแพทย์ของประเทศไทย เพียงพอหรือขาดแคลน พร้อมรายละเอียดข้อเท็จจริงของ “หมอจบใหม่” จับสลากใช้ทุน

จากวิกฤตโควิด19 ระบาดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แน่นอนว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่ถูกพูดถึงกันมากในแง่ของด่านหน้าที่ต้องรับมือในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด ยิ่งช่วงระบาดหนักๆ แทบไม่ต้องพักผ่อน

โดยเฉพาะภาระงานที่ล้นหลาม เห็นได้จากภาพต่างๆในสังคมออนไลน์ที่เห็นถึงการทำงานอย่างหนักและเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างกรณีแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่ปฏิบัติงานภาครัฐ ซึ่งต้องรับมือกับคนไข้มหาศาล ประกอบกับเมื่อโควิดระบาด บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งเสี่ยง แพทย์หลายคนต้องติดโควิด หลายคนไม่ได้กลับบ้านเยี่ยมครอบครัว

จนเกิดคำถามว่า จริงๆแล้ว แพทย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาครัฐ มีความเพียงพอหรือไม่ การผลิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์เชี่ยวชาญ ที่สามารถรักษาโรคยากๆ ยิ่งเกิดโรคโควิด โรคระบบทางเดินหายใจ หรือภาวะฉุกเฉิน หมอในรพ.รัฐเพียงพอแค่ไหน หนำซ้ำเร็วๆนี้เกิดประเด็นการคัดเลือก “นักศึกษาแพทย์จบใหม่” ให้มีการจับสลากเลือก รพ.ใช้ทุน กลับพบว่าให้ใช้คะแนนสอบเบื้องต้น ที่เรียกว่า NL โดยจะให้สิทธิจับสลากเพียง 425 คน จากที่ผลิตแพทย์แต่ละปีเฉลี่ย 2.6 พัน ทำให้เกิดข้อสงสัย นี่จะเป็นการลดการบรรจุข้าราชการลงหรืออย่างไร หรือจะลดจำนวนแพทย์ลง กลายเป็นดราม่า จนกระทั่งต้องมีการทบทวนใหม่

เรื่องนี้ในมุมมองของ “แพทยสภา” หน่วยงานที่กำกับดูแลแพทย์ทั่วประเทศคิดเห็นอย่างไร

พล.อ.ต นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา อธิบายกับทางผู้สื่อข่าว Hfocus เพื่อให้เห็นภาพของการผลิตแพทย์ในประเทศไทย ดังนี้

ปีนี้มีการผลิตแพทย์ออกมาประมาณ 2.8 พันคน ส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากในประเทศโดยจากต่างประเทศปีละประมาณ 200 คน ทั้งหมดจะต้องมาสอบและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งอัตราการผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบัน ถือว่ามีมากพอสมควรต่อปี โดยเมื่อจบมาแล้วก็มีการกระจายไปอยู่ในสังกัดต่างๆ ของภาครัฐ โดยในอดีตที่ผ่านมา แพทย์ทุกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยภาครัฐจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ยกเว้นประสงค์ลาออกและใช้เงินแทน ซึ่งจะเป็นตามสัญญาที่ทำไว้กับมหาวิทยาลัยตามระเบียบกระทรวงอุดมศึกษาฯ หรือ อว. ยกเว้น คณะแพทยศาสตร์เอกชน 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีสิทธิที่จะเลือกไปทำงานที่ใดก็ได้ หรือไปเรียนต่อโดยไม่ติดใช้ทุนรัฐบาล

ดังนั้น ในอดีตไม่เคยมีปัญหาเรื่องตำแหน่ง เพราะได้บรรจุทุกคน โดยในปัจจุบันมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ เลขาธิการ กพ. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณบดีแพทยศาสตร์ของรัฐทุกคณะ และผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เป็นกรรมการ ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า หมอจบปีละเท่าไหร่ และจะมีการปรับบรรจุอัตราตามแต่ละกระทรวงต้องการ โดยสังกัดที่ใหญ่ที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข รองลงมาคือ โรงเรียนแพทย์ต่างๆ กลุ่มต่อมาคือ กระทรวงกลาโหม แพทย์ทหาร และอีกหลายสังกัด ซึ่งโดยขั้นตอนหน่วยงานเหล่านี้จะเสนอขออัตรามา โดยกรรมการจะกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมและกระทรวงสาธารณสุขจะรับทุนที่เหลือไปทั้งหมดไปบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นส่วนที่รับแพทย์มากที่สุด

เห็นได้ว่าแพทย์ใช้ทุนไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีการคัดเลือกในโครงการอื่นเพื่อชาวชนบท เช่น โอดอท คือ 1 ตำบล 1 แพทย์ เป็นการรับเด็กในชุมชนไปเรียน กลุ่มนี้ไม่ต้องจับสลากเลือก รพ.ใช้ทุน แต่มาจากที่ไหนกลับไปที่นั่น กลุ่มที่สอง คือ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ก็จะเป็นโซนนิ่ง เช่น มาจากภาคใด เมื่อจบก็จะกลับไปพื้นที่ของตน กลุ่มที่สามคือ กลุ่มแพทย์พี่เลี้ยงและกลุ่มเฉพาะกิจอื่นๆ ที่จะแยกออกไปก่อน ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เหลือจึงเข้าสู่การจับฉลากเพื่อเลือกโรงพยาบาลที่ใช้ทุนในช่วง 3 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข

“สำหรับปีนี้ที่มีการพูดถึงเรื่องการจับสลาก 425 คนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากทุกปี จากเดิมในการจับสลากที่เลือกพื้นที่ แต่ปีนี้มีข่าวว่าจะจับแล้วจะได้ใช้ทุนหรือไม่ได้ใช้ทุน แต่ความเป็นจริง กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการให้ผู้ที่สอบได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมทุกคนได้รับราชการทั้งหมด เพียงแต่ต้องมีกลไกของ ก.พ. ซึ่งมีระเบียบให้ต้องมีการคัดเลือกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยจะให้ใช้ผลสอบประเมินความรู้ขั้นต้นที่เรียกว่า NL ขั้นตอน 1 และ 2 แต่ทางแพทยสภาเห็นว่า ไม่สามารถจำแนกได้ เพราะการสอบเน้นแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน ดังนั้น ได้ปรึกษากับท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสรุปว่าจะเปลี่ยนเป็นการใช้ระบบอื่น เช่น การสัมภาษณ์ด้วยวิธีการของกระทรวงสาธารณสุขเอง ซึ่งรายละเอียดต้องติดตามต่อไป” พล.อ.ต นพ.อิทธพร กล่าว

**สำหรับคำถามว่า การผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบัน เพียงพอแล้วหรือไม่?

พล.อ.ต นพ.อิทธพร ตอบว่า คำตอบของคำว่า “เพียงพอ” ในวันนี้กับเมื่ออดีต 10 ปีที่แล้วเป็นคนละคำตอบกัน เพราะแพทย์ที่ขาดแคลนในปัจจุบันเกิดจากปัญหาการกระจายบุคลากร แต่ในอดีตเราจะพูดว่า ขาดเพราะไม่มีแพทย์จริงๆ โดยหากมีแพทย์เพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะช่วยลดการป่วยและการตายได้ ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา แพทยสภาได้ผลิตแพทย์ทั่วไปเพิ่มจนถึงปีละเกือบ 3,000 ราย เข้าสู่พื้นที่ขาดแคลน

ในขณะที่แพทยสภาก็ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มจาก 50 กว่าสาขา เป็น 89 สาขา แปลว่า แพทย์ทั่วไปที่เรียนจบ 6 ปี ต้องเรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีก 3-5 ปี ซึ่งเมื่อมีการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น จำนวนแพทย์ทั่วไปจึงลดลง แต่เกิดผลดีต่อประชาชน ทำให้ประชาชนที่ป่วยเป็นโรคยาก โรคซับซ้อนถูกแก้ปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญได้ตรงตามสาขามากขึ้น ในอดีตเราจะมองแค่ว่า ให้มีหมอที่จบ 6 ปี กระจายไปยังชุมชน แต่วันนี้เรามองข้ามไปว่า เราต้องมีหมอเชี่ยวชาญ หมอหัวใจ หมอเบาหวานเพิ่มขึ้นในชุมชน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเรียน 9-12 ปี ดังนั้น การผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบสุขภาพยิ่งดีขึ้น เพราะความเพียงพอต้องพิจารณาว่าไม่ใช่แค่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แต่ยังต้องมีแพทย์เชี่ยวชาญในนั้นด้วย

“กลไกที่ทำให้คนสุขภาพดีและอายุยืนมากขึ้น ต้องขึ้นอยู่กับทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ทั่วไป เพราะแพทย์ทั่วไปจะไปแก้ปัญหาขั้นต้น และมีการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น กลไกต้องควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์ทั่วไปถูกส่งออกไปยังโรงพยาบาลชุมชนมากกว่า 847 อำเภอ อยู่ครบทุกโรงพยาบาล และแต่ละโรงพยาบาลมีมากกว่า 1 คน ซึ่งดีขึ้นกว่าในอดีต ยิ่งมีจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลมากขึ้นเท่าไร ภาระงานจะลดลงและคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลจะดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนเหล่านี้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสังกัดอยู่ในหลายแห่ง อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน” พล.อ.ต นพ.อิทธพร กล่าว

แฟ้มภาพ

กล่าวโดยสรุปคือ การผลิตแพทย์ในปัจจุบันนับว่ายังไม่เพียงพอ อาจต้องบรรจุต่อไปอีก 10 ปี หรือ 30,000 คน เพื่อให้มีจำนวนแพทย์ที่เพียงพอในการรองรับระบบสุขภาพ จำนวนที่มากขึ้นนอกจากกระจายเข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นตามไปด้วย และไม่ว่าแพทย์จะอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในการดูแลสุขภาพคนไทย โดยเริ่มต้น แพทย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาครัฐจากการที่ต้องใช้ทุนรัฐบาล ยกเว้นที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชน ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็พัฒนาตัวเองเป็นสถานพยาบาลที่เป็นสถาบันวิชาการมากขึ้น และเตรียมตัวเป็นเมดิคัลฮับ ดังนั้น จึงมีแพทย์ส่วนหนึ่งที่อยู่รัฐและไปปฏิบัติงานนอกเวลาที่เอกชน เช่น เป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ และยังรับให้คำปรึกษาและรักษาที่สถานพยาบาลเอกชนด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไร การรักษาพยาบาลของประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาฟรีทั้ง สิทธิของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ที่ปัจจุบันมีทั้งรัฐและเอกชนผนึกกำลังเข้าร่วมโครงการให้บริการอยู่แล้ว ดังนั้น ระบบสุขภาพไทยจึงต้องประกอบไปด้วยรัฐและเอกชนร่วมกันเสมอ

**จากสถานการณ์โควิดระบาด ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเดือนค่าตอบแทนอาจไม่มากเท่าเอกชน มองว่าจะส่งผลให้เด็กเรียนแพทย์น้อยลงในอนาคตหรือไม่

พล.อ.ต นพ.อิทธพร ตอบว่า วันนี้คาดเดาเด็กในอนาคตได้ยาก เพราะแม้จะมีข่าวว่าแพทย์ในภาครัฐทำงานหนัก รายได้น้อย ความเสี่ยงสูง และมีปัญหาต่างๆ ในสื่อ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า น้องๆ มัธยมที่อยากเรียน ไม่ได้อยากเรียนเพราะอยากรวย แต่อยากมาเรียนเพราะมีแรงบันดาลใจในการอยากช่วยผู้ป่วยมากกว่า จนเกิดความต้องการขยายที่นั่งเรียนตลอดจนเกิดคณะแพทยศาสตร์ใหม่ขึ้นทุกๆ ปี ในขณะที่มีน้องๆ ขวนขวายไปเรียนที่ต่างประเทศจำนวนมากทุกปีเช่นกัน

อีกมุมมองของแพทยสภาต่อการผลิตแพทย์ เพื่อคนไทย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org