สปสช.เร่งช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดนนทบุรี และศรีสะเกษ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เตรียมนำเรื่องสู่อนุกรรมการฯ ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระดับเขตพิจารณาเยียวยา
นางจินตนา กวาวปัญญา หัวหน้าหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เพื่อเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาและประสานช่วยเหลือครอบครัว นายสมบูรณ์ บุตรวงษ์ อายุ 54 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ทั้งนี้ได้ดำเนินการประสานกับกลุ่มงานประกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) และ สภ.ปลายบาง จ.นนทบุรี พร้อมทั้งส่งทีมงานลงพื้นที่ห้องพักในพื้นที่ หมู่ 7 ซอยวัดหูช้าง ถนนนครอินทร์ ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านนายสมบูรณ์ในการประสานการช่วยเหลือ ซึ่งนายสมบูรณ์ได้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ที่โรงพยาบาลเพชรเวช กทม. โดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 และฉีดเข็มที่ 2 วันที่ 18 ต.ค. 64 ซึ่งหลังจากฉีดโควิด-19 เข็มที่ 2 แล้ว มีอาการแขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรง เหนื่อย ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จึงเกิดความเครียด เนื่องจากมีภาระที่ต้องดูแลพี่ชายที่พิการและภรรยาที่ป่วยหนักด้วย
“การช่วยเหลือได้ให้บุตรสาวของนายสมบูรณ์เขียนแบบคำร้อง เพื่อยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมี สสจ.นนทบุรี เป็นผู้รับคำร้อง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพในคราวนี้ด้วย” นางจินตนา กล่าว
ด้าน นางมลุลี แสนใจ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี เสียชีวิตหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ รพ.สต.สร้างเหล่า ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) ตนพร้อมด้วย นพ.อดุลย์ โบจรัส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรารมย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธรณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.สร้างเหล่า ได้รุดเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต และประสานการช่วยเหลือ
นางมลุลี กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียนี้ ซึ่งผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อยจนถึงภาวะรุนแรง รวมถึงกรณีเสียชีวิต จะมีกลไกดูแลในการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่มุ่งบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน และจะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
“การมาเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตวันนี้ ได้มารับคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ด้วย และจะรีบนำเรื่องเข้าสู่ณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของเขตต่อไป” รอง ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี กล่าว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.กรณีเจ็บป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท 2.กรณีความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และ 3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท โดยผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ จะพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน
สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330
ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 96 views