“จากการสำรวจ 88 % ผู้ปกครองอยากให้เรียน on site ทีีโรงเรียน เนื่องจากว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล สอนระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง การจะดูแลการเรียนของลูกคือทุกคนไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน” น.ส.พลอยนภัส ปุรณะวณิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุลักขณะ ในพื้นที่ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่การแพร่ระบาด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม กล่าวถึงการสำรวจความเห็นของคนในชุมชนที่ต้องการให้มีการเปิดสอนในโรงเรียนตามปกติ หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อนักเรียนและผู้ปกครอง
แนวทางการเปิดโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขคือการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่คือโรงเรียนระดับมัธยม แต่สำหรับโรงเรียนเด็กเล็กระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มีความเสี่ยง เนื่องจากเด็กช่วงวัยรี้ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ แนวทางที่โรงเรียนเด็กเล็กเหล่านี้ดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ
นางเสาวนีย์ ดาบทอง ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดรังสิต ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากทางโรงเรียนมีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล อายุ 5 ขวบ จนถึงชั้นประถมศึกษา อายุ 12 ขวบ จึงมีเด็กบางส่วนที่อยู่ในโรคกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนเท่านั้น อย่างไรก็ตามได้มีการสำรวจการฉีดวัคซีนในผู้ปกครอง พบว่าคนในครอบครัวเด็กทั้งหมดได้รับวัคซีนเกินกว่า 60 % แล้ว โดยมีพ่อแม่ของเด็กนักเรียนได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 80 %
"เราทำการสำรวจเส้นทางการเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียน เด็กส่วนใหญ่ผู้ปกครองมาส่งด้วยตัวเอง มีเพียงเล็กน้อยที่ให้จักรยานยนต์รับจ้างซึ่งเป็นขาประจำมาส่ง เพราะนักเรียนที่โรงเรียนเป็นเด็กในพื้นที่" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดรังสิต กล่าว
ส่วนความพร้อมในการเปิดเรียนนั้น นางเสาวนีย์ ยืนยันว่าสถานที่มีความพร้อมเกือบ 100 % มีการจัดห้องกักตัว เว้นระยะห่างในห้องเรียน จัดตารางสอนสลับวันเพื่อลดความแออัด และได้รับ ATK ตรวจเด็กในวันแรกที่เปิดเทอมจากเทศบาลตำบลหลักหก และโรงเรียนจัดซื้อเองบางส่วนสำรองไว้
"โรงเรียนเราอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องมีการสุ่มตรวจนักเรียน 20 % จำนวน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องใช้ชุดตรวจจำนวนมาก ที่เป็นห่วงคือการ Swab จมูกเด็ก เด็กจะกลัว โดยชุดตรวจจากองค์การเภสัชกรรม ราคาชุดละ 40 บาท อยากได้ชุดตรวจน้ำลาย ซึ่งราคาขั้นต่ำ 100 บาท แต่ชุดตรวจน้ำลายก็ยังไม่มีจำหน่าย ในโรงเรียนไม่ห่วง เพราะมีคุณครูดูแลตลอด เด็กจะไม่สัมผัสเนื้อตัวกันเลย ห่วงเด็กออกจากโรงเรียนระหว่างทางกลับบ้าน ขอความร่วมมือกับผู้ปกครองว่าไม่ให้แวะที่ไหน นอกจากนี้ยังมีร้านค้าหน้าโรงเรียนมาขายของให้เด็ก ก็จะขอความร่วมมือให้ร้านค้าต้องเว้นระยะห่าง ซื้อแล้วให้ไปทานในรถหรือที่บ้าน ไม่ให้ทานหน้าโรงเรียนไม่ต้องการให้เด็กเปิดหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยง" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดรังสิต ชี้แจงมาตรการที่ทางโรงเรียนเตรียมพร้อมในการเปิดเทอม
อย่างไรก็ตาม นางเสาวนีย์ เปิดเผยว่า กรรมการศึกษาธิการจังหวัดจะทำการประเมินโรงเรียนแล้วส่งให้ ศบค.จังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นประธานตัดสินอีกที โดยดูบริบทในพื้นที่มีจากจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นปัจจัยสำคัญ
ด้าน น.ส.พลอยนภัส ปุรณะวณิชย์ ผู้อำนวยการ รร.สุลักขณะ อีกโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวถึง โครงการเปิดเรียนปลอดภัยว่า ขณะนี้การเปิดเรียนเป็นไปได้ยากมาก โดยทางโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมในการเปิดสอนแล้ว แต่สถานการณ์การระบาดใน จ.ปทุมธานี ยังคงรุนแรง
"การเตรียมความพร้อมอย่างแรกเลยคือสำรวจผู้ปกครองว่ามีความประสงค์จะให้ลูกเรียนในรูปแบบไหน สำหรับโรงเรียนเรา 88 % ผู้ปกครองอยากให้เรียน on site ทีีโรงเรียน เนื่องจากว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล สอนระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง การจะดูแลการเรียนของลูกคือทุกคนไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน มีการเก็บข้อมูลว่าผู้ปกครองฉีดวัคซีนไปเท่าไร ส่วนคุณครูก่อนจะเปิดภาคเรียนที่1 เราได้ประสานขอวัคซีน ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตได้ช่วยเหลือ ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 100% และได้บูสท์เข็ม 3 แอสตร้าเซเนก้า ส่วนของคุณครูพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว"
"การเดินทางของเด็กนักเรียนเราดูจากสิ่งที่กรมอนามัยแจ้งมา 44 ข้อที่ต้องประเมินให้ผ่าน แล้วก็มี 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม กับ7 มาตรการเข้มของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วทำเรื่องยื่นขอเสนอเปิดโรงเรียน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาร่วมประชุมกับทางสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี มีข้อที่ 45 เป็นเรื่องของ School Isolation หาพื้นที่ในโรงเรียนแบ่งออกเป็น3โซน คือโซนดูแลรักษา, Quarantine และโซนปลอดภัย ที่เด็กสามารถอยู่ได้ตามปกติ ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างยากที่จะต้องดำเนินการ ถ้าเซ็นMOU กับโรงพยาบาลที่จะต้องส่งต่อเด็กกรณีป่วย ที่คำนวณไว้คือ 5%ของ Bubbleที่เรากำหนด มีห้องพักคอยไว้ส่งตัวเด็ก"
"ในขณะที่การเรียนการสอนเราจะทำเป็น Small Bubble คือจะเปิดเรียน ชั้น ป.1-ป.6 ก่อน ส่วนอนุบาลเราขอให้ผู้ปกครองดูสถานการณ์ก่อน ที่เลือก ป.1-ป.6เพราะเด็กจำเป็นต้องนำไปใช้ในการศึกษาต่อ และป.1 สำคัญเป็นวัยที่ต้องอ่านหนังสือออกโดย ป.1, ป.3, ป.5 มาเรียน 1 สัปดาห์ อีกสัปดาห์เรียนที่บ้าน สลับกับ ป.2, ป.4, ป.6 แยกเป็น Bubble ของตัวเอง ป.1 จะอยู่ที่ตึกของตัวเองเท่านั้นไม่ไปเจอกับ ป.3 และ ป.5 คุณครูที่สอนก็เป็น Bubble เช่นกัน สอนป.1 ไม่ไปเดินสอนชั้น ป.3 เพื่อให้ bubble เล็กลง คุมไว้หากมีเด็กติดเชื้อใน bubble นั้น เพื่อลดที่จะกระจายไปทั้งโรงเรียน" ผู้อำนวยการ รร.สุลักขณะ กล่าว
ส่วนมาตรการดูแลเด็กนักเรียนระหว่างการเดินทางมายังโรงเรียนนั้น น.ส.พลอยนภัส กล่าวว่า ผู้ปกครองที่มารับมาส่งต้องได้รับวัคซีน หากไม่สมัครใจฉีดวัคซีนทางโรงเรียนจะจัดหลักการเรียนให้เด็กสามารถเรียนที่บ้าน
"มีข้อแม้ของนักเรียนที่จะมาเรียน on site คือผู้ปกครองต้องได้รับวัคซีนแล้วเนื่องจากเด็กเล็กยังไม่ได้รับวัคซีน ถ้าผู้ปกครองยังไม่ได้รับวัคซีนทางโรงเรียนจะจัดให้มีการเรียนที่บ้าน เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มที่ผู้ปกครองยังไม่อนุญาตให้มาโรงเรียน ส่วนการเดินทางต้องเป็นผู้ปกครองที่สามารถรับส่งได้หรือขึ้นรถรับจ้างที่มีการระบุตัวตน" น.ส.พลอยนภัส กล่าว
ผู้อำนวยการ ร.ร.สุลักขณะ กล่าวอีกว่า สำหรับเด็กที่จะมาโรงเรียน วันแรกของการเปิดเรียนจะมีการตรวจ ATK 100 % โดยหลังจากนี้ใช้การสุ่มเป็นระยะ
"ทาง จ.ปทุมธานี แจ้งว่าถ้าอนุญาตให้เปิดเรียน ต้องดูพื้นที่นั้นๆว่ามีการระบาดมากน้อยอย่างไร โรงเรียนต้องสุ่มตรวจถี่บ่อยแค่ไหน หากไม่กำหนดมาสำหรับเราแล้วอาจจะสุ่มทุก14วัน จำนวน 20%"
อย่างไรก็ตาม การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนนั้น น.ส.พลอยนภัสเผยว่าได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ปทุมธานี
"ถ้าใช้งบโรงเรียนทั้งหมดก็คงลำบากเหมือนกัน ตอนนี้งบซ่อมบำรุง สื่อการเรียนการสอนหนักก็แล้ว ถ้าเราจัดให้เด็กๆทุกคนก็คงเหนื่อย ซึ่งโชคดีที่ทาง อบจ.ปทุมธานี สนับสนุนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สเปรย์ เนื่องจากเราเป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดเล็กเราต้องประสานขอความร่วมมือน้ำยาทำความสะอาด สบู่ล้างมืิอ ซึ่งเราก็ต้องหาประสานบ่อยๆ เสริมเติมให้เพียงพอ" ผู้อำนวยการ ร.ร.สุลักขณะ กล่าว
- 233 views