แพทย์รามา-ศิริราช ห่วงหลักเกณฑ์แพทย์ใช้ทุนกำหนด “นักศึกษาแพทย์” ทำคะแนนสอบได้ดีสุด 425 คนแรกมีสิทธิจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุนได้ ขณะที่โซเชียลฯ ดราม่าหนัก หรือเป็นการแบ่งชั้นวรรณะ ล่าสุดแพทยสภารับเรื่องพร้อมทำหนังสือขอทราบข้อเท็จจริง และขอให้ทบทวนเรื่องนี้
กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องใช้ทุน เนื่องจากมีอาจารย์แพทย์ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รอบที่ 1 โครงการทั่วไป (จับสลาก)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงเรื่องนี้ ว่า
“ไม่เห็นด้วยมากๆ กับประกาศนี้ (รูปที่ 1 )
ประกาศนี้มีผลกระทบมากๆ กับ นักศึกษาแพทย์(นศพ) จบใหม่ที่กำลังเลือกสถานที่ใช้ทุนมากๆ
เพราะมีกำหนดเกณฑ์ให้คนที่ได้คะแนนสอบของ ศรว ดีสุดแค่ 425 คนแรกได้รับการจับสลากก่อนคนอื่น ตามข้อ 8 รูปที่ 2 กับ ข้อ 10 รูปที่ 3
ที่ไม่เห็นด้วยเพราะผลการสอบ ศรว ของ นศพ เอาเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านอย่างเดียว ไม่ควรเอาคะแนนมาเปรียบเทียบ ตามรูปที่ 4 เลยครับ นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวมาหลังจาก นศพ สอบเสร็จไปแล้วด้วยครับ ไม่ได้เป็นการตกลงกันก่อนมีการสอบ”
ปล.ปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้ระบบแบบนี้
สรุปถ้าจะให้แก้ก็คือ ทุกคนที่จะใช้ทุน ควรจับสลากพร้อมกันครับ ไม่ควรให้แค่ 425 คนแรกได้จับก่อน
รูปที่ 1
รูปที่ 2
รูปที่ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการโพสต์เรื่องราวดังกล่าว ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำไมถึงออกเกณฑ์ดังกล่าว บางส่วนระบุว่า เป็นการแบ่งวรรณะหรือไม่ ที่ให้คนคะแนะดีมีสิทธิ์จับสลาก เป็นต้น
ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิททยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกัน ว่า
“ประสบการณ์ส่วนตัว ผมเองก็ผ่านการจับฉลากใช้ทุนเหมือนหมอจบใหม่ส่วนใหญ่ จำได้ว่าเป็นปีแรกที่นำเอาระบบ intern กลับมาใช้ใหม่แบบที่ต้องมีการเพิ่มพูนทักษะใน รพศ/รพท 1 ปีก่อนออกไปใช้ทุนใน รพช อีก 2 ปีที่เหลือ
แม้ส่วนตัวจะไม่เคยเห็นด้วยกับการจับฉลากใช้ทุน คิดว่ามันเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการกระจายแพทย์เลย หลักฐานก็เห็นอยู่ผ่านมา 40-50 ปีที่มีการจับฉลากใช้ทุน แพทย์ใน รพช จังหวัดต่าง ๆ ก็ไม่เคยพอต้องอาศัยพึ่งน้อง ๆ แพทย์จบใหม่วนเวียนมาทำงานตามพันธะ 3 ปีแล้วก็ไปตลอดมา เข้าใจได้ว่าระบบ negative reinforcement (บังคับจัดแพทย์ลงตาม slot ที่ว่าง ไม่ใช้ทุนก็ใช้เงิน) มันทำง่ายกว่า positive reinforcement (สร้างระบบหรือแรงจูงใจที่ดีในการดึงดูดให้แพทย์อยากมาใช้ทุน) แต่ในเมื่อรัฐไม่เคยคิดจะเปลี่ยน mindset ระบบการจับฉลากย่อมง่ายและยุติธรรมสุด
การตัดสินใจเปลี่ยนเกณฑ์จัดสรรแพทย์จบใหม่แบบฉับพลัน โดยวิธีอิงคะแนนสอบ นอกจากจะไม่ช่วยทำให้การจัดสรรแพทย์ดีขึ้น ยังก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความแตกแยกในหมู่แพทย์จบใหม่ด้วยกันเอง แถมยังซ้ำเติมการขาดแคลนให้หนักขึ้นเมื่อหลายคนที่รู้ชะตาชีวิตตนเองอาจเลือกจะใช้เงินไปก่อนเลย นอกจากนี้ยังผิดหลัก common sense ที่ควรต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้สิ่งเหล่านี้ก่อน เพื่อให้เขาสามารถวางแผนหรือปรับเปลี่ยน/ปรับปรุงเพื่อทำคะแนนได้ เช่นการสอบแล้วใช้คะแนนพิจารณารับแบบ Entrance/Admission หรือการประกวดต่าง ๆ การประกาศเกณฑ์แบบนี้ไม่เปิดโอกาสให้แพทย์จบใหม่ได้พยายามปรับปรุงคะแนนสอบตัวเองได้เลย ไม่ต่างอะไรกับการมัดมือชก
ผู้มีอำนาจหน้าที่น่าจะได้รับ feedback ไปไม่น้อยแล้ว ปรับเปลี่ยนเถอะครับ อย่างน้อยกลับไปใช้วิธีเดิมในปีนี้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาวิธีให้ดีขึ้นในปีถัดไป ที่สำคัญ สื่อสารให้เด็ก ๆ รับทราบก่อนครับ”
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ พล.อ.ต นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า กรณีการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนที่มีปัญหาน้องๆร้องเรียนใน Social Media เรื่องการใช้คะแนน NL เลขาธิการแพทยสภา รับทราบเรื่องแล้ว จะทำเรื่องขอทราบข้อเท็จจริง จากผู้รับผิดชอบและขอให้ทบทวนในประเด็นที่ไม่เหมาะสมให้เป็นธรรมต่อแพทย์จบใหม่ต่อไป
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.รับเรื่องปมจับสลากใช้ทุน “หมอจบใหม่” รอทบทวนอีก 1 สัปดาห์รู้ผล!!)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 554 views