เปิดประเทศ 3 วัน พบ 5 ประเทศเข้าไทยสูงสุด “ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี กาตาร์ จีน” มีนทท. เข้ามาตรวจคัดกรอง RT-PCR ไม่ต้องกักตัว (Test & Go) ติดเชื้อ 3 ราย คิดเป็น 0.07% ของผู้เดินทางประเภทนี้ และพบติดเชื้อจากเข้าระบบกักกัน 3 รายคิดเป็น 0.94% ของผู้เดินทางในระบบกักกันทั้งหมด สธ.กำชับเข้มมาตรการสกัดโควิด ย้ำ! พื้นที่ระวังจัดกิจกรรมประเพณี “งานกฐิน-ลอยกระทง” ขอให้จัดภายใต้ความปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เป็นตัวแทน ศบค.แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า หลังเปิดประเทศมา 3 วัน เมื่อวันที่ 2 พ.ย. มีรายงานเดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2,013 ราย แบ่งเป็นเข้าระบบไม่กักตัว Test & Go 1,769 ราย เข้าระบบแซนด์บ็อกซ์ 79 ราย และระบบกักกัน 165 ราย คือ กักตัว 7 วัน 64 ราย และ กักตัว 10 วัน 101 ราย รวมเดินทางตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. จำนวน 4,510 ราย โดย 5 อันดับประเทศที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี กาตาร์ และจีน รายที่เข้ามาในประเทศตรวจคัดกรอง RT-PCR มีผู้ติดเชื้อจากประเภท Test & Go 3 ราย คิดเป็น 0.07% ของผู้เดินทางประเภทนี้ และพบติดเชื้อจากเข้าระบบกักกัน 3 รายคิดเป็น 0.94% ของผู้เดินทางในระบบกักกันทั้งหมด

ส่วนการรับวัคซีนของพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ได้รับเข็ม 1 เกิน 50% ตามเป้าหมายเกือบทุกจังหวัด โดยวันก่อนรายงาน 3 จังหวัดยังฉีดไม่ถึง 50% ขณะนี้เหลือแค่จังหวัดเดียว คือ หนองคาย ฉีดได้ 47.3% ขอให้ประชาชนในจังหวัดหนองคายมารับการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เราเอง ส่วนการฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 พบว่า ทุกจังหวัดนำร่องสีฟ้าฉีดเข็ม 1 เฉลี่ย 77% ครบ 2 เข็ม 63.1% ขอให้มาฉีดเพิ่มเติม เพราะเป้าหมายคือ ฉีดเกิน 80%

ทั้งนี้ พื้นที่สีฟ้าที่ต้องเฝ้าระวังจับตาต่อเนื่อง คือ เชียงใหม่ ซึ่งติดอันดับ 6 วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายงาน 322 ราย เชียงใหม่เปิดนำร่องสีฟ้า 4 อำเภอ คือ แม่ริม เมือง แม่แตง และดอยเต่า กรมควบคุมโรคประเมินสถานการณ์ความพร้อมพื้นที่เชียงใหม่ ปลาย ต.ค. พบการระบาดเป็นวงกว้าง เป็นระดับชุมชนและครอบครัว การระบาดเริ่มต้นช่วงต้น ต.ค.ประมาณวันที่ 6 ต.ค. โดยที่เริ่มแพร่ระบาดในครอบครัว ตามด้วยการระบาดในชุมชน ระบาดในสถานที่ทำงาน และแรงงานต่างด้าว มีรายงานในตลาดสด 4 แห่ง คือ ตลาดเมืองใหม่ ตามด้วยตลาดวโรรส ตลาดประตูเชียงใหม่ และตลาดสันป่าข่อย

ปัจจัยสำคัญนอกจากมาตรการที่ต้องปฏิบัติเคร่งครัด ตลาดต้องเข้มงวดเรื่องจัดสถานที่ ลดแออัด ไม่ให้อากาศปิดอับ ผู้ให้บริการควรสวมหน้ากากตลอดเวลา มีจุดให้ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือได้บ่อยๆ อีกส่วนแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในตลาดและเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือประชาชนเชียงใหม่เข้าใช้บริการ ถ้ายังไม่รับวัคซีนให้ไปรับวัคซีนมากๆ เจ้าของกิจการกิจกรรมที่มีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวดูแลอยู่ ให้ไปรับบริการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อความปลอดภัยคนไทยเอง และนักท่องเที่ยวจะทยอยเข้ามาในอนาคต

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ประชุมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด นอกจากรณรงค์ฉีดวัคซีน ยังค้นหาเชิงรุกด้วยการตรวจ ATK 3-5 พันรายต่อวัน ตั้งจุดตรวจ 4 มุมเมือง และฉีดเชิงรุกโดย CCRT และปรับมาตรการเข้มงวดงดดื่มเครื่องดื่มแอลกฮฮอล์ในร้านค้าและภัตตาคาร และจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่ม ไม่ให้จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหลัง 21.00 น. ซึ่งถือว่าเข้มกว่ามาตรการนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งตามปกติจะใช้มาตรการพื้นที่สีเขียวที่ ศบค.กำหนด โดยสามารถดำเนินการได้ และสื่อสารสถานประกอบการในพื้นที่เตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการ SHA Plus ที่ต้องจัดสถานที่เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยๆ จัดอุปกรณ์ป้องกันการแพร่โรค จุดล้างมือ และป้องกันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ปลอดภัย ตรวจวัดไข้ทุกวัน สวมหน้ากากตลอดเวลาให้บริการ พนักงานรับวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่า 70% มีผู้จัดการ SHA Plus ตรวจสอบรายงานผลให้ศูนย์ปฏิบัติการแต่ละจังหวัดทราบว่า นักท่องเที่ยวยังปฏิบัติตามมาตรการที่แจ้งไว้หรือไม่ ถ้าผู้เดินทางตรวจแล้วผลบวกก็จะต้องช่วยประสานงานให้ได้รับการรักษากับ รพ.คู่สัญญาปฏิบัติการต่อไป

"สถานประกอบการ SHA Plus ทำเพื่อสร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการ รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการที่ได้รับ กิจการที่ขอรับ SHA Plus เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม สถานบริการสุขภาพความงาม ห้างสรรพสินค้า ยานพาหนะ" พญ.สุมนี กล่าว

พญ.สุมนี กล่าวว่า สรุปการเปิดพื้นที่จังหวัดรับนักท่องเที่ยว ทั้งกิจการกิจกรรมใดๆ ต้องเฝ้าระวังลดความเสี่ยงแพร่ระบาดของโรคมากที่สุด เน้นย้ำสถานประกอบการ หากพนักงานรับวัคซีนไม่ครบให้รีบไปฉีด และดำเนินการต่างๆ ให้อยู่ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting และ SHA Plus กรณีมีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้มารับการฉีดให้ครอบคลุม ซึ่งจะช่วยควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ตามที่วางแผนไว้

สำหรับเดือนนี้มีประเพณีกำลังมาถึง คือ งานกฐิน และช่วงปลายเดือนมีลอยกระทง การจัดงานประเพณีต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ช่วงผ่อนคลายเปิดประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือทางเศรษฐกิจ กลับไปใช้ชีวิตใกล้ปกติ ในชีวิตวิถีใหม่ อยู่กับโควิดอย่างรู้เท่าทัน ขอให้จัดงานให้เหมาะสมภายใต้มาตรการปลอดภัยเคร่งครัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ต่อไปได้ ทำตามแผนที่วางไว้จนถึงปีใหม่อย่างราบรื่นและไร้โรค