รอง ผอ.สวรส. เปิดมุมมองนักวิชาการประเด็นการถ่ายโอนภารกิจ “รพ.สต.” สู่ท้องถิ่น นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับทิศทางล่าสุดถ่ายโถนไปยัง อบจ. ชี้มีทั้ง “ข้อดี-ข้อจำกัด” ย้ำ! เห็นด้วยถ้าถ่ายโอน แต่ต้องมีความพร้อม และเสนอนำร่องไม่เกิน 50 แห่งในช่วงแรก ติดตามประเมินผลอีก 1 ปี

 

ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นถูกพูดกันมานาน หัวใจหลักของการกระจายอำนาจ คือ ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยิ่งประเด็นการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ยิ่งถูกพูดกันมาตลอด เพราะนั่นจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

แน่นอนว่า การกระจายอำนาจรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ และถูกจับตามองมากในท้องถิ่นขณะนี้ หนีไม่พ้นประเด็นการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยัง “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ซึ่งจริงๆไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีการดำเนินการมาก่อนแล้ว นับตั้งแต่ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 หรือพ.ร.บ.กระจายอำนาจ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็น พ.ศ.2549 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554

แต่ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ถึงประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด

ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดความชัดเจนว่า ถึงเวลาอีกครั้งในการถ่ายโอนภารกิจ แต่ครั้งนี้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างไร เพราะการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปท้องถิ่น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก...

(ข่าวเกี่ยวข้อง : มีผลแล้ว!  ประกาศถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมแนวทางดำเนินการ)

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

 

เรื่องนี้ ผู้สื่อข่าว “Hfocus” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามโครงสร้างระบบสาธารณสุข และการกระจายอำนาจ รพ.สต. สู่ท้องถิ่น อธิบายดังนี้

หลักการของการกระจายอำนาจ คือการเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มอบอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นได้มีโอกาสบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตอบสนองความต้องการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เพราะงานปฐมภูมิ เป็นงานสำคัญไม่แพ้ระดับอื่นๆ ซึ่งประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ท้องถิ่น เพราะอย่าลืมว่า กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของประเทศ มีเขตสุขภาพ 12 เขต และกรุงเทพฯ เป็นเขตสุขภาพที่ 13 ภารกิจจึงมีมากมาย ทั้งหน้าที่บริหารระบบสุขภาพในฐานะผู้บังคับบัญชา กำกับดูแล และยังทำหน้าที่จัดบริการในระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ และปฐมภูมิ หากมีการกระจายอำนาจด้านสุขภาพโดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิจะทำให้เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาชนในการดูแลสุขภาพได้มากขึ้น

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวเพิ่มว่า จริงๆ การกระจายอำนาจมีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 หรือพ.ร.บ.กระจายอำนาจ และมีแผนการกระจายอำนาจให้แก่อปท. ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 โดยเริ่มแรกประมาณปี 2550-2552 มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย/รพ.สต.ไปประมาณ 35 แห่ง ปี 2558 ถ่ายโอนรวม 51 แห่ง และล่าสุดถ่ายโอน รพ.สต. แล้วรวมทั้งหมด 84 แห่ง ไปองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เป็นต้น แม้ทิศทางการกระจายอำนาจจะดูน้อย จากรพ.สต.ทั้งหมดกว่า 9.8 พันแห่ง ไปเพียง 84 แห่ง

แต่เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่อปท. (ฉบับที่ 2) กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่ อปท.ที่มีความพร้อม และในระยะสุดท้ายให้ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมพร้อมในการโอนรพ.สต. รวมทั้ง อบจ.ต้องเตรียมพร้อมรับ และ รพ.สต.เองก็ต้องพร้อมไปและปรับตัว หากทุกฝ่ายเห็นพ้องด้วยกันในการถ่ายโอนครั้งนี้

อาจารย์ฯ ยังกล่าวเสริมอีกว่า หากถามว่า เห็นด้วยกับการถ่ายโอนครั้งนี้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า เห็นด้วยถ้าทั้ง 3 ฝ่ายมีความพร้อมอย่างแท้จริง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) กรมส่งเสริมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ขณะเดียวกันการจะไปได้ก็ต้องพิจารณาถึงความสมัครใจของเจ้าหน้าที่รพ.สต. และ อบจ.ต้องเตรียมการหลายอย่างเพื่อรับการประเมินตามสี่ตัวชี้วัด ได้แก่ โครงสร้าง บุคลากร การเงิน และแผนพัฒนางานด้านสาธารณสุข อบจ. ต้องมีกองสาธารณสุข เพื่อรองรับการดูแลภารกิจระบบบริการปฐมภูมิของ รพ.สต. และระบบส่งต่อไประบบบริการทุติยภูมิ/ตติยภูมิ และประสานงานกับสปสช. เรื่องงบประมาณการดำเนินการของหน่วยบริการปฐมภูมิ

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นพี่เลี้ยงต่อเนื่อง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ต้องพร้อมถ่ายทอดความรู้ ดูแลช่วยเหลือ และเมื่อถ่ายโอนไปแล้วต้องพร้อมสนับสนุน ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ติดตามประสานงานเรื่องระบบข้อมูลสุขภาพตามตัวชี้วัดที่เหมาะสม ต้องทำแบบไร้รอยต่อจริงๆ

“หากมีความพร้อมทั้ง 3 ฝ่ายก็สามารถถ่ายโอนได้ แต่การถ่ายโอนควรเป็นแบบนำร่อง และประเมินติดตามต่อเนื่อง ซึ่งมองว่า ควรนำร่องไม่เกิน 50 แห่งในช่วงแรก จากนั้นต้องติดตามประเมินผลอีก 1 ปี โดยรพ.สต.ที่ผ่านการคัดเลือกให้นำร่อง เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งอาจมีทั้งรพ.สต.ที่ผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์ติดดาวของกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ทราบข้อมูลรอบด้าน และผลลัพธ์จะวัดได้คร่าวๆ จากสุขภาพของประชาชน เมื่อมีการถ่ายโอนจริงๆ” ผศ.ดร.จรวยพรกล่าว

นอกจากนี้ การจะถ่ายโอนไปนั้น สิ่งสำคัญกระทรวงสาธารณสุขและอบจ. ต้องทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อส่งข้อมูลที่สำคัญระดับประเทศ ต้องไม่ติดขัด และต้องมีข้อมูลให้กันอย่างต่อเนื่อง เพราะ รพ.สต.สังกัดอบจ. เป็นกลไกหนึ่งในระบบสุขภาพ ต้องร่วมมือกันอย่างไร้รอยต่อจริงๆ ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด ยิ่งมีความจำเป็นมาก เพราะรพ.สต. เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การทำงานเฝ้าระวังโรคในระดับพื้นที่ชุมชนสำคัญมาก ข้อมูลสุขภาพจึงต้องมีการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ รวมทั้งงานสาธารณสุขด้านโรคไม่ติดต่อ การป้องกันโรค นโยบายต่างๆ ต้องเชื่อมโยงกันหมด เพื่อนำสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนนั่นเอง

แฟ้มภาพ

เห็นได้ว่า ถ้าเตรียมความพร้อมดีก็ย่อมถ่ายโอนไปได้....คราวนี้มาพิจารณาถึงข้อดี และข้อจำกัดของการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้...

เริ่มจาก “ข้อดี” สำหรับระดับประเทศ คือ สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ กระจายความรับผิดชอบของสธ.ไปสู่ท้องถิ่น ช่วยลดภาระของสธ.ในการดูแลอัตรากำลังคน งบประมาณ และสธ.จะเป็นผู้ดูแลกำกับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Authority ได้อย่างแท้จริง แต่ “ข้อจำกัด” คือ หากไม่มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และอบจ.แล้ว ก็จะทำให้ขาดข้อมูล การบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็อาจมีรอยต่อ ไม่ต่อเนื่อง

ส่วน “ข้อดี” ในระดับพื้นที่ จังหวัดและอำเภอนั้น ช่วยให้แยกบทบาทได้ชัดเจน เพราะ สสจ.และสสอ. จะมีหน้าที่บริหาร ดูแลกำกับนโยบาย แต่ “ข้อจำกัด” คือ อาจไม่สามารถสั่งการได้เหมือนเดิม แต่สามารถสนับสนุนติดตามการทำงานได้ เพราะแม้จะถ่ายโอนไปแล้ว แต่การทำงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ยังต้องเชื่อมโยงกัน ตรงนี้จะขาดไม่ได้

“อีกเรื่องที่สำคัญ คือ อบจ.ต้องมีความพร้อมเรื่องงบประมาณ และอัตรากำลัง เช่น ถ้า รพ.สต.ถ่ายโอนไป เดิมมีบุคลากร 7 คน แต่สมัครใจไป 3 คน จะขาดอัตรากำลังในการให้บริการสุขภาพ 4 คน ตรงนี้ อบจ. ต้องพร้อมหาอัตรากำลังมารองรับ ดังนั้น ขอแนะนำให้บุคลากรที่ รพ.สต.และอบจ.ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนครั้งนี้ ศึกษาแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต.ให้อบจ. เพื่อให้มีข้อมูลในการตัดสินใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเพื่อให้การถ่ายโอนครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และคำนึงถึงหลักการกระจายอำนาจ คือ การบริหารจัดการที่คล่องตัว การตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

เปิดมุมมอง: ข้อดีข้อเสียถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ท้องถิ่น

- ชมรม ผอ.รพ.สต.ส่งเสียงถึงผู้บริหาร สธ.ขอหนุนถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org