กรมควบคุมโรคเผยไทยฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ล่าสุดไฟเซอร์เข้ามาเพิ่ม 1.5 ล้านโดส รวมส่งมาแล้ว 8 ล้านโดส เป้าหมายช่วงนี้เน้นฉีดในเด็กนักเรียน เขตสุขภาพที่ 10 ฉีดมากสุด 82%

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ว่า ไทยผ่านการระบาดที่มีจำนวนคนติดเชื้อมากๆ มาแล้ว กำลังเข้าสู่การเปิดประเทศ ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นมาตรการหลัก แต่ไม่ใช่มาตรการเดียว จำเป็นต้องใช้มาตรการเสริมเพิ่มเติมจึงจะสำเร็จ โดยภาพรวมฉีด 72 ล้านโดส เข็ม 1 ฉีด 41 ล้านโดส คิดเป็น 57 % เข็ม 2 จำนวน 29 ล้านโดส คิดเป็น 40.9% ขณะที่เข็ม 3 ฉีดแล้ว 2.2 ล้านคน คิดเป็น 3% ทั้งนี้ การฉีดวัดซีนของไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียซึ่งฉีดไป 185 ล้านโดส และเวียดนามฉีดไป 74 ล้านโดส แต่เปอร์เซ็นต์การครอบคลุมประชากรอยู่ที่ 54.4% น้อยกว่าประเทศไทย ที่ความครอบคลุมอยู่ที่ 61.5% ทั้งนี้เพราะเวียดนามมีประชากรมากกว่าไทย

สำหรับสัปดาห์นี้ มีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเพิ่ม 1.5 ล้านโดส รวมส่งมาแล้ว 8 ล้านโดส เป้าหมายช่วงนี้ก็ยังเป็นการฉีดในเด็กนักเรียน ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 1-12 มีการจัดสรรให้ 3.89 ล้านโดส ฉีดแล้วภาพรวม ภาพรวมฉีด 68.9% เข็มที่ 1 จำนวน 2.68 ล้านโดส บางส่วนเริ่มทยอยฉีดเข็ม 2 แล้ว ยังมีวัคซีนอยู่ในพื้นที่ราวๆ 9 แสนโดส ไม่มีปัญหาการขาดแคลนและมีการแจ้งความต้องการฉีดเพิ่ม 4.27 แสนคน ทั้งนี้เขตสุขภาพที่ 10 มีการฉีดมากสุดอยู่ที่ 82%

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ด้านสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จัดทำแผนเสนอมาที่กระทรวง ดูความพร้อมแผนรองรับ และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และทำงานร่วมกับกระทวง หน่วยงานต่างๆ ด้วย ส่วนการฉีดวัคซีนภาพรวม 66% เข็ม 1 คิดเป็น 77.7% เข็ม 2 คิดเป็น 56.5% โดย กทม.ฉีดเข็ม 1 จำนวน 8.3 ล้านโดส เกินเป้าหมาย 7.9 ล้านคน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการฉีดสูงอื่นๆ คือภูเก็ต และชลบุรี ฉีดวัคซีนครอบคลุม 80% ส่วนจังหวัดอื่นๆ ตัวเลขลดหลั่นกัน ขณะที่จังหวัดจับตามอง 10 จังหวัด คือ ตาก ราชบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชมีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพราะมีคลัสเตอร์ และแนวโน้มเชิดหัวขึ้น เน้นส่งวัคซีนไปฉีดเพิ่มเติม ภาพรวมการฉีดเข็ม 1 จำนวน 5.5 ล้านโดส คิดเป็น 50.6%

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิดในภาพรวมขณะนี้ยังมีการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่อัตราปอดอักเสบลดลงเรื่อยๆ ในรอบ 2-3 สัปดาห์ ส่วนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 100 ราย มาสักระยะแล้ว แต่ยังแกว่งตัวอยู่ บางวันสูงขึ้น ทั้งนี้มีการคาดการณ์ฉากทัศน์การรระบาดของโควิด -19 ในประเทศไทยหลังเปิดประเทศ ถ้ายังร่วมมือกันค่าการระบาดอยู่ที่ 25% หรือเทียบกับก่อนล็อคดาวน์แนวโน้มก็จะมีการติดเชื้อลดลง ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกับ 4 มาตรการหลักอย่างเข้มข้น คือป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด มาตรการโควิดฟรีแอเรีย ตรวจ ATK เฝ้าระวังกลุ่มต่างด้าว และฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย

“แต่ถ้าทำไม่สำเร็จปล่อยให้อัตราการแพร่กระจายสูงเหมือนก่อนล็อคดาวน์ ซึ่งอาจจะกลับมาถึงวันละ 1 หมื่นราย แต่จำนวนการติดเชื้อไม่ใช่ตัวชี้วัดความรุนแรงของสถานการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูระบบว่าพร้อมรองรับหรือไม่ คนยังสามารถเข้ารับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างเพียงพอ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org