การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นระยะๆ และเตรียมที่จะเปิดรับนักท่อเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยวต่ำ 46 ประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ต้องกักตัว พร้อมกับการเปิดโรงเรียน แม้จะเป็นความหวังในการพลิกฟื้นวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความกังวลว่าสถานการณ์จะกลับไปสู่การติดเชื้อจำนวนมากจนเกินความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้อีกหรือไม่
ในเวทีเสวนาซึ่งเครือข่ายคนทำงานโควิดในชุมชน (Com-Covid) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่มุ่งตอบข้อกังวลเหล่านี้ และนำไปสู่คำถามใหญ่ นั่นคือ เราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไร
พ.ญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี เป็นวิทยากรคนแรกที่มาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจโควิดหรือ ATK ซึ่งอาจนำมาใช้ในการคัดกรองนักเรียนในโรงเรียนว่า ATK ไม่ได้มีประโยชน์ในการที่จะไปค้นหาผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีอาการ การพยายามที่จะนำเรื่องการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อหวังว่าจะลดความสำคัญของวิธีการป้องกันอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายเข้าไปใหญ่
“เรามีการสร้างภาพและเชื่อกันเองว่าการใช้ ATK และรู้สถานะเป็นการป้องกัน ที่ผ่านมาเราอาจรู้สึกว่าต้องตรวจเพื่อจะเจอคน เมื่อเจอคนแล้วก็ต้องกักตัว แต่เราก็ได้รู้แล้วว่าโควิด-19 ติดต่ออย่างไร มีช่องทางออก ช่องทางเข้า เราก็ทำแค่ปิดช่องทางออก โดยไม่ต้องรู้หรอกว่าเราเองมีเชื้อโควิดหรือไม่ เพราะไม่มีอาการก็อาจมีเชื้อโควิดได้ เพราะฉะนั้นก็ปิดช่องทางออกและช่องทางเข้า โดยการใช้หน้ากากอนามัย พร้อมทั้งล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่มีช่องทางออก ช่องทางเข้าได้แล้ว การตรวจ ATK จึงเป็นการหลอกตัวเองไปว่า เวลานี้ ตรวจแล้วไม่พบติดเชื้อ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง หรือไม่ต้องล้างมือบ่อยๆ ผลตรวจ ATK ที่เป็นผลลบใช่ว่าจะทำให้ยกเว้นการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้”
พ.ญ.นิตยากล่าวว่า ATK ไม่ได้มีประโยชน์ในการที่จะไปค้นหาคนที่ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีอาการ เพื่อที่จะพบว่าไม่ได้ติดเชื้อ แต่ ATK จะมีประโยชน์ในการไปตรวจผู้ที่มีอาการ มีความเสี่ยง เพื่อที่จะรีบนำเข้าสู่การรักษา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับการใช้ ATK มาเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกัน สำหรับโรงเรียนหรือสถานประกอบการ แทนที่จะมาให้ความสำคัญกับการตรวจ ATK ควรที่จะต้องจัดการกับเรื่องอื่นๆ เช่นการมีหน้ากากอนามัยที่เพียงพอ การจัดมาตรการเว้นระยะห่าง อากาศถ่ายเท โล่ง ให้มีการล้างมือบ่อยๆ เสมอ ก็จะไม่มีช่องทางออกและช่องทางเข้าได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าคนๆ นั้นมีหรือไม่มีเชื้อโควิด
อารี คุ้มพิทักษ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิดไม่ว่าจะด้วยการใช้ ATK หรือ RT-PCR จะให้ผลบวกเมื่อรับเชื้อมาแล้วเฉลี่ย 5 วัน ดังนั้นการใช้ ATK ในการคัดกรองคนว่าจะให้ใครเข้าใครออกที่ไหนจึงเป็นคนละเรื่องกับการหาคนที่ติดเชื้อเพื่อที่จะเข้าสู่การรักษา อีกข้อมูลหนึ่งคือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พ้นระยะ 14-15 วันหายจากการติดเชื้อแล้ว ผล ATK ก็ยังบวกได้ 3-6 เดือนจากซากของเชื้อโควิด ดังนั้นกลุ่มคนที่ผลตรวจเป็นบวกจึงไม่ใช่กลุ่มแพร่เชื้อ เพราะฉะนั้นจะใช้ ATK มาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองคนไม่ได้ จะเป็นการสร้างความสับสน ดังนั้นการป้องกันที่แท้จริงคือหน้ากากอนามัยการเว้นระยะห่างและวัคซีนที่จะช่วยให้ปลอดภัย ในการป้องกัน การแจกหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ การส่งเสริมให้คนเข้าถึงวัคซีน อันนี้เป็นนโยบายที่พึงทำ
สำหรับการป้องกันตนเองในชุมชน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ หากจะต้องไปโรงเรียน เตือนใจ เกษมศรี แกนนำชุมชนมิมิตใหม่เมืองมีนเล่าว่า จากประสบการณ์จริงในการคลุกคลีกับผู้ป่วยโควิด-19 การช่วยวัดอุณหภูมิ วัดค่าออกซิเจน การนำอาหารไปส่งให้ในศูนย์พักคอยชุมชนทำให้เชื่อมั่นว่าหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง พูดคุยกับผู้ป่วยในระย 1-2 เมตรโดยใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือมีส่วนช่วยได้อย่างแท้จริง เพราะตนเองและไม่ติดเชื้อ แม้จะคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยกว่า 100-200 คน
“ในชุมชนเรามีผู้ป่วยโควิด และเราก็ให้ความรู้ คนในชุมชนก็ตระหนัก แม้แต่เด็กๆ เล่นกับเพื่อนๆ ก็ใส่หน้ากาก หรือพูดกันว่าอย่ามาบ้านเราเพราะเราอยู่กับผู้ป่วย ก็บอกว่าตรวจแล้วไม่มีเชื้อ และยกตัวอย่างให้เขาเห็นว่า เราไปหาคุณเราก็ใส่หน้ากากคุยกับคุณ บ้านเราเป็นร้านขายของด้วย มาซื้อของก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย ไม่อย่างนั้นก้ไม่ขายให้" เตือนใจเล่าถึงประสบการณ์
อย่างไรก็ตามข้อกังวลหนึ่งซึ่งทำให้ต้องปิดโรงเรียนคือไม่เชื่อว่าเด็กๆ จะป้องกันตนเองโดยใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง อารีย์ยกตัวอย่างจากการให้ความรู้การป้องกันตนเองกับหลานๆ ซึ่งทำให้เชื่อมั่นว่าเด็กเข้าใจและทำได้ แต่อาจมีเด็กบางรายที่มีข้อจำกัด ก็ต้องช่วยเหลือแก้ปัญหากันเป็นรายๆ ไป แต่ไม่ควรเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องปิดทั้งหมด
“ไม่ใช่เฉพาะเด็ก แต่เชื่อว่าทั้งชุมชนรวมทั้งผู้ใหญ่ถ้าได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจะสามารถทำได้ คนที่ไม่สามารถทำได้ก็ต้องวิเคราะห์ต่อว่าอะไรคือข้อจำกัดของเขา และช่วยแก้ข้อจำกัดเพื่อนำไปสู่การให้เขาทำได้”อารีย์ให้ความเห็น
พ.ญ.นิตยากล่าวว่า สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หากใส่หน้ากากอนามัยแล้วรู้สึกอึดอัด อาจไม่สามารถบอกได้ สำหรับสถานศึกษาหากไม่เชื่อมั่นและคาดเดาไปเองว่าบอกไปเด็กก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ทำ หรืออาจคาดเดาในระดับครูว่าไม่สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง ก็ต้องก้าวข้ามสิ่งนี้ไปก่อน และมาคิดว่าหากจะกลับมาใช้ชีวิตในโรงเรียน การให้ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ โรงเรียนจัดเตรียมไว้หรือยัง และมีมาตรการที่จะให้เด็กทำตามได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการมาคิดว่าจะคัดกรองเฉพาะเด็กที่ผลลบเท่านั้นเข้าโรงเรียน
“Universal Precaution มันใช้กับทุกสถานการณ์ เราจะต้องป้องกันการที่เชื้อจะออกหรือการที่เชื้อจะเข้าโดยที่เราไม่คำนึงถึงสถานะของเราหรือคนรอบข้างเราว่าเขาจะมีโควิดม๊ย ถ้าตั้งหลักนี้ได้ ATK จะหมดบทบาท”
พ.ญ.นิตยากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งขณะนี้ทุกคนเสมือนผู้มีความเสี่ยงสูง การตรวจด้วย ATK มีประโยชน์ในการที่จะทำให้เจอผู้ติดเชื้อและรีบนำเข้าสู่การรักษา แต่สิ่งที่ภาคใต้ต้องทำให้ดีกว่ากทม.ให้ได้คือการเปลี่ยนแนวคิดที่มีมาเกือบ 2 ปีว่า ติดเชื้อแล้วทุกคนต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องอย่ารอให้เตียงหมดแล้วมาบอกว่าต้องทำ Home Isolation(HI) Community Isolation (CI)
ขณะที่อารีมองว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าติดเชื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้ในชุมชน การตรวจ ATK หาคนติดเชื้อ และคนติดเชื้อ 70-80 % หายได้เอง โดยการดูแลที่ดี การทำแบบนี้ได้ชุมชนต้องมีส่วนร่วม เตียงของโรงพยาบาลจะรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ต้องทำทันที ไม่ต้องรอเตียงเต็มแล้วค่อยทำ ที่สำคัญการดูแลคนไข้โควิดไม่ได้ต้องการแค่เตียง เตียงเพื่มได้ แต่จะเอาบุคลากรที่ไหน ดังนั้นการจะอยู่ร่วมกันโควิดในระยะยาวจะมีกลุ่มคนที่ติดโควิดซึ่งไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ต้องได้รับการดูแลที่ดี จะมี Home Isolation และชุมชนช่วยกันดูแลร่วมกับหน่วยบริการ และสำรองเตียงไว้สำหรับกลุ่มเหลืองกลุ่มแดง อันนี้จะไปได้ในระยะยาว ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจเตรียมความพร้อมในชุมชน มิฉะนั้นก็จะมีความไม่เข้าใจ ไม่อยากให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชน
ด้านเตือนใจ ยืนยันถึงประสบการณ์ที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดในช่วงที่ผ่านมาว่าแนวคิดการให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมในชุมชนทำได้จริงโดยต้องอธิบ่ายทำความเข้าใจ
เตือนใจเล่าถึงประสบการณ์ซึ่งสมาชิกในชุมชนบางรายไม่เข้าใจและกังวลถึงการที่มีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ร่วมในชุมชน จึงให้การยกตัวอย่างว่าหากผู้ป่วยเป็นคนใสครอบครัวของเราจะทำอย่างไร อยู่ที่เราซึ่งต้องรู้วิธีการป้องกัน
เนืองนิช ชิดนอก กรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าถึงประสบการในการทำ HI และ CI ว่า มีเคสที่พบสามีติดเชื้อ แต่ภารรยาไม่ติด ผู้ป่วยไม่สามารถแยกกันอยู่ได้เพราะเป็นห้องเช่า ทีมโควิดชุมชนได้ให้คำแนะนำให้แยกกันอยู่คนละมุมห้อง หากกั้นได้ก็ควรกั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้แต่นอนก็ต้องใส่หน้ากาก เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ของใช้ส่วนตัวต้องแยกกัน ล้างมือบ่อยๆ ทำความทสะอาดห้องน้ำทุกครั้งก่อนใช้ จนกระทั่งหายป่วยผ่านพ้นช่วงเวลานี้มาได้
ด้านพ.ญ.นิตยากล่าวว่า มักมีคำถามว่าทำแบบนี้แล้วได้ผล 100 % หรือไม่ ซึ่งไม่ควรถามแบบนี้ แต่ต้องคิดว่าในสภาพการณ์แบบที่ว่ามานี้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คืออะไร เช่นมีข้อมูลเผยแพร่กันสังคมออนไลน์ว่า เชื้ออยู่ที่กระดาษได้นานเท่าไหร่ อยู่ที่เหรียญได้นานเท่าไหร่ ซึ่งหากทุกคนล้ามือบ่อยๆ ข้อมูลพวกนี้ก้ไม่มีความหมายอะไร
อารี เสนอเพิ่มเติมว่าต้องหยุดความน่ากลัวที่เกินจริงของโควิด การจัดการศพ หรือการสวมชุดต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับโควิด การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด การนำถุงยังชีพไปแจก แล้วใส่ชุดที่เกินความจำเป็นจะสร้างความน่ากลัวทำให้รู้สึกว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ต้องลดสิ่งที่ทำให้โควิดเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง การติดเชื้อโควิดก็เหมือนกับวัณโรค จัดการกับผู้ป่วยวัณโรคอย่างไร ก็เหมือนกับโควิดแบบนั้นอจัดการศพผู้ป่วยวัณโรคอย่างไร ก็จัดการศพผู้ป่วยโควิดแบบนั้น เพราะโควิดถุกทำให้น่ากลัวเกินกว่าจำเป็น
ทั้งนี้ เครือข่ายโควิดในชุมชนแถลงการณ์เรียกร้องการบริหารจัดการที่เหมาะสมว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในกรุงเทพที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นความสับสน และความตื่นกลัวของประชาชนต่อการรับมือการระบาด ในขณะที่ระบบรองรับของประเทศยังขาดเอกภาพ มีความสับสน ทั้งในด้านข้อมูลและแนวทางที่ไม่ชัดเจน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การตอบสนองต่อปัญหาที่ล่าช้า แนวปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ได้ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก
เครือข่ายคนทำงานโควิดในชุมชน (Com-Covid) เป็นการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ ด้านชุมชนแออัด ได้ร่วมกันทำงานเพื่อตอบสนองปัญหา ด้วยการช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการดูแลโรคระบาด การสร้างองค์ความรู้เพื่อสู้กับความกลัวต่อโควิด การพัฒนาทักษะเพื่อให้ดูแลกันเอง การประสานต่อรองกับนโยบายรัฐ เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่เครือข่ายฯได้เผชิญมาตลอดกว่า 6 เดือนในการทำงาน ในขณะที่สถานการณ์การระบาดในภาคใต้ปัจจุบันกำลังเพิ่มความรุนแรง และสับสบไม่ต่างจากการระบาดในกทม.ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดระบบการจัดการที่ดีกว่าเดิม ทางเครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อระบบของประเทศโดยเฉพาะในสถานการณ์ภาคใต้ ดังนี้
1. ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ และต้องเป็นฝ่ายประสานสั่งการหน่วยงานรัฐ เช่นฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ให้มีการประสานความร่วมมือและใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อจัดการต่อปัญหา หยุดสร้างความสับสนและสามารถตอบสนองต่อการดูแลประชาชนได้ทันท่วงที โดยแนวทางดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย
1.1 กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างชุดข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่อคติ และไม่ตีตรากล่าวโทษประชาชนทั้งด้านการส่งเสริมป้องกัน ระบบการดูแล ระบบการเข้าถึงบริการ รวมถึงการสื่อสารเพื่อยืนยันให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิดสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ อยู่ร่วมบ้านได้โดยไม่ทำให้ติดเชื้อ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนว่าการอยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อต้องป้องกันตัวเองอย่างไร จัดพื้นที่แบบไหน โดยต้องสอดคล้องกับสภาพและวิถีชีวิตของประชาชน และมีช่องทางที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รวมทั้งสื่อสารในลักษณะเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
1.2 ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแนวทางในการดำรงชีวิต ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งต้องเคารพอัตลักษณ์ และความเชื่อของประชาชนในการจัดการเรื่องโควิด เช่นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดการร่างกายผู้เสียชีวิต เป็นต้น
.3 การใช้เครื่องมือการตรวจหาการติดเชื้อโควิดแบบเร็วหรือ ATK ไม่ได้เป็นการป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นการใช้เพื่อค้นหากลุ่มคนสัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาที่ทันท่วงที และชุดตรวจ ATK ต้องไม่เป็นเครื่องมือในการกีดกันรังเกียจ หรือใช้เป็นเงื่อนไขในการกลับมาดำรงชีวิตปกติในสังคม นายจ้าง สถานศึกษา รวมทั้งที่อื่นๆ ต้องไม่บังคับตรวจ หรือ ต้องให้มีผลตรวจ ATK แต่ต้องสนับสนุนอุปกรณ์การป้องกันอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการสนับสนุนให้คนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อลดอันตราการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องบังคับตรวจ ATK
1.4 ขอให้สนับสนุนประกาศขององค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ เรื่องการกลับเข้าสู่สังคมของผู้ป่วยโควิด-19 หลังครบกำหนดรักษาหรือกักตัว ฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยมีประเด็นสำคัญว่าคนที่กักตัวครบ 14 วันแล้วหรือได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ผู้นั้นจะไม่มีการส่งผ่านเชื้อไปสู่บุคคลอื่น ไม่ต้องกักตัวต่อ และไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม และเราขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ นำประกาศดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะและภายในกระทรวงเพื่อใช้เป็นทิศทางและแนวปฏิบัติทั้งในเรื่องของการดูแล และการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับเข้าสู่สังคม
2. ขอเรียกร้องให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ในรูปแบบการดูแลที่บ้าน (HI) และศูนย์ดูแลในชุมชน (CI) ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ และต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพราะการทำงานของชุมชนในกทม.ร่วมกับหน่วยบริการได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าคนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19
อย่างไรก็ตามกลุ่มชาติพันธ์เป็นกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ไวยิ่ง ทองบือ กรรมการบริหารกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการระบาดโควิด กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มต้องกักตัว กลับไปใช้ประเพณีเก่าๆ ห้ามคนนอกเข้า ห้ามคนในออก ตรงนี้เป็นต้นทุนของกลุ่มชาติพันธุ์ หน่วยงานรัฐควรให้ความสำคัญ ไม่ได้รับการสนับสนุน ยกระดับทั้งๆที่เป็นต้นทุนของตนเองอยู่แล้ว
"กลุ่มชาติพันธุ์มีการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนในเมือง เราอยู่ในป่าโอกาสที่จะคลุกคลีกับคนภายนอกมีน้อย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมาพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับข้อมูลผิดๆ ว่าจะได้รัยอันตรายจากการฉีดวัคซีน ผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเดินช้าลงเพราะคนไม่กล้าไปฉีด"
ไวยิ่งกล่าวว่าสิ่งที่น่ากังวลคือ อัตราการฆ่าตัวตาย 5 ปีที่ผ่านมามีสูงมาก จากทั้งหมด 15 ราย ฆ่าตัวตายสำเร็จ 7 ราย นอกจากนี้ยังมีคนที่กินยาซึมเศร้า 55ราย
"มีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคนชรา ผู้มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว นี่เป็นโจทย์ใหญ่ในชนเผ่า ด้านสิทธิที่พึงมีในการรักษาสุขภาพ ติดตามตรวจสอบให้บริการของสถานพยาบาล ปัญหาเรื่องการสื่อสาร กลุ่มชาติพันธุ์ได้ร้องเรียนแล้วไปไม่ถึงต้นตอ หลายคนบอกว่าไม่อยากมีปัญหากับคุณหมอพยาบาล ถูกคัดค้านว่าอย่ามีปัญหากับหมอ แม้จะร้องเรียนได้เพื่อไม่ให้ระยะยาวเกิดซ้ำซาก" ไวยิ่ง กล่าว
กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาการจองวัคซีน การเข้าถึงการตรวจยังมีเงื่อนไขของระบบสุขภาพที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นคนสัญชาติไทยจะมีบัตรทองรองรับ แต่ถ้าไม่มีเอกสารใดๆพี่น้องชาติพันธุ์เผ่าพื้นเมืองที่ตกสำรวจรอเอกสาร ไม่มีเลขอะไรก็จะหลุดไปเลยไม่มีระบบรองรับตามหลักการที่พูดถึง กลไกที่เกิดขึ้นระหว่างโควิด รอหน่วยงานเข้ามาค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐอาจต้องมามองกลไกอะไรพิเศษไหม แล้วสร้างอัตรากำลังในระดับฐานรากเชื่อมโยงกับสาธารณสุข ระบบสุขภาพที่ยังไม่มีสิทธิแล้วบางสิทธิก็เข้าไม่ถึง แล้วคนยังไม่มีสิทธิยังไม่มีกระบวนการใดๆจัดขึ้นมาให้เข้าถึงสิทธิด้านการรักษา
วนิจชญา กันทะยวง รองกรรมการบริหารกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเดินทางขอรับบริการสุขภาพเป็นปัญหาที่พบในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะที่ จ.แม่ฮ่องสอน หากส่งต่อผู้ป่วยไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิต และยังพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายจากภาวะหนี้สินช่วงโควิดไปแล้ว 2 ราย
"ค่าใช้จ่ายแม้จะรักษาฟรี แต่ค่ากินค่านอน ส่งต่อไปยังเชียงใหม่ค่อนข้างสูง บางคนหมอนัดก็ไม่อยากไปแล้ว เพราะเดินทางลำบากกลับมาแล้วแผลฉีกขาด ปัญหาคนไปส่งไม่มี ภาษาไทยก็สื่อสารไม่ได้ นี่คือที่เราพบ การที่เราจะปลดล็อคเงื่อนไขเงินกองทุน สปสช.ทำอย่างไรร ที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมชุมชน เราอยากใช้กองทุนในพื้นที่ของเราให้เชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง บางทีเงินกองทุนตั้งอยู่ตรงหน้าเราแต่หยิบใช้ไม่ได้เพราะมีเงื่อนไขบางอย่าง การสื่อสารภาษาเผ่าเวลาไปโรงพยาบาลที่ส่งต่อไม่ใช่ในพื้นที่เรา จะต้องมีล่ามแปลภาษาไปด้วยถ้าปลดล็อคได้มีกลุ่มองค์กรใช้เงินตรงนี้ได้เพื่อไปสนับสนุนจ้างล่ามชุมชนไปส่งผู้สูงอายุ" วนิจชญา กล่าว
- 1112 views