เปิดรายละเอียดปรับหลักเกณฑ์รองรับประกันสุขภาพต่างชาติเดินทางเข้าไทยขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว ระยะเวลา 1 ปี ขยายวงเงินคุ้มครองค่ารักษา ครอบคลุมโควิด19 ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ 19 ต.ค.64

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 19 ต.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 และนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมแถลงข่าว “การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี)”

นายสาธิต กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก (Medical Hub) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมามีผู้สูงอายุขอรับการตรวจลงตราเข้ามาพำนักระยะยาว (Long Stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติอนุมัติในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ โดยกำหนดให้ชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1ปี)สามารถซื้อประกันสุขภาพจากต่างประเทศ หรือมีสวัสดิการภาครัฐจากต่างประเทศได้ และปรับวงเงินประกันสุขภาพจากเดิมผู้ป่วยนอก 40,000 บาท ผู้ป่วยใน 400,000 บาท เปลี่ยนเป็นมีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค.2564 เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับชาวต่างด้าวที่จะเข้ามาให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว ระยะเวลา 1 ปี จะใช้สำหรับชาวต่างด้าวผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถซื้อประกันในประเทศไทยได้, ผู้ที่แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย/สิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆ และ ผู้ที่ยื่นต่ออายุ วีซ่าครั้งที่สอง (Extend) ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ จะช่วยลดปัญหาของผู้ขอรับการตรวจลงตราที่ไม่สามารถยื่นต่อวีซ่าครั้งที่สองได้ รวมทั้งเป็นการยกระดับและคัดกรองชาวต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยสามารถซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย https://longstay.tgia.org มีบริษัทประกันภาคที่เข้าร่วมโครงการ 17 แห่ง

“ที่ผ่านมาพบว่าเกิดปัญหาในการดำเนินการของผู้รับการตรวจลงตราในการซื้อประกันสุขภาพ คือ 1.ชาวต่างชาติอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถซื้อประกันในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการขออยู่ต่อ 2.แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย/สิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆและ 3.ผู้ที่ยื่นต่ออายุวีซ่าครั้งที่ 2 ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ ซึ่งการออกเกณฑ์ใหม่จะเป็นการยกระดับและคัดกรองต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย”นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ทั้งนี้ สถิติชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1ปี) ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการกงสุลตั้งแต่ปี 2560-2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นปีที่ผานมาที่เกิดปัญหาโรคโควิด-19 โดยปี 2560 จำนวน 2,891 ราย ปี 2561 จำนวน 3,164 ราย ปี 2562 จำนวน 4,222 ราย ปี 2563 จำนวน 2,321 ราย และม.ค.-ก.ย.2564 จำนวน 1,447 ราย รวมช่วง 2 ปีหลังอยู่ที่ 3,768 ราย

ด้านนายดนย์วิศว์ กล่าวว่า กรมได้ดำเนินการปรับแนวปฏิบัติรองรับการตรวจลงตราประเภทนี้และแจ้งเวียนให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศถือปฏิบัติแล้ว อีกทั้ง ยังปรับปรุงหลักฐานแสดงการทำประกะนภัยจากต่างประเทศให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่มากขึ้น ซึ่งวีซ่ารหัสO-A เป็นการรองรับกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยเกณฑ์ใหม่จะใช้ทั้งผู้ที่ขอวีซ่าประเภทนี้ครั้งที่ 1 และการขออยู่ต่อ

น.ส.ดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการทำประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และทำให้กระบวนการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สะดวกมากขึ้น รวมทั้ง ครอบคลุมกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและโรคโควิด-19 จะเป็นการสร้างคววามเชื่อมั่นแห่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาพำนักหรือท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัว หากเป็นชาวเอเชียจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อวัน และยิ่งอยู่นานจะใช้จ่ายมากขึ้น

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ กำหนดให้ต้องมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 65,000 บาท หรือมีเงินฝากไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท หรือมีเงินเดือนในรอบปีและเงินฝากในธนาคารรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท ซึ่งโครงสร้างค่าใช้จ่าย แยกเป็น ค่าเช่าที่พัก ราว 10,000-20,000 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือยราว 30,000-40,000 บาท แต่หากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีศักยภาพสูงมาก มีค่าใช้จ่ายเดือนละราว 60,000 -70,000 บาท

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org