หนึ่งในมาตรการที่บางประเทศนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งการระบาดใหญ่คือการปิดสถานบันเทิงและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา นอกจากไทยยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่นญี่ปุ่นที่กำหนดให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ซื้อขายต่างๆ ซึ่งรวมถึงร้านอาหารและบาร์คาราโอเกะ และสถานบันเทิงและร้านอาหารจะต้องปิดภายในเวลา 20.00 น. ตามประกาศภาวะฉุกเฉิน ญี่ปุ่นใช้มาตรการนี้หลายช่วงเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ที่เกิดเป็นคลื่นระยะลอกต่างๆ เช่นในเดือนพฤษภาคม แล้วคลายมาตรการลง แล้วก็เริ่มอีกครั้งในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกพอดี
จนกระทั่งปลายเดือนกันยายน รัฐบาลกรุงโตเกียวพิจารณาอนุญาตให้ร้านอาหารและบาร์ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังการยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 30 กันยายน ตราบใดที่สถานประกอบการได้รับการรับรองให้ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างทั่วถึง และก่อนการประกาศคลายมาตรการ ทางการโตเกียวยังมีการวางแผนรับมือสำหรับภาคส่วนนี้ด้วย เช่น ให้สถานประกอบการสามารถให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึงเวลา 19.30 น. และปิดเวลา 20.00 น. หรือเปิดขายแอลกอฮอล์ได้ถึง 20.00 น. และปิดเวลา 21.00 น. โดยมีแผนการที่จะปรับใช้แผนการเหล่านี้ 3 สัปดาห์ และทางการโตเกียวยังวางแผนที่จะให้ "เงินความร่วมมือ" แก่สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามคำขอของทางการในการควบคุมบริการของตนและได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกลางด้วย (1)
แม้ว่าหลังจากที่มีการอนุญาตให้ร้านอาหารและบาร์ขายเครื่องดื่มมึนเมาได้อีกครั้งแต่แผนการก็ยังไม่ชัดเจน ที่ชัดเจนคือระยะเวลาเปิดให้บริการที่เป็นไปตามแผนที่ทางการโตเกียวได้วางเอาไว้ และรัฐบาลได้กล่าวว่าข้อจำกัดดังกล่าวอาจถูกยกเลิกเพิ่มเติมด้วยการใช้ระบบตรวจสอบการฉีดวัคซีนหรือสถานะการทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 แต่ ณ ต้นเดือนตุลาคม รายละเอียดเกี่ยวกับแผนยังคงไม่สมบูรณ์ (2)
กระนั้นก็ตาม ที่ทางการโตเกียวมีความชัดเจนและทำตามแผนได้คือารจ่ายเงินเยียวยาธุรกิจบริการ โดยการจ่ายเงินบรรเทาทุกข์ให้กับบาร์และร้านอาหารที่ปฏิบัติตามคำขอของทางการจะมีตั้งแต่ 600,000 ถึง 4.8 ล้านเยนสำหรับสถานประกอบการขนาดเล็กหรือขนาดกลาง และสูงถึง 4.8 ล้านเยนสำหรับสถานประกอบการขนาดใหญ่ คำขอดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษว่าด้วยโควิด-19 และที่น่าประหลาดใจก็คือจะไม่มีการเรียกเก็บค่าปรับจากสถานประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย (3)
ความใจกว้างของทางการโตเกียวอาจเป็นผลมาจากการต้องเผชิญกับความไม่พอใจของธุรกิจบริการกลุ่มนี้ที่ต้องถูกสั่งปิดหลายครั้ง เพราะในช่วงที่ทางการมีคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม) ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ท่าทีของทางการญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเข้มงวดกว่านี้ นอกจากจะมีการกำหนดเคอร์ฟิวสำหรับร้านที่ขายแอลกอฮอล์ แม้แต่ผู้ที่เปลี่ยนไปเสิร์ฟเฉพาะซอฟต์ดริ้งก์ที่ไม่ใช่ของมึนเมาก็ต้องปิดเวลา 20.00 น. แต่เพื่อเป็นแรงจูงใจในปฏิบัติตามระเบียบของรัฐ รัฐบาลเสนอเงินอุดหนุนรายวันระหว่าง 40,000 เยน ถึง 200,000 เยนขึ้นอยู่กับขนาดของสถานประกอบการ พร้อมกับการขู่ว่าจะถูกปรับ 300,000 เยนหากไม่ปฏิบัติตาม (4)
แต่ถึงจะมีการขู่เอาผิด แต่บางธุรกิจทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาตอบโต้ เช่น Global-Dining ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ในโตเกียวและผู้ประกอบการร้านอาหาร "Kill Bill" ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลนครบาลโตเกียว โดยอ้างว่าคำสั่งปิดนั้นผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินธุรกิจ และต่อมาในเดือนกรกฎาคม หลังจากยกเลิกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปได้พักเดียว รัฐบาลก็ประกาศภาวะฉุกเฉินอีกพร้อมคำสั่งหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ พร้อมกับคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คราวนี้ Global-Dining ประกาศว่าต่อต้านมาตรการใหม่และจะเปิดตามปกติแม้ว่ารัฐบาลจะแนะนำว่าธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎอาจต้องเผชิญกับบทลงโทษทางการเงิน (5)
รัฐบาลรู้ว่าภาคธุรกิจแข็งข้อมากขั้นเรื่อยๆ จึงพยายามใช้ไม้แข็ง ในเดือนกรกฎาคม ยาสึโทชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 กล่าวในเชิงขู่ระหว่างการแถลงข่าวว่าจะขอความร่วมมือกับธนาคารช่วยแบ่งปันข้อมูลของธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารต่างๆ ซึ่งไม่ปฏิบัติตาม "คำร้องขอ" ของรัฐบาลในการห้ามขายแอลกอฮอล์ ปรากฏว่าไม่ต้องรอให้ภาคธุรกิจตอบโต้ สมาชิกของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวในทันที จนรัฐบาลถูกบังคับให้ถอนแผนในวันรุ่งขึ้น (6)
เมื่อถึงต้นเดือนกันยายนมีการต่ออายุภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง จากการรายงานของ Bloomberg ระบุว่ามีบาร์ในโตเกียวมากกว่า 5,300 แห่งละเมิดมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก่อนที่จะมีการต่ออายุมาตรการ และเจ้าของธุรกิจหลายรายตั้งใจที่จะละเมิดคำสั่งห้ามเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนทางธุรกิจต่อไปได้อีก (บาร์และร้านอาหารคิดเป็น 17% ของการล้มละลายที่เกี่ยวข้องกับโควิดในญี่ปุ่น) แม้ว่าทางการจะมีเงินชดเชยแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะประคับประคองธุรกิจ ความไม่พอใจที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากภาคธุรกิจบริการและประชาชนทั่วไป เป็นส่วนผลักดันให้นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะ ต้องลาออกจากตำแหน่งในต้นเดือนกันยายนนั่นเอง (7)
เจ้าของร้านที่คัดค้านข้อจำกัดดังกล่าว อ้างว่ายอดผู้เสียชีวิตรายวันของญี่ปุ่นจากโควิด-19 ยังคงเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของจำนวนผู้เสียชีวิตในสหรัฐและหลายพื้นที่ของยุโรป ซึ่งในประเทศเหล่านั้นไม่สั่งห้ามให้ธุรกิจควบคุมกิจกรรมอีกต่อไป และธุรกิจบริการในญี่ปุ่นเรียกร้่องให้เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย แทนที่จะมาลงกับธุรกิจของพวกเขา (7)
นายกรัฐมนตรีสุงะลาออกไปในต้นดือนกันยายนแต่ได้ทิ้งทวนด้วยการต่ออายุภาวะฉุกเฉินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่รับตำแหน่งแทนพร้อมกับรับช่วงภารกิจที่น่าหนักใจ เพราะหากเขาจะต่ออายุมาตรการฉุกเฉินต่อไปอีกคะแนนนิยมทางการเมืองก็จะตกต่ำลงจนมีชะตากรรมเหมือนสุงะ และหากต่อมาตรการต่อไปภาวะฉุกเฉินก็จะยิ่งไม่มีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งชี้ว่าภาวะฉุกเฉินไม่เหมือนกับภาวะฉุกเฉินอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นทางเลือกก็คือการเปิดประเทศให้ดำเนินกิจกรรมได้อีกครั้ง รวมถึงการจำแหน่ายแอลกอฮอล์ด้วย
ดังนั้น ในวันที่ 1 ตุลาคม ธุรกิจบริการและอาหารจึงมีอิสระในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง แม้จะขายเป็นเวลาก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าขายไม่ได้เลย (และน่าเชื่อว่าจะมีผู้ขายเกินเวลาด้วย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นที่บางร้านขึ้นป้ายประกาศว่าเปิดบริการถึง 01.00 น. ทั้งๆ ที่มีคำสั่งให้ปิดตั้งแต่ 20.00 น.)
นอกจากโตเกียว จังหวัดต่างๆ ยังมีมาตรการควบคุมร้านอาหารและผับบาร์ต่างๆ กันออกไปหลังประกาศยุติภาวะฉุกเฉินแห่งชาติแต่ก็อยู่ในแนวทางเดียวกัน คือ จังหวัดไซตามะ คานางาวะ ไอจิ และฮิโรชิมา และฮอกไกโดอนุญาตให้บาร์และร้านอาหารที่ได้รับอนุญาตให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึงเวลา 20:00 น. ส่วนจังหวัดโอซาก้า เกียวโต เฮียวโกะ และฟุกุโอกะ จะอนุญาตให้สถานประกอบการสามารถให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึง 20:30 น. ในขณะที่จังหวัดอิบารากิ ชิซูโอกะ และชิกะ จะไม่กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาทำการและเวลาให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (3)
การยุติภาวะฉุกเฉินและการคลายมาตรการควบคุมร้านอาหารและผับบาร์ เสี่ยงที่จะทำให้ญี่ปุ่นเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนกับความกลัวในช่วงที่ประกาศสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายๆ ช่วง เกิดความกังวลว่าหากคลายมาตรการควบคุมย่านสถานบันเทิงในโตเกียวจะกลายเป็นคลัสเตอร์แห่งใหม่
แต่ปรากฏว่ามีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม หรือ 2 สัปดาห์หลังการคลายมาตรการควบคุม โตเกียวรายงานผู้ป่วย 49 ราย เป็นตัวเลขรายวันต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ขณะที่ทั่วประเทศอยู่ที่ 369 ราย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองที่ยังบอกว่าไม่รู้จะอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไร (8)
แต่มีฉันทามติในวงกว้างว่าการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นน่าจะเป็นตัวแปรที่มีส่วนช่วย ณ กลางเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อปกป้องเกือบ 70 % ของประชากร 126 ล้านคน และรัฐบาลกล่าวว่า ทุกคนที่ต้องการวัคซีนจะได้รับภายในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กล่าวว่า จะมีการเสนอวัคซีนกระตุ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้สูงอายุ (8)
การฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงแรก จนกระทั่งเริ่มรวดเร็วขึ้นในเวลานี้ มันอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การคลายมาตรการ การเปิดผับบาร์ ร้านอาหารให้ขายเครื่องดื่มของมึนเมาได้อีกครั้งจึงไม่กลายเป็นการระเบิดของคลัสเตอร์ใหญ่ๆ และอันที่จริงแล้วในระหว่างที่ใช้มาตรการควบคุมธุรกิจเหล่านี้และยังมีธุรกิจหลายพันแห่งที่ขัดขืนคำสั่งจนเสี่ยงที่นจะเกิดคลัสเตอร์ในสถานบันเทิงที่มีอัตราการระบาดสูง อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงช่วง 2 - 3 เดือนก่อนจะคลายมาตรการเมื่ออัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ต่อให้ธุรกิจบันเทิงและร้านอาหารขันขืนคำสั่งก็ไม่มีผลต่อการระบาดมากนัก เพราะวัคซีนมีส่วนช่วยป้องกันได้มาก
ทากาจิ วากิตะ หัวหน้าสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 กล่าวในการแถลงข่าววันที่ 13 ตุลาคมว่า “การฉีดวัคซีนทำให้อัตราการติดเชื้อทุติยภูมิลดลง ดังนั้นขนาดของคลัสเตอร์จึงเล็กลง” (9)
สอดคล้องกับงานวิจัยใหม่จากศาสตราจารย์ ฮิโตชิ โอชิตานิ แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุ และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ที่วิเคราะห์การติดเชื้อคลัสเตอร์ในญี่ปุ่นพบว่าคลัสเตอร์ที่เป็นกลุ่มใหญ่ลดลง เหลือเพียงการติดคลัสเตอร์กลุ่มเล็กเมื่อถึงช่วงการระบาดที่ห้าระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน (9)
ดังนั้น หัวใจของความสำเร็จในการ "เปิดผับเปิดบาร์" ของญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เพราะรัฐบาลทนแรงกดดันจากธุรกิจเหล่านี้ไม่ไหว แต่เป็นเพราะการฉีควัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นนั่นเอง
อ้างอิง
1. "Tokyo looks to allow certified eateries to serve alcohol after lifting of virus emergency". (September 28, 2021). Mainichi Japan.
2. "Japan's restaurants, bars welcome back drinkers as COVID-19 controls ease". (October 1, 2021). Reuters
3. "Prefectures set restrictions on bars, restaurants in post-state of emergency Japan". (September 29, 2021). The Japan News.
4. "Tokyo’s restaurateurs rail against alcohol ban as Covid measures bite". (May 19, 2021). Guardian.
5. "Japan's "Kill Bill" restaurant operator defies new virus curbs". (July 9, 2021). Reuters.
6. "FOCUS: Japan gov't's alcohol ban blunder shows limits in virus steps". (July 27, 2021). Kyodo News.
7. "Booze Ban, Virus Curfew Flouted by Rebellious Tokyo Bars". (September 10, 2021). Bloomberg
8. "Back from the brink: how Japan became a surprise Covid success story". (October 13, 2021). Guardian.
9. "Fifth wave had fewer big clusters possibly due to vaccinations". (October 13, 2021). The Asahi Shimbun.
ภาพ Andrew Peat. andrew.peat7@ntlworld.com / .wikipedi
- 307 views