เพราะ “สุขภาพจิต” สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ยิ่งในสถานการณ์ไวรัสต่อโรคโควิด 19 ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา เกือบ 2 ปี การประคองสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง ทั้งสภาพจิตใจของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ไปพร้อมๆ กับการดูแล ร่างกายไม่ให้ติดโควิด 19 ไม่ใช่เรื่องง่าย ความกลัว วิตกกังวล และความเครียดที่ถาโถม นอกจากวัคซีนป้องกันโรคทางการ แพทย์แล้ว สังคมไทยอาจต้องอาศัย “วัคซีนใจ” ช่วยเสริมภูมิสุขภาพจิตให้ตัวเอง และร่วมกันสร้าง “วัคซีนใจในชุมชน” เพื่อให้ทุกคนสามารถฟันฝ่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ไปได้อย่างปลอดภัยในทุกมิติ
ความสำคัญของ วัคซีนใจ และ วัคซีนใจในชุมชน ที่ว่า ถูกขยายและฉายให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ในเวทีรับฟัง ความคิดเห็นกลุ่มประเด็นสื่อสาธารณะ “อยู่ร่วมต้องรอด : ขับเคลื่อนสื่อสาธารณะเพื่อสร้างวัคซีนใจในชุมชน” โดย สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิสาธารณสุข แห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและ เยาวชน (สสดย.) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผ่านระบบออนไลน์
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต หนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยาย ที่ระบุว่า แม้จำนวนผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิด 19 ภายในประเทศ จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โรคอุบัติใหม่จากไวรัสเริ่มคลี่คลาย ทั้งจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่ลดลง และจำนวน ประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มีมากขึ้น ทว่ายังคงมีประชาชนที่มีระดับความเครียดสูง เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เข้าคิวรอ การบำบัดจากกรมสุขภาพจิตถึง 2,000 ราย นั่นหมายความว่าสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
คีย์เวิร์ด “อึด ฮึด สู้” และ “วัคซีนใจ” จึงกลายเป็นแนวคิดที่กรมสุขภาพจิตนำมาใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชนตลอด ในยามนี้ พญ.พรรณพิมล บอกว่า วัคซีนใจก็คือพลังใจ และพลังใจนี้สามารถสร้างได้ ทั้งสร้างจากตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ต้องช่วยกันสร้างช่วยกันเติมให้พลังใจให้มีอยู่ตลอดไม่ลดน้อยถอยลง แม้เจอความยากลำบาก ก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและสามารถไปต่อได้ เมื่อครอบครัวเข้มแข็งก็จะขยายต่อเนื่องมายังชุมชน กลายเป็นพลังชุมชนในที่สุด
อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังแนะนำด้วยว่า “ในสถานการณ์โควิดจะคิดอะไรยากๆ คิดให้ใหญ่โตไม่ได้ แค่ตื่นขึ้นมา แล้วหันกลับมามองในสิ่งดีๆ ในสิ่งที่มีที่ทำให้เราไปต่อไปแบบวันต่อวัน แค่นี้เพียงพอแล้ว ส่วนในระดับชุมชนต้องเดินหน้าไปใน จุดที่เราสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ ในลักษณะที่มาตรการป้องกันต่างๆ ที่มีอยู่จะไม่ทำให้คนในชุมชนลำบากหรือขัดขวางการ ใช้ชีวิต พร้อมใช้สายใยในชุมชนการคิดค้นเครื่องมือที่เหมาะสมไม่เข้มหรือตึงเกินไปเพื่อดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้คน ในชุมชนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางให้ความร่วมมือ และเสริมกำลังให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยสื่อสาธารณะที่จะช่วยสื่อสาร ข้อเท็จจริงสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน”
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
ไม่ต่างจากแร็ปเปอร์ชื่อดัง คุณ นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้า เบลส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ บ้าน-พลัง-ใจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส กรมสุขภาพจิต และ สสส. เพื่อเรียนรู้ เยียวยาจิตใจ และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ให้แก่ผู้ประสบภัยโรคระบาดอุบัติใหม่ โดยเขาพบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด 19 หลายครอบครัวไม่ได้เจอแค่วิกฤตโควิด แต่มีเหตุการณ์เลวร้ายอื่นในชีวิต ฉะนั้นยิ่งมาเจอโควิดจึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่พวกเขายังมีกำลังใจเดินหน้าต่อ จึงเป็นเรื่อง น่าศึกษาว่าทัศนคติหรือมุมมองต่อปัญหามีผลต่อการใช้ชีวิตหรือไม่
“บ้าน พลัง ใจ เป็นงานเปลี่ยนชีวิต เพราะได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากคนจริงๆ ไม่ใช่โลกสวย ไม่ได้อยู่ กับความเพ้อฝัน แต่เป็นการมองด้านบวก มุมเล็กๆ ในชีวิตทำให้มีแรงพอจะลุกได้ ผู้ประสบภัยวิกฤตโควิดบอกว่าดีกว่า มองด้านลบที่ทำให้กำลังใจหดหาย จากการคุยกับแพทย์ด้านสุขภาพจิต แค่ 3 คำในครอบครัว ขอบคุณ ขอโทษ และชื่นชม เป็นถ้อยคำธรรมดา แต่เป็นคำที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ทำให้การฝ่าวิกฤตที่ต้องเผชิญไม่หนักหนา จนเกินไป ทุกอย่างเริ่มจากใจ สุขภาพกายแม้ยังไม่ติดโควิด แต่สุขภาพจิตที่เจอสถานการณ์เศรษฐกิจ การรับข่าวสาร ความเครียด ก็ทำให้หลายคนผ่านไปได้ยาก”
อุ๋ย บุดด้า เบลส
ขณะที่ คุณ ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทรนด์โลกกำลังมองปัญหาด้านสุขภาพจิตเปลี่ยนไป จากเดิมระบุว่าเป็น “ความเจ็บป่วยที่ต้องรักษา” แต่ ปัจจุบันสุขภาพจิต คือ “การเติมพลังบวกในชีวิต” ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติสุขภาพจิตของ สสส. เองจะเดินหน้าไปในทิศทางนี้เช่นกัน โดยจะทำใน 2 ระดับ คือ สร้างเสริมกำลังใจให้คนไทย อึด ฮึด สู้ (Promotion) จนสามารถจัดการตัวเองได้แม้อยู่ใน ภาวะเครียด และ ป้องกันกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต (Prevention) ไม่ให้ไปสู่จุดที่มีความเครียด หรือเกิดโรคซึมเศร้า
พร้อมกันนั้นจะใช้หลักการ “ต้นทุนจิตวิทยาเชิงบวก” ประกอบด้วย การใช้ชีวิตไปสู่ปลายทางอย่างมีความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดีและใช้ชีวิตให้ลุล่วงผ่านปัญหาไปได้ (Optimism) มีความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญปัญหา ฟื้นตัวได้เร็ว ล้มแล้วลุกได้ (Resilience) และ ความเชื่อมั่นในพลังในศักยภาพของตนเอง (Self-Efficacy) ผ่านเครื่องมือ การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening
“จำเป็นมากที่ต้องเติมพลังบวกให้กับชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งนอกจากการสร้างวัคซีนใจให้กับตัวบุคคล แล้ว สสส.ยังจะหนุนและพัฒนาให้ภาคีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล ฯลฯ ที่มีสัมพันธภาพอันดีต่อชุมชน เป็นแกนนำจับมือช่วยกันแผ่ขยายพลังบวกเคลื่อนงานสร้างวัคซีนใจ ให้กับสังคม สร้างเสริมสุขภาพจิตให้กับคนทุกช่วงวัย ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถจัดการความเครียดในสภาวะวิกฤตได้ ด้วยตัวเอง” ผู้บริหาร สสส. ตั้งธงไว้
ชาติวุฒิ วังวล
อีกประเด็นที่ สสส.เตรียมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน คือการการวางแผนงานเพื่อป้องกันในเรื่องกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยจากกลุ่มโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลกระทบจาก พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งอาการป่วยกลุ่ม NCDs จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย และคนในครอบครัวไม่น้อยเช่นกัน
ในส่วนของคุณ พงศธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. มองว่าประเด็นในมิติสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโควิด 19 ส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ จากที่ดูหนักในเขตเมือง แต่เมื่อประชาชนอพยพย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด คลื่นปัญหาสุขภาพจิต ก็ติดตามไปยังพื้นที่รอบนอกด้วย และสร้างผลกระทบให้ชุมชนนั้นๆ จึงจับมือกับ สสส. และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ แห่งชาติ (สช.) ในการขับเคลื่อน “การเสริมสร้างสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น” ไปช่วยกันค้นหาวิธีการหรือกลไกช่วยให้ ชุมชนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต พัฒนาอย่างเข้มแข็ง และขยายผลให้กลายเป็นโรลโมเดลที่สามารถหยิบไปประยุกต์ใช้กับ พื้นที่อื่นๆ ได้ และเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้แต่สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ให้เป็นอีกแรงหนุนและช่วยซัพพอร์ต เช่น จัดทำคู่มือป้องกันสุขภาพจิต เป็นต้น
“ที่ต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ เพราะปัญหาโควิดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้กระจายไปทั่วประเทศ เราจึงต้องทำงานแข่งกับ ไวรัส ด้วยการขอความร่วมมือจาก อปท.ที่มีอยู่ 7,850 แห่ง ในฐานะภาคีที่มีศักยภาพรู้ถึงปัญหาเชิงลึกในพื้นที่มาร่วมกัน ทำงาน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และเป็นการสร้างเครือข่ายชุมชนส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนและ ตรงจุด ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นผลภายใน 1 ปี นับจากนี้” ผู้จัดการโครงการ มสช.กล่าว
พงศธร จันทรัศมี
- 308 views