กรมอนามัย ชวนร้านค้า ผู้ประกอบการติดโลโก้ COVID Free setting สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคห่างไกลโรคโควิด พร้อมแนะแนวทางดำเนินการง่ายๆ แค่ประเมินผ่าน Thai Stop Covid19 plus ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันจนท.รัฐ ลงพื้นที่กำกับดูแล โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง
ตามที่ภาครัฐออกประกาศใช้มาตรการCOVID-19 Free Setting สถานประกอบการ ร้านค้า กิจการต่างๆ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป แต่ยังคงเป็นมาตรการแบบสมัครใจนั้น
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2564 นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในร้านค้า สถานประกอบการ กิจการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ COVID Free setting ว่า มาตรการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล(Universal Prevention) เป็นการระมัดระวังตนเองขั้นสูงสุดอยู่ตลอดเวลา ให้คิดเสมอว่าทุกคนที่อยู่รอบตัวอาจจะเป็นผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ขณะที่การยกระดับการดำเนินการแบบโควิด ฟรีเซตติ้ง (COVID Free setting) หลักๆ มี 3 ส่วน ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมสถานประกอบการ ต้องสะอาด และผ่านการประเมิน Thai Stop Covid19 plus 2.ส่วนผู้ให้บริการ ด้านผู้ประกอบการคัดกรองอาการพนักงาน บางพื้นที่จำเป็นต้องตรวจ ATK/RT-PCR มีใบรับรองฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อในระยะ 1-3 เดือน และ 3.ส่วนผู้รับบริการ ต้องคัดกรองตัวเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ด้วยชุดตรวจ ATK ได้รับวัคซีนโควิด เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ทางสธ.เชิญชวนประชาชนสอบถามร้านค้าว่า มีสติ๊กเกอร์ หรือการประเมินโควิดฟรีเซตติ้ง ทางร้านค้าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเกิดขึ้น นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า จะมีแบบประเมินผ่านแบบฟอร์ม Thai Stop Covid19 plus ซึ่งเป็นแบบฟอร์มให้ผู้ประกอบการ ร้านค้าทำกันเอง เมื่อผ่านก็สามารถปริ้นใบรับรองดังกล่าวออกมา และนำมาติดบริเวณร้านค้าของตนเองได้ทันที เป็นการรับรองเบื้องต้น นอกจากนี้ จะมีการติดตามกำกับในส่วนของพื้นที่โดยภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงของการติดตามจากภาคประชาชน หากพบเห็นว่าร้านค้า กิจการใดไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่กรมอนามัย หรือเขตพื้นที่จังหวัดนั้นๆก็ร้องเรียนได้เช่นกัน
เมื่อถามว่าการดำเนินการตามมาตรการโควิด ฟรีเซตติ้ง ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ หากใครไม่ปฏิบัติจะมีบทลงโทษหรือว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และพ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งพื้นที่ต้องลงไปควบคุมกำกับติดตาม เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการของเรา อีกส่วนที่สำคัญมากๆ คือ มาตรการทางสังคม ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องกำกับดูแล นอกเหนือจากภาครัฐจะลงไปอยู่แล้ว ทั้่งศูนย์อนามัยเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานควบคุมโรคพื้นที่มีการลงพื้นที่ตลอด เป็นต้น ขณะเดียวกัน ในส่วนกรมอนามัย ยังมีผู้พิทักษ์อนามัย ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลร่วมด้วยเช่นกัน
เมื่อถามอีกว่าร้านค้า กิจการส่วนหนึ่งยังไม่ทราบแนวปฏิบัติดังกล่าวจะทำอย่างไร หรือขอข้อมูลได้จากทางใดบ้าง นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า มีแนวทางปฏิบัติ ออกเป็นคู่มืออยู่บนเว็บไซต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และยังส่งแนวทางดังกล่าวไปให้ทางสภาอุตสาหกรรม สภาผู้ประกอบการ ผู้ค้าผุู้ขายทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันก่อนจะมีการประกาศใช้อยู่แล้ว ซึ่งก็มีการแจกแนวทางไปแล้วด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรุงเทพมหานคร จะเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้โควิด ฟรีเซตติ้ง และร้านค้าจะมีโลโก้เป็นที่แรกๆหรือไม่ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับแล้วว่าพื้นที่เสี่ยง พื้นที่สีแดงเข็มจะต้องมีการทำโควิด ฟรีเซตติ้งให้ได้มากที่สุด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงไปให้ข้อมูล ติดตามกำกับเรื่องนี้ เพราะช่วงนี้มีการผ่อนคลายมาตรการค่อนข้างเยอะ หากไม่ทำมาตรการอย่างเข้มข้นก็เสี่ยงเกิดการระบาดขึ้นมาอีกได้ จึงต้องช่วยกันทุกฝ่าย
แนวทางตาม COVID Free Setting และทำแบบประเมินได้ที่ : https://stopcovid.anamai.moph.go.th/webapp/
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 384 views