ปลัดสธ.เผยสถานการณ์โควิดกรุงเทพฯเริ่มดีขึ้น แต่ 4 จังหวัดภาคใต้เริ่มหนัก! พบ 3 สายพันธุ์ “อัลฟา - เดลตา -เบตา” มอบผู้ตรวจฯ นพ.สสจ.คุมเข้มมาตรการ ส่งวัคซีน ยา ชุดตรวจATK ลงพื้นที่เพียบ!! ต้องเร่งควบคุมก่อนระบาดหนักเท่ากรุงเทพฯ “หมอเกียรติภูมิ” ตอบคำถามสื่อชัด! หากคุมไม่อยู่ ต้องใช้มาตรการสังคม “ล็อกดาวน์” อีกทางเลือก
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมโรคโควิด19 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ "สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี" ว่า จากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพมหานครเริ่มดีขึ้น แต่พื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ระบาดมากขึ้น โดยพบ 3 สายพันธุ์ มีเบตา อัลฟา และเดลตา อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยะลา สงขลา ปัตตานี ก็พบว่า ต้องมีมาตรการต่างๆเข้มมากขึ้น อย่างการส่งเสริมร้านอาหาร ร้านค้า หรือการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับ มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) แม้จะไม่ได้บังคับ แต่เป็นการเชิญชวน อย่างการไปร้านอาหาร ร้านค้า หากไม่มีการทำโควิดฟรีเซตติ้ง ประชาชนต้องช่วยกันทวงถาม เพื่อให้เกิดการตื่นตัว
“ประเด็นคือ จากการลงพื้นที่พบว่า การส่งเสริมให้เกิด Universal Prevention ก็ยังไม่ค่อยมีมากนัก ดังนั้น กรมอนามัย ศูนย์อนามัยเขต กรมควบคุมโรคเขต ท่านสสจ.ก็ต้องแอคทิฟเรื่องนี้ เข้าใจว่าอาจมีเรื่องปัญหาสังคม วัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่าเรื่องการดูแลสุขภาพจะก้าวข้ามได้ ตอนแรกอาจไม่ค่อยรณรงค์มากนัก ซึ่งได้ให้นโยบายไปแล้ว โดยขณะนี้นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในพื้นที่และรับนโยบายดังกล่าวไปแล้ว และจะรายงานข้อมูลขึ้นมา”
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สิ่งสำคัญจะต้องมีมาตรการต่างๆ ควบคู่กันเพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ โดยมีทั้งการส่งชุดตรวจ ATK ลงไปเพิ่มเติม ส่งยาฟาวิพิราเวียร์เข้าไป เนื่องจากพบว่ามีการใช้ยาเพียง 30% ทำให้อัตราการเสียชีวิตยังสูง จึงได้ส่งยา และแนะนำว่า ก่อน 4 วันแรกต้องให้ยาเพราะได้ผลดีมาก ซึ่งขณะนี้ส่งไปประมาณ 1 ล้านเม็ด และจะติดตามการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติมกับทางผู้ตรวจราชการฯ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะทำให้การติดเชื้อจะชะลอได้ ขณะเดียวกันยังได้ส่งวัคซีนป้องกันโควิดเข้าไปอีกเป็นแสนโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่อาจยังไม่ค่อยฉีดวัคซีน เนื่องจากความเชื่อวัฒนธรรม นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจ พยายามให้ผู้นำทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเรื่องสุขภาพน่าจะก้าวข้ามเรื่องสังคมได้ และคิดว่าทุกวัฒนธรรมอยากให้คนมีสุขภาพดี แข็งแรง
เมื่อถามว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ มีการคาดการณ์หรือไม่ว่า ในพื้นที่ภาคใต้จะมีการระบาดหนักเทียบกรุงเทพฯ ประมาณกี่เดือน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายไปดำเนินการจัดทำกราฟแบบจำลองในแต่ละจังหวัด รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ แต่ยังไม่ได้รับรายงานกลับมา ซึ่งการทำแบบนี้จะได้ให้มีการควบคุมกำกับ ก็จะคล้ายๆกับการทำแบบจำลองระดับประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็มาถึงทางแยก แต่จริงๆก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อคลายล็อกดาวน์ก็ต้องยอดขึ้น แต่เมื่อขึ้นจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นจริง ก็จะต้องมีเส้นสีเขียว เพื่อให้มีมาตรการลดผู้ติดเชื้อ ซึ่งก็ขออีก 2 เดือน เมื่อเข้าเดือน ต.ค. และพ.ย. ตนเชื่อว่าจะเบาลง เพราะมี 70% ของการให้วัคซีนเข็มที่ 1 หมายถึงว่า กลางๆธ.ค. ก็จะ 70%กว่าๆ ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 จากนั้นเมื่อสิ้น ธ.ค.นี้ก็จะได้รับวัคซีน 85% ถือเป็นมาตรฐานโลกแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าภาคใต้เจอ 3 สายพันธุ์จะต้องปรับสูตรวัคซีนหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อาจมีปัญหาบ้าง แต่วัคซีนยังใช้เป็นสูตรมาตรฐานอยู่ เพราะยังป้องกันได้ เพียงแต่เบตา อาจป้องกันไม่ค่อยได้มาก การป้องกันน้อยกว่าตัวอื่น แต่ที่เหมือนกันคือ ไม่เจ็บป่วยมาก ไม่ล้มตาย ซึ่งวัคซีนมีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ทางภาคใต้ระบบการดูแลรักษายังพอเพียง มีโรงพยาบาลสนาม 1.8-1.9 พันเตียง คนอยู่ประมาณ 50-60% แต่ก็บอกว่าอย่าประมาท อย่าเพิ่งดีใจ เพราะตอนกรุงเทพฯ ที่เปิดรพ.บุษราคัม ตอนนั้นกทม.ติดกว่าพันคนต่อวัน แต่เปิดได้ 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นมาก
เมื่อถามว่าทางภาคใต้จำเป็นต้องล็อกดาวน์หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายไว้เหมือนกัน หากมาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ อาจต้องใช้มาตรการทางสังคมเช่นกัน
เมื่อถามว่าแสดงว่าต้น ม.ค. 2565 จะมีข่าวดีใช่หรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ก็อยากให้มีข่าวดี ซึ่งตนเข้าใจว่า ทุกคนอยากพบปะเจอกัน อย่างเด็กๆไปโรงเรียนไปฉีดวัคซีน ดีใจกันมากได้เจอเพื่อน มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม อยากให้สิ่งเหล่านี้กลับคืนมาในภาวะนิวนอร์มอล (New Normal) ซึ่งเจอกันได้ แต่อยากให้ป้องกัน โดยกลางๆ ปีหน้าน่าจะดีขึ้น โควิดน่าจะนอน นิ่งบ้าง
- 30 views