กรมควบคุมโรค ชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดความเสี่ยงโรคปอดบวม

วันที่ 17 กันยายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบกับช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ หากผู้ป่วยติดเชื้อ 2 โรคนี้พร้อมกันจะเพิ่มความรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จึงได้รณรงค์ให้ประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม พบผู้รับวัคซีนเพียง 1,739,633 โดส หรือร้อยละ 28.05

จึงพิจารณาขยายระยะเวลาจากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นอกจากนี้ ยังได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ 1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด 19 2.กลุ่มที่อยู่ในสถานที่ที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการระบาด และ 3 กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ขึ้นกับสถานการณ์ในช่วงนั้น โดยเริ่มให้บริการวัคซีนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

"การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว และให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดบวม ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยลงได้" นายแพทย์โอภาสกล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ต้องฉีดป้องกันปีละ 1 ครั้ง โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขอเชิญชวนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เข้ารับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และที่สถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค


 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org