องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ชี้แจง ย้ำ ผู้ยื่นซองราคา ATK 8.5 ล้านชุด คือ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล ฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท ออสท์แลนด์ ฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ขณะที่บริษัทออกหนังสือชี้แจงอีกด้าน
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตามที่มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ว่า การที่องค์การฯเซ็นสัญญาชื้อ ATK กับ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด แทนบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด นั้น อาจผิดกฎหมายองค์การฯ จึงขอชี้แจง ย้ำว่า ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การฯได้จัดให้มีการเสนอราคาจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) โดยบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ยื่นซองราคาชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2564
โดยบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ผู้ได้รับใบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใบจดทะเบียนที่ กท สน. 8/2564 ให้เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (ชุดตรวจ ATK) และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงได้ยื่นซองเสนอราคาในนามของ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ และเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนด ดังนั้นองค์การฯจึงได้ทำการลงนามสัญญาจัดซื้อ ATK กับบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถจัดหาชุดตรวจ ATK และกระจายสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ออกหนังสือชี้แจงกรณีมีการตั้งคำถามว่า การทำสัญญาจัดซื้อ ATK ขององค์การ เภสัชและบริษัท เวิลด์ เมดิคัลฯ ส่อแววทุจริต ว่า สืบเนื่องจาก บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้รับการกล่าวพาดพิงกรณีดังกล่าว
ขอชี้แจงว่า “เมื่อบริษัทออสท์แลนด์ฯ ได้ทราบระเบียบการยื่นประมูลจากทาง องค์การเภสัชกรรม ที่ชี้แจงว่า หากกรณีบริษัทผู้นำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกันกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายพร้อมลงนามผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เพื่อเข้าร่วมการประมูลแทน ในการนี้ บ.ออสท์แลนด์ฯ จึงได้ มอบอำนาจให้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯเป็นตัวแทนเข้ายื่นซองประมูล (ดังมีเอกสารแนบไปในครั้งนี้) และทางบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ได้แต่งตั้งคุณ ศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการเข้าประมูลในนามตัวแทนบริษัทฯ จึงถือว่าการเข้าร่วมประมูลหาชุดตรวจ ATK ที่องค์การเภสัชฯ จัดประมูลนี้ บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ ฯ มิได้ทำผิดกฎการประมูลดังข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังได้รับการยืนยันอีกว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ มีอีกหลายบริษัท ที่ได้แต่งตั้งให้บริษัทอื่นเป็นตัวแทนให้เข้ามาดำเนินการประมูล เหมือนเช่นที่ ออสท์แลนด์ แต่งตั้งให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ยื่นประมูลเช่นกัน
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน และข่าว ที่ออกมา มีชื่อ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ (มีเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมหลายคนร่วมในเหตุการณ์)
บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ขอชี้แจงว่า “ในกรณีนี้ ได้รับการชี้แจงจาก อภ.ว่า เมื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล ฯ จับมือกับ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ในการเข้าร่วมประมูล ถือว่าเป็นในนามบริษัทเดียวกัน การอ้างอิงชื่อ ออสท์แลนด์ ฯ บนกระดานเพียงบริษัทเดียวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สาเหตุเพราะ ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้ยื่นขอ อย.และเป็นผู้ได้รับอนุญาตใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหากลงลึกในรายละเอียด ทั้งสองบริษัทได้ทำเอกสารสัญญาระหว่างกันก่อนการยื่นประมูลอย่างถูกต้องทุกประการ การเขียนบนกระดานโดยนำเสนอให้ผู้ร่วมประมูลทราบราคาที่แต่ละบริษัทยื่นประมูลเท่านั้น ไม่ได้มีผลในด้านกฎหมายแต่อย่างใด”
- 20 views