สปสช. องค์การเภสัชฯ และ อย. ร่วมแถลงกรณีศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจซักข้อมูลปมชุดตรวจ ATK แจงยิบทำตามระเบียบทุกขั้นตอน ด้าน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ย้ำ! ไม่มีการล็อกเสปก มีแต่คนพูดกันเอง กรณีชมรมแพทย์ชนบทออกข่าวเป็นกรณีชุดตรวจบุคลากรทางการแพทย์ใช้ เป็นคนละชนิดกับชุดตรวจนี้
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีการพูดถึงประเด็นการจัดซื้อชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ATK แจกประชาชน 8.5 ล้านชุด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ATK เป็นชุดตรวจที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายนำมาใช้ และขยายไปถึงการตรวจด้วยตนเอง บอร์ด สปสช.มีนโยบายใช้งบประมาณส่วนนี้ก่อนสิ้นปีงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดซื้อชุดตรวจ ATK กระจายไปยังประชาชนให้ตรวจด้วยตนเองผ่านหน่วยบริการ เป็นที่มาที่ไปของการตั้งงบประมาณจัดซื้อ 8.5 ล้านชิ้น คำนวณจากที่ผ่านมาพบผู้ป่วยวันละหมื่นคน มีกลุ่มเสี่ยง 10 คนต่อผู้ป่วยหนึ่งคน แต่ สปสช.ไม่สามารถซื้อเองได้ เนื่องจากคำสั่ง คสช. ต้องใช้กระบวนการอื่น หน่วยงานที่มาช่วยมีคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ มีหน้าที่ทำเรื่องจำนวน ราคา งบประมาณ และคุณสมบัติ ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซื้อคือ รพ.ราชวิถี ดูงบประมาณ จำนวนและคุณสมบัติเฉพาะเพื่อทำการซื้อ โดยซื้อผ่าน อภ. ซึ่งจะทำหน้าที่ไปหาของมาขายให้แก่ รพ.ราชวิถี เพื่อกระจายต่อไป สปสช.จะทำหน้าที่โอนเงินให้ รพ.ราชวิถี ตามมติบอร์ด สปสช. และติดตามการกระจายของเมื่อรับมาไปยังหน่วยบริการที่วางแผนไว้
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อของ อภ.มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ เชื่อว่านำไปสู่การตรวจสอบและเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ อภ.ร่วมกับ สธ. และสปสช. ทำให้กระบวนการจัดซื้อบริสุทธิ์ยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ประเทศ โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะมีการบันทึกวิดีทัศน์ตลอดกระบวนการเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันยื่นซอง ซึ่ง อภ.เชิญมาแข่งขัน 24 ราย มีบริษัทแสดงความประสงค์ 19 ราย ผ่านคุณสมบัติ 16 ราย จึงเป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์ ได้ ATK ที่เชื่อว่ามีคุณภาพ ราคาถูกที่สุดในขณะนั้น แต่อนาคตจะเกิดนิวนอร์มัล ราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากมีการใช้มากขึ้น ขอยืนยันว่า สธ. และ อภ.และหน่วยงานเกี่ยวข้องพยายามทำให้โปร่งใสที่สุด
ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า ATK เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ อย.รับผิดชอบ เป็นการตรวจหาโปรตีนจากตัวเชื้อโควิด จากตัวอย่างที่เก็บโดยการแหย่โพรงจมูกหรือน้ำลาย เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นใช้วินิจฉัย จึงต้องผ่านคุณภาพมาตรฐาน อย.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ชุดตรวจที่อนุญาตแสดงว่าได้คุณภาพมาตรฐานในส่วนนี้ โดยมีการตรวจเอกสารของผู้ผลิต ทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพมาตรฐานการผลิต รวมถึงมีการทดสอบชุดตรวจก่อนจะอนุญาตโดยเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งชุดตรวจต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนด คือ ความไวเชิงวินิจฉัยมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ความจำเพาะเชิงวินิจฉัยมากกว่าหรือเท่ากับ 98% และความไม่จำเพาะ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% การใช้ชุดตรวจนี้ต้องใช้ในคนเสี่ยงสูงหรือคนมีอาการ ถ้าผลเป็นลบ ยังเต้องตรวจซ้ำ 3-5 วัน แยกตัว ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง นอกจากนี้ ยังมีการติดตามสุ่มตรวจหลังออกสู่ตลาดด้วย ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจ
"ชุดทดสอบที่ สปสช.จะจัดซื้อ 8.5 ล้านชุด เป็นการใช้แบบตรวจด้วยตนเอง (Home Use) ซึ่ง อย.อนุมัติถึงตอนนี้ 45 ราย ส่วนที่ใช้แบบบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) 62 รายการ รวม 107 รายการในตลาด ส่วนมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUL) ไม่ใช่การอนุมัติให้ใช้ โดยมีขึ้นทะเบียนเฉพาะแบบใช้มนบุคลากรทางการแพทย์ 4 รายการ แบบใช้เองไม่มีการขึ้นทะเบียนใน WHO" นพ.ไพศาลกล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า ไม่มีการล็อกสเปก มีแต่คนพูดเอง สิ่งที่จะซื้อ 8.5 ล้านชุด เป็นแบบประชาชนใช้เอง ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกข่าวไปก่อนหน้านี้ เป็นการพูดถึงการใช้แบบบุคลากรทางการแพทย์หรือพูดง่ายๆ ซื้อให้หมอใช้ เป็นคนละอย่างกัน ซึ่งด้ามแยงจมูกจะยาวกว่า ส่วนการซื้อใช้เองด้ามไม้จะสั้น มาตรฐาน WHO ที่ขึ้นลิสต์ไว้ใน EUL เป็นมาตรฐานสำหรับการใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ แต่นี่เราซื้อให้ประชาชนใช้ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เมื่อ สธ.ชี้แจงจึงทราบแล้ว มติครม.ที่บอกว่ามี จึงไม่มี อภ.เซ็นสัญญาทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
- 7 views