สปสช.ลงพื้นที่อยุธยา ชมโมเดลการดำเนินงานระบบ “Home-Community Isolation” ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน-ในชุมชนครอบคลุม พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากการทำงาน ทั้งประเด็นงบประมาณหน่วยบริการ-การตรวจสอบสิทธิ-การจัดส่งอาหาร ด้าน สสจ.เสนอสำรองเงินไว้ระดับจังหวัด เสริมสภาพคล่องการทำงานของท้องถิ่น มีใช้หมุนเวียนดูแลผู้ป่วยได้
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 4 สระบุรี พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะ เข้าเยี่ยมชมโมเดลการดำเนินงานระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในชุมชน (Community Isolation: CI) แบบครบวงจร ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และรับฟังเสียงสะท้อนจากการทำงาน
นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หนึ่งในปัญหาที่เจอของระบบ HI-CI คือเรื่องของอาหารผู้ป่วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถให้แบบเดียวกันได้ เนื่องด้วยความแตกต่างของโรงพยาบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงความย้อนแย้งระหว่างหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายของ สปสช. กับระเบียบพัสดุต่างๆ ของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของวิธีการตรวจสอบสิทธิ (Authenticate) ที่ในทางปฏิบัตินั้นไม่มีใครกล้ารับบัตรประชาชนมาจากผู้ป่วย
นพ.พีระ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายยังนับเป็นอุปสรรคสำคัญของท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องด้วยต้นทุนหลายๆ ด้านที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจเอกซเรย์และอ่านผลของบริษัทภายนอก หรือค่าใช้จ่ายในการขนกำจัดขยะติดเชื้อ เป็นต้น จึงอยากเสนอให้มีการนำเงินมาลงมากองไว้ที่ระดับจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำผลงานมาเบิกจ่ายเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินงาน จากเดิมที่กว่าจะได้เงินนั้นล่าช้า ทำให้หลายแห่งมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอในการทำงาน
นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับ รพ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัดแห่งแรกๆ ที่เริ่มเดินหน้าจัดทำระบบ HI-CI พร้อมกันกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยไม่ได้รอให้มีประกาศของทางต่างจังหวัด เนื่องจากเริ่มเห็นสถานการณ์แล้วว่ามีคนไข้โควิดจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษา และเชื่อว่าจะมีตามมาเพิ่มอีกเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกก็ต้องเผชิญกับปัญหาติดขัดในระบบการจัดการจุดต่างๆ
นพ.โชคชัย กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาของการดำเนินงานคือเรื่องของกระบวนการเบิกจ่ายเงิน ที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะต้องเคลียร์ข้อมูล ไปจนถึงสรุปตัดยอด รวมเบ็ดเสร็จต้องใช้เวลาถึง 75 วันกว่าที่โรงพยาบาลจะได้รับเงิน ขณะที่ในระหว่างนั้นโรงพยาบาลเองก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในระบบ HI ที่จะต้องมีค่าอาหาร ซึ่งระหว่างรอโรงพยาบาลอาจต้องมีการใช้เงินสูงถึงหลักหลายสิบล้านบาท ทำให้โรงพยาบาลบางระดับไม่สามารถเข้ามาให้การดูแลผู้ป่วยได้ เนื่องจากไม่มีเงินหมุนเพียงพอ
“นอกจากนี้ยังอยากให้ สปสช. สื่อสารประเด็นเรื่องของค่าอาหารให้ประชาชนเข้าใจ อย่างช่วงหนึ่งที่มีการสื่อสารไปในทำนองว่าให้ค่าอาหารวันละ 1,000 บาท แต่อาหารที่ประชาชนได้รับกลับไม่สอดคล้องกับราคา ทำให้กลายเป็นประเด็นขึ้น เพราะในความจริงแล้วยังมีระเบียบของท้องถิ่นต่างๆ ที่ทำให้ค่าอาหารตกเพียงมื้อละ 50 บาทเท่านั้น ซึ่งมีความยากลำบากในการบริหารจัดการจริง” นพ.โชคชัย กล่าว
นพ.โชคชัย ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนท่าทีของสังคมหรือของหน่วยงานเอง ก็มีผลต่อกำลังใจและการทำงานของบุคลากรเจ้าหน้าที่ เช่น เมื่อมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นจากผู้ป่วยสักรายหนึ่ง ท่าทีของหน่วยงานที่ออกมากลับมีแต่จะเข้ามาตรวจสอบหรือจัดการ การทำงานของโรงพยาบาล ทั้งที่ความจริงโรงพยาบาลเองมีภาระงานดูแลผู้ป่วยหลักพันราย อาจมีข้อผิดพลาดหรือ Human Error ที่เกิดขึ้นในไม่กี่ราย แต่กลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมา มองข้ามการดำเนินงานที่ดีไป ฉะนั้นท่าทีเชิงบวก การให้กำลังใจกัน ก็เป็นสิ่งที่อยากฝากไว้ด้วย
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากประเด็นปัญหาที่พบในระบบกติกาที่ถูกออกแบบมานั้น เสียงสะท้อนเหล่านี้จะช่วยให้การออกแบบนั้นครบวงจร เกิดการนำไปแก้ไขและปรับระบบเพื่ออุดช่องว่างในจุดต่างๆ ต่อไป เช่น ระบบ Authenticate ขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบใช้ QR code หรือเรื่องของระบบการจ่ายเงิน ที่ยืนยันว่า สปสช.จะสนับสนุนให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้สะดวก ออกกติกาให้รวดเร็ว และอะไรที่เป็นข้อติดขัดก็จะดำเนินการปรับเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง : https://www.hfocus.org/content/2021/08/22818
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 29 views