ไม่กี่เดือนก่อนที่จีนจะพบเดลตา มีรายงานการวิจัยว่า ชิงเฟ่ย ไผตู๋ (Qingfei Paidu) ซึ่งเป็นยาแผนโบราณของจีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาโควิด-19 สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ครึ่งหนึ่ง โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการเสียหายที่ตับหรือไตเฉียบพลัน (1)
จีนตื่นตัวในเรื่องนี้มากจะเห็นได้จากจำนวนงานวิจัยในการใช้ยาแผนโบราณจีน (หรือที่เรียกว่า TCM) ของนักวิจัยจีนและการผลักดันของสื่อของรัฐบาลจีนเพื่อเผยแพร่เรื่องนี้ในระดับโลก และเมื่อจีนพบการระบาดของเชื้อเดลต้าแม้ว่าจะมีอัตราการติดเชื้อที่รวดเร็ว จีนก็ยังเชื่อมั่นกับการจ่ายยาแผนโบราณเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ
หนึ่งในสื่อของทางการจีนนที่ส่งเสริม TCM มาโดยตลอดคือ China Daily รายงานถึงประสิทธิภาพของยาแผนโบราณจีนในการรับมือกับเชื้อเดลต้าโดยชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ประสบความสำเร็จในการปรับแนวทางการรักษาด้วย TCM ในคราวก่อน (การระบาดช่วงแรก) โดยผสมผสานแนวทาง TCM กับการบำบัดแบบตะวันตกมีจนประสบความสำเร็จในการรับมือกับเดลต้าได้
หลิว ชิงเฉวียน (Liu Qingquan) ประธานโรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนแห่งกรุงปักกิ่งกล่าวว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลต้าจะติดเชื้อมากกว่าและมีปริมาณไวรัสในร่างกายมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่เป็นโรคโควิด-19 ระลอกก่อนหน้านี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าแนวทางการรักษาด้วย TCM ยังคงอิงตามแผนการวินิจฉัยและการรักษาระดับชาติล่าสุดที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน แต่แพทย์แผนโบราณของจีนได้ปรับแต่งใบสั่งยาเฉพาะให้เข้ากับสภาพของผู้ป่วยด้วย (2)
แนวทางการรักษาแผนโบราณของจีนมีหลักการที่อิงกับ "ชี่" (Qi) หรือการไหลเวียนของลมปราณในร่างกายคล้ายกับหลัการเรื่อง "ลม" ของแพทย์แผนโบราณของไทย การรักษาผู้ป่วยจึงต้องคำนึงถึงชี่และฤดูกาลที่เกี่ยวกับชี่ด้วย หลิว ชิงเฉวียน กล่าวว่าเนื่องจากการระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในฤดูร้อน พลังชี่จะลดล ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนแอมากขึ้น และผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการเร็วขึ้นหลังจากติดสายพันธุ์เดลต้าโดยผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีไข้ วิธีการก็คือนอกจากตัวยาเดิมที่ใช้รักษาโควิด-19 ระลอกแรกแล้ว ยังต้องเพิ่มตัวยาที่ลดอาหารร้อนด้วย
จาง จงเต๋อ (Zhang Zhongde) รองประธานโรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนกวางตุ้ง ในเมืองกว่างโจวกล่าวว่า เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่าง TCM และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์แบบตะวันตก ดังนั้น ระหว่างการระบาดครั้งล่าสุด หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่ทั้งกลุ่มแพทย์แผนจีนและกลุ่มแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งได้วางแผนและหารือเกี่ยวกับแผนการรักษา
ตัวอย่างเช่น มีเคสหนึ่ง ผู้ป่วยหนักในมณฑลเจียงซูซึ่งต้องถูกสวมเครื่องช่วยหายใจ ส่วนอาการอื่นๆ คือมีไข้สูง ท้องอืด และท้องผูก แพทย์ TCM จะทำการเยียวยาอาการอยางหลังเพื่อเพิ่มพลังงานโดยรวมให้กับผู้ป่วยเพื่อให้อาการโดยรวมไม่ทรุดลงและช่วยให้เขาได้รับออกซิเจนจากเครื่องช่วยหายใจได้ดีขึ้น
"โดยรวมแล้ว การประสาน TCM กับยาตะวันตกและการใช้ TCM ตลอดกระบวนการบำบัด มีบทบาทมากในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผลการทดสอบกรดนิวคลีอิกจากบวกกลายเป็นลบ" จาง จงเต๋อ กล่าว
เย่ หย่งอาน (Ye Yong'an) แพทย์จากโรงพยาบาลตงจื๋อเหมินแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์จีนแห่งปักกิ่ง กล่าวว่าการให้ออกซิเจนและยาต้านไวรัสมีบทบาทสำคัญในการรักษาตลอดการแพร่ระบาดก็จริง แต่เมื่อรวมกับ TCM แล้วสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก (2)
อีกหนึ่งตัวอยางของการผสานอย่างกลมกลืนระหว่างแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนตะวันตก คือจากรายงานของสำนักข่าว Xinhua มีโรงพยาบาลเพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เริ่มหายแล้วที่โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนแห่งเขตลี่สุ่ย เมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู โจว ไห่เซิน (Zhou Haisen) คณบดีบริหารของโรงพยาบาลกล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์กักกัน 14 วัน และได้รับการบำบัดติดตามผลโดยใช้การแพทย์แผนจีน (3)
นี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจมาก เพราะการรระบาดระลอกเดลต้าที่รุนแรงที่สุดที่เริ่มต้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมในจีนเริ่มต้นที่เมืองหนานจิง และหนานจิงมีความท้าทายมากในการควบคุมไม่ให้เดลต้าแพร่กระจาย เพราะมีประชากรถึง 9.3 ล้านคน แต่พอถึงสิ้นเดืนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคมจำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่งต่อเนื่อง
อีกคลัสเตอร์หนึ่งที่มีการระบาดรุนแรงหลังจากเชื้อหลุดเข้ามาที่หนานจิง คือที่จางเจียเจี้ย มณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของจีนและเกิดการระบาดหนักเพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากไปที่นั่นช่วงที่เดลต้าหลุดเข้ามาพอดี ทางการจีนก็พึ่งพา TCM เพื่อควบคุมการระบาดที่นี่เช่นกัน
เพื่อควบคุมไม่ให้คลัสเตอร์นี้กระจายตัวไปตามนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้จัดหาที่พักและอาหารฟรีสำหรับผู้มาเยือนที่ติดค้าง และจัดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อทำการทดสอบกรดนิวคลีอิกสำหรับนักท่องเที่ยวที่โรงแรม มณฑลหูหนานยังจัดผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนเพื่อพัฒนาโปรแกรมการรักษาเฉพาะแบบสำหรับผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยปานกลาง ผู้ป่วยไม่รุนแรง และผู้ที่ไม่แสดงอาการตามลำดับ (4)
เมื่อถึงกลางเดือนสิงหาคม ก็ไม่พบผู้ป่วยใหม่ที่จางเจียเจี้ยและมณฑลหูหนานอีก ในวันที่ 17 สิงหาคม มณฑลหูหนานจึงได้ปรับลดระดับสถานะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือสูงทั้งหมด หลังจากที่มณฑลนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ แต่ยกเว้นในเมืองจางเจียเจี้ยที่ยังไม่ลดระดับสถานะพื้นที่เสี่ยง
จากความสำเร็จในการควบคุมการกระจายตัวของเชื้อเดลต้าที่รวดเร็ว บทบาทของ TCM จึงเป็นที่จับตามากขึ้น อย่างที่เกริ่นไปช่วงต้นว่าสื่อของทางการจีนพยายาม "โฆษณา" ความสำเร็จนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในบางครั้งก็ยกเอาคำพูดของผู้นำประเทศมาสนับสนุนการส่งเสริม TCM เช่น คำกล่าวของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่ระบุว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนจีน (TCM) ควรเพิ่มความเชื่อมั่นของประเทศ ทำงานเพื่อเร่งปรับปรุงอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนให้ทันสมัย และแนะนำ TCM ให้โลกได้รับรู้" (5)
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มีการนำเสนอบทความเรื่อง “การแพทย์แผนจีนสำหรับการรักษาโควิด-19” เขียนโดยอาจารย์สามคนที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเฮยหลงเจียง เมืองฮาร์บินระบุว่า “จำนวนผลการปฏิบัติทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนจีนมีบทบาทสำคัญในการรักษา โควิด-19 ทำให้เกิดความหวังใหม่ในการป้องกันและควบคุมโควิด-19” และผู้เขียนแนะนำให้ใช้ยาต้ม Qingfei Paidu โดยเฉพาะพร้อมกับระบุว่ามีอัตราการรักษา "มากกว่า 90%"
จากการอ้างความสำเร็จนี้ ผู้เขียนบทความจึงระบุว่า "สำหรับผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงและผู้ป่วยทั่วไป การแทรกแซงระยะต้นโดยใช้ TCM สามารถป้องกันโรคจากการเปลี่ยนเป็นโรครุนแรงและร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่รุนแรง TCM ยังช่วยซื้อในการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการช่วยให้อาการดีขึ้น”
พวกเขาจึงแสดงวิสัยทัศน์ว่า “ในงานป้องกันและควบคุมโควิด-19 ครั้งต่อไป ควรให้ความสำคัญกับข้อดีของ TCM ในการแยกแยะกลุ่มอาการและผลการรักษาทั้งหมด ลดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต” (6)
เราจะเห็นได้เมื่อจีนต้องควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดอีกครั้ง จีนก็นำ TCM มาใช้อย่างจริงจังมากจนกระทั่งช่วยลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ ที่สำคัญคือมันอาจจะมีส่วนทำให้จีนควบคุมการระบาดของเดลต้าได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่แทบจะควบคุมเดลต้าไม่ได้ในระยะสั้น
อ้างอิง
1. "TCM can help halve COVID-19 death rate: report". (2021-05-10). Xinhua.
2. "TCM plays big role in tackling Delta strain" ( 2021-08-19). Wang Xiaoyu | CHINA DAILY.
3. "Rehabilitation hospital for cured COVID-19 patients opens in China's Nanjing". (2021-08-04). Xinhua.
4. "Risking no lives, China's anti-virus approach shows nation's priority". (2021-08-17). Xinhua.
5. "Xi Focus: Xi supports and values work of Chinese medical workers". (2021-08-19). Xinhua.
6. "Special Report – TCM and COVID-19: in need of further research". (2021-08-1). João Paulo Meneses. Macau Business
ภาพ Kristoffer Trolle / commons.wikimedia
- 82 views