รพ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมท้องถิ่นเดินหน้าระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน-ในชุมชน ช่วยบริหารจัดการเตียงได้ดียิ่งขึ้น ประชาชนเข้าถึงได้ครอบคลุม ใช้ Telemedicine ติดตาม-วาง Fast Track ให้ผู้มีอาการ
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 4 สระบุรี พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะ เข้าเยี่ยมชมโมเดลการดำเนินงานระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในชุมชน (Community Isolation: CI) แบบครบวงจร ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง นั้นมีสภาพคล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่มีทั้งแหล่งการค้า ชุมชนแออัดต่างๆ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ใน กทม. มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนเกินศักยภาพการรองรับ และเริ่มมีการปรับนโยบายดูแลแบบ HI-CI ทาง รพ.พระนครศรีอยุธยา จึงเป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัดแห่งแรกๆ ที่เริ่มเดินหน้าจัดทำระบบ HI-CI เพื่อรองรับไปพร้อมกัน
“เราเริ่มเห็นว่ามีคนไข้โควิดจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษา และเชื่อว่าจะมีตามมาเพิ่มอีกเรื่อยๆ เมื่อ กทม.ประกาศทำ HI-CI เราจึงเริ่มทำด้วยเลย โดยที่ไม่ต้องรอให้มีประกาศของทางต่างจังหวัด ซึ่งในช่วงแรกก็เจอปัญหาติดขัดอยู่มากในระบบการจัดการ แต่ก็ค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้น พร้อมกับที่ สปสช.เริ่มมีประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับ จนปัจจุบันเชื่อว่าทางโรงพยาบาลสามารถกุมผู้ป่วยในพื้นที่ อ.เมือง ให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้มากกว่า 90%” ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา ระบุ
นพ.โชคชัย กล่าวว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาได้ให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 3,000 คน ทั้งใน รพ.สนาม Hospitel รวมถึงในระบบ HI-CI โดยมีการจัดการที่สามารถเริ่มส่งอาหารถึงบ้านผู้ป่วยในระบบ HI ของโรงพยาบาลได้ภายในไม่เกิน 2 วัน รวมถึงมีการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่สามารถจัดให้ผู้ป่วยที่จำเป็นได้เลย ภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องรอขั้นตอนการส่งข้อมูลเข้าโรงพยาบาลที่อาจต้องใช้เวลาออกไปอีก 1-2 วัน
พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเข้าสู่ระบบ HI นั้นจะต้องเอกซเรย์ปอดก่อนเพื่อคัดกรองว่าไม่มีแนวโน้มอาการหนักในอนาคต จากนั้นก็ให้ยาไว้ที่บ้านสำหรับรักษาตามอาการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ รวมทั้งมีถุงยังชีพและส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ ด้วยการจ้างเหมาจากร้านค้าในพื้นที่ให้รับผิดชอบส่งถึงบ้านผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและเที่ยง โดยตอนเที่ยงจะรวมมื้อเที่ยงและมื้อเย็นไว้ด้วยกัน
พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการติดตามดูแลอาการผู้ป่วย HI ทางโรงพยาบาลใช้ Telemedicine ผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Covid Tracker ซึ่งผู้ป่วยจะใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย และเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วที่ได้รับแจกไป เพื่อวัดค่าต่างๆ แล้วส่งข้อมูลกลับมาให้ทางโรงพยาบาลวันละ 2 ครั้ง ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ร่วมกับแบบฟอร์มในโปรแกรมที่ให้ผู้ป่วยบันทึกข้อมูลตามอาการ เช่น อาการไข้ แน่นหน้าอก อุณหภูมิ ชีพจร ออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
“เมื่อข้อมูลวิ่งมาโรงพยาบาลก็จะประมวลผลจัดหมวดหมู่ไว้ หากใครมีอาการผิดปกติระบบก็จะแจ้งเตือน ทำให้โรงพยาบาลสามารถมอนิเตอร์คนไข้ได้ในจำนวนมากๆ เพราะระบบประมวลผลให้เป็นหมวดหมู่และรวดเร็ว ซึ่งเมื่อระบบแจ้งเตือนแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะโทรกลับไปสอบถามอาการ โดยอาจให้วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนให้ดู ถ้ามีความผิดปกติโรงพยาบาลก็จะส่งรถไปรับ และมี Fast Track ให้ ไม่ปะปนกับคนไข้อื่นๆ และถ้าต้องนอนโรงพยาบาลก็จะเตรียมเตียงไว้ให้” พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว
พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากระบบการติดตามอาการผู้ป่วยและการบริหารจัดการเตียงแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการคือความเข้มแข็งของเครือข่ายปฐมภูมิในพื้นที่ โดยโรงพยาบาลทำงานร่วมกับทีมหมอครอบครัว และ รพ.สต. ในการติดตามดูแลผู้ที่รักษาตัวที่บ้าน ว่ามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือใดหรือไม่ ขณะเดียวกันเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิก็จะช่วยทำความเข้าใจกับชุมชน เพราะผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้านอาจถูกชุมชนรังเกียจ กลัวว่าจะติดเชื้อตาม จึงต้องลงไปพูดคุยและทำให้ชุมชนมีความเข้าใจมากขึ้น
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้ระบบ HI ก้าวเข้ามาเป็นคำตอบสำหรับการดูแลผู้ป่วยในขณะนี้ ช่วยเพิ่มปริมาณเตียงจำนวนมาก และทำให้ผู้ป่วยได้รักษาตัวเองและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาที่บ้านได้ก็จะมี CI เป็นคำตอบ ด้วยการดำเนินงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี และมีการรองรับในกรณีอาจเกิดอาการรุนแรงใดๆ
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการเร่งแก้ปัญหาที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยตกค้างนับหมื่นรายลดลง และผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เข้าสู่ระบบดูแลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สปสช. ยังได้เปิดรับสมัครคลินิกทั่วประเทศที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมถึงคลินิกเสริมความงาม ในการเข้ามาร่วมให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านเพิ่มเติม รวมถึงการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อคัดกรองประชาชนให้ได้มากขึ้นด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 547 views