บอร์ด สปสช. มีมติจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมให้หน่วยบริการ 10 บาทต่อครั้ง ในการช่วยกระจาย ATK ให้ประชาชนใช้ตรวจโควิดด้วยตัวเอง รับหน้าที่ให้คำแนะนำการใช้-ติดตามผล-พาเข้า Home Isolation หากติดเชื้อ พร้อมเห็นชอบหลักการดูแลผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยใน หนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 มีมติเห็นชอบปรับการจ่ายชดเชยบริการสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับการกระจายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ให้กับหน่วยบริการเพื่อกระจายหรือแจกไปยังประชาชนให้ตรวจโควิดด้วยตนเอง

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้บอร์ด สปสช. ได้มีมติเพิ่มชุดตรวจโควิด ATK วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท ในแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2564 และจ่ายให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ (เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี) ดำเนินการจัดหาเพื่อสนับสนุนชุดตรวจให้แก่หน่วยบริการในเครือข่ายและประชาชนนั้น

อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะค่าอุปกรณ์ชุดตรวจ ดังนั้นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาล บอร์ด สปสช.จึงมีมติจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับกระจายชุดตรวจ ATK ไปยังประชาชน ในอัตรา 10 บาทต่อครั้งบริการ ภายใต้วงเงินประมาณ 85 ล้านบาทจากงบค่าบริการโควิด-19 ซึ่งจะเริ่มจ่ายภายหลังที่มีการกระจายชุดตรวจไปยังประชาชนแล้ว

ทั้งนี้ อัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะครอบคลุมกิจกรรมบริการ ได้แก่ 1. การขอ Authentication code หรือการยืนยันตัวตนของประชาชนก่อนรับแจกชุดตรวจโควิด ATK ตามแนวทางที่ สปสช.กำหนด 2. ให้คำแนะนำในการใช้ชุดตรวจ 3. ติดตามผลตรวจ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด 4. กรณีผู้ติดเชื้อ จัดระบบให้เข้าสู่การดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือที่ชุมชน (Community Isolation : CI)

“กรอบวงเงินนี้เป็นการสนับสนุนกรณีที่จะกระจาย ATK ให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจโควิดด้วยตนเอง ส่วนวิธีการกระจายขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ เบื้องต้นคือกระจายผ่านหน่วยบริการไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล รพ.สต.ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยา หรือแม้แต่การส่งทางไปรษณีย์หรือให้ Rider ขับไปส่ง โดยเน้นในพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดมากๆก่อน หากตรวจแล้วผลเป็นบวกประชาชนจะต้องติดต่อกลับมาให้หน่วยบริการดังกล่าวพาเข้าระบบ Home Isolation ดังนั้นเราจึงมีงบประมาณสนับสนุนให้เนื่องจากหน่วยบริการจะมีภาระงานเพิ่ม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยโรคไต จากข้อมูลของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคไตที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องรับบริการล้างไตด้วยการฟอกเลือดนั้น มีปัญหาไม่สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดได้ จึงมีข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อขอจ่ายชดเชยเพิ่มเติม ได้แก่ 1. ชุดตัวกรองเลือดแบบใช้ครั้งเดียว 2. อุปกรณ์ป้องกันฯ (PPE) สำหรับบุคลากร 3. ค่าบุคลากรการดูแลผู้ป่วยฯ

ทั้งนี้ บอร์ด สปสช. จึงได้พิจารณาและเห็นชอบหลักการให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรับบริการฟอกเลือดทุกราย เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยใน (IPD) เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต โดยจะเบิกจ่ายจากงบค่าบริการโควิด-19 ส่วนกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถให้บริการแบบผู้ป่วยในได้ สปสช.จะมีการปรับการจ่ายต่างๆ ได้แก่ 1. แยกค่าใช้จ่ายสำหรับตัวกรอง รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ แบบใช้ครั้งเดียว (Single use) ออกจากรายการค่าใช้จ่ายปกติ โดยเสนอเพิ่มรายการในแผนและวงเงินการจัดหาฯ ปี 2564
และต่อเนื่องไปปี 2565 เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี จัดหาและกระจายไปยังหน่วยบริการ

2. เพิ่มการจ่ายค่าชุดอุปกรณ์ป้องกันฯ (PPE) สำหรับบุคลากร 3. เพิ่มการจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย รวมค่าทำความสะอาด นอกจากนี้ยังจะมีการทบทวนระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยร่วมให้บริการล้างไตด้วยการฟอกเลือดให้มากขึ้น

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org