คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย พร้อมออกมาตรการรองรับ เตรียมเสนอ ศบค.พิจารณา ขณะเดียวกันเตรียมเสนอผลประเมินมาตรการหลังสิ้นสุดล็อกดาวน์ 31 ส.ค. 2564 พร้อมเปิดประเทศหรือไม่! ด้านอธิบดี คร. ชี้เปิดประเทศไม่ใช่เปิดทั้งหมด อาจเป็นพื้นที่ ยกตัวอย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่วนผู้ทรงฯ คร. ย้ำนโยบายเปิดปท. ต้องอิงสถานการณ์ หากทำได้ตามมาตรการควบคุมโรคพร้อมผ่อนคลายฟื้นฟูประเทศต่อไป

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 23 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติผ่านระบบออนไลน์ ว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8 โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิดในไทย โดยเฉพาะช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มยังมีผู้ป่วยสูงแต่คงตัว ซึ่งแนวโน้มเริ่มลดลง จากจุดสูงสุด 23,000 ราย เหลือ 17,000 ราย และรักษาหายมากกว่า 22,000 ราย เนื่องจากมาตรการต่างๆ ทั้งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่แดงเข้ม รวมถึงการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และรักษาที่บ้าน รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 5-6 แสนโดส ขณะนี้ฉีดแล้ว 27 ล้านโดส และผู้ที่รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มคิดเป็นร้อยละ 28

 

00 คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้ควบคุมโรคแนวใหม่

นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้หารือประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ซึ่งมติต่างๆที่ออกมาจะนำเสนอ ศปก.ศบค. และมติใดสำคัญเชิงนโยบายจะต้องแจ้งต่อ ศบค.ต่อไป ซึ่งการทำงานจะสอดคล้องกัน โดยประการแรก คือ มาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ ที่เรียกว่า Smart Control and Living with Covid-19 เป็นการเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านจากภาวะวิกฤตที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้มีผู้ป่วยไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขจะรองรับ โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่จะให้เราเรียนรู้ว่า โควิดจะเป็นโรคประจำ โดยกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

1.การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง รวมถึงมีการพัฒนาการหาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจรในประเทศไทย

2. Universal Prevention คือ การป้องกันโรคในทุกกรณี ทุกโอกาส มีแนวคิดว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการรับเชื้อ และการแพร่เชื้อ ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการเดิมที่เราใช้กัน คือ D-M-H-T-T โดย D : Distancing คือ เว้นระยะห่าง M : Mask Wearing คือ สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing คือ ล้างมือบ่อย ๆ T : Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ"

3.การทำงานเชิงรุกด้วยหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเยี่ยมบ้าน ที่เรียกว่า CCRT ลงไปในพื้นที่กทม.ปริมณฑลและพื้นที่ระบาดอื่นๆ เพื่อทำการคัดกรองเชิงรุก การตรวจโควิดเบื้องต้น ATK และการฉีดวัคซีนโควิดกับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้การควบคุมโรคแนวใหม่ และให้ดำเนินการในรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงให้นำเสนอ ศปก.ศบค. เพื่อนำเสนอ ศบค.เห็นชอบในการใช้ต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เรื่องที่สอง เป็นการเห็นชอบมาตรการ 'บับเบิลแอนด์ซีล' (Bubble & Seal) ในโรงงาน และสถานประกอบกิจการต่างๆ ต้องมีมาตรการเข้มงวด อย่างที่นำเรียนการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ประการแรกเรื่องวัคซีน เรื่องที่สอง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคทุกกรณี และอีกอย่าง คือ มาตรการขององค์กรต่างๆ อย่างที่ทราบว่าการแพร่ระบาดโควิดที่จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มก้อนจะเกิดในสถานที่มีคนมารวมตัวกัน เช่น โรงงาน สถานประกอบการ เป็นต้น ดังนั้น สถานประกอบกิจการต่างๆต้องมีมาตรการเข้มงวด ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งมีการดำเนินการไปหลายพื้นที่ โดยต้นแบบ คือ จ.สมุทรสาคร รวมทั้งขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มดำเนินการ ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ โดยไม่ต้องปิดโรงงาน คนงานยังทำงานต่อไปได้

“ที่ประชุมเห็นชอบหลักการ บับเบิลแอนด์ซีล ซึ่งเดิม ศบค. เห็นชอบไปแล้ว แต่วันนี้ได้เพิ่มกลไกการสื่อสารให้เข้าใจ มีคู่มือ มีแนวปฏิบัติชัดเจน มีระบบพี่เลี้ยง มีการติดตามประเมินผล รวมถึงให้บูรณาการหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ” นพ.โอภาส กล่าว และว่า เรื่องที่สาม เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเรื่องการแจ้งกำหนดวันเวลา สถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และเรื่องการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับพาหนะที่จะเข้ามาในประเทศไทยทั้งทางบก อากาศ ด่านเรือ ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เรื่องที่ สี่ คือ ที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้มีผู้แทนสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดร่วมอยู่ในคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3/2564 เนื่องจากการควบคุมโควิดได้ดี สิ่งสำคัญต้องมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย โดยตัวแทนภาพประชาชนในพื้นที่จะร่วมกันทำงานในพื้นที่ของตน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้นำร่องในพื้นที่นครปฐม ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจึงเห็นชอบเรื่องนี้ และเรื่องที่ห้า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ รับทราบมติคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เห็นชอบให้ผู้เดินทางที่จะเข้าภูเก็ตแซนด์ บ็อกซ์ ที่ได้รับวัคซีนตามองค์การอนามัยโลกกำหนด และวันนี้เห็นชอบเพิ่มเติมกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีน สปุตนิก ไฟว์ ให้ได้เข้าโครงการภูเก็ตแซนด์ บ็อกซ์ได้

 

00เปิดประเทศต้องพิจารณาสถานการณ์ หากเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคก็สามารถผ่อนคล้ายฟื้นฟูประเทศได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากมาตรการต่างๆ แสดงว่าไทยพร้อมแล้วใช่หรือไม่ในการเปิดประเทศ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดประเทศและการควบคุมโรคต้องอิงสถานการณ์ ซึ่งในวันนี้จะมีมาตรการควบคุม เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้เราได้เตรียมการและได้วางแผน โดยทั้งหมดต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมโรคที่เสนออย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถเปิดประเทศได้ตามแผนกำหนด ซึ่งหากสามารถทำได้ตามมาตรการควบคุมโรคก็จะสามารถผ่อนคลายและฟื้นฟูประเทศได้

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค

00 รอประเมินหลังสิ้นสุดล็อกดาวน์ 31 ส.ค.นี้

ขณะที่ นพโอภาส กล่าวว่า ล็อกดาวน์จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค. 2564 คำถามว่าหลังล็อกดาวน์จะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ นพ.ทวีทรัพย์ ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ หลังจากนี้ ตั้งแต่ ก.ย. จนถึงปลายปี และปีหน้า หากจะเปิดให้ประชาชนคลายล็อกกิจกรรมต่างๆ ต้องมีอะไรบ้าง หลักๆ คือ 1. ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามแผน 2. ตรวจคัดกรองตามจุดเสี่ยงต่างๆอย่างเข้มงวด และใช้ชุดตรวจโควิดอย่างง่าย คือ ATK 3. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการทำมาตรการต่างๆ อย่างที่เรียกว่า Universal Prevention ต้องทำอย่างไร ซึ่งจะมีการขยายความประเด็นนี้อีกครั้ง หลักๆก็มี D-M-H-T-T และมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล รวมทั้งการประเมินมาตรการสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยว่า ต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ จะต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กลยุทธ์และมาตรการหลายส่วนประกอบกัน

ผู้สื่อข่าวถามแสดงว่าหลังวันที่ 31 ส.ค. จะมีการประเมินอีกครั้งว่าจะผ่อนคลายหรือเปิดประเทศอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินเป็นระยะ ทั้งเรื่องสถานการณ์และมาตรการต่างๆ และทุกเรื่องต้องรายงานเสนอ ศปก.ศบค.ให้เห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดมาตรการข้อกำหนดต่างๆ เป็นอย่างไรขอให้นำเข้าศปก.ศบค.ให้ทราบก่อน แต่จะมีแนวกำหนดไว้ ทั้งการฉีดวัคซีนปริมาณเท่าไหร่อย่างไร ขอนำเสนอศปก.ศบค.ก่อน

เมื่อถามว่าการเปิดประเทศไม่ได้หมายความว่า เปิดทั้งประเทศใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีการเปิดประเทศเป็นไปตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปิดทั้งประเทศ แต่จะเป็นพื้นที่ ยกตัวอย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ดังนั้น เป้าหมาย 120 วันทางกระทรวงสาธารณสุขยังรับนโยบายท่านนายกฯ แต่ก็ต้องพิจารณา เพราะยังมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกเยอะ เช่น ช่วงประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วันยังไม่มีเดลตามาระบาด ซึ่งหลายประเทศเมื่อเจอสายพันธุ์นี้ก็มีการติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังต้องอยู่ในการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : แพทย์รามาฯเผยเปิดประเทศใน 120 วัน ต้องได้วัคซีนแอสตร้าฯ 20 ล้านโดส ต.ค.นี้

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org