กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์ติดเชื้อแนวโน้มทั่วโลกพุ่งทะยาน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่ เหตุฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศไทยเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง พร้อมเผยข้อมูลกลุ่มไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ ภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้นมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 140 ต่อล้านคน ขณะที่กลุ่มฉีดวัคซีนครบแต่เสียชีวิต มีอัตราต่างกัน 30 เท่า พบ 4.4 ต่อล้านคน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 ส.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ประเด็นสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และการติดตามการฉีดวัคซีน โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่า ภาพรวมระดับโลกจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยทั่วโลกมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเดลตา แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม แต่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเล็กน้อย แตกต่างจากอดีต เมื่อดูรายละเอียดแต่ละประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบ 24 ชั่วโมงประมาณ 6.5 แสนราย โดยสหรัฐพบมาก แม้จะมีการฉีดวัคซีนมาก แต่ก็มีการติดเชื้อได้ นอกนั้น มีอินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แม้ตัวเลขผู้ป่วยมากกว่า 2 หมื่นราย แต่เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนสูง ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่มาก ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงมีผลในการป้องกันการเสียชีวิตได้

00 กทม.ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 4 พันราย

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 20,571 ราย และเสียชีวิตรายใหม่ 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเสียชีวิตกับที่ตกค้างมารวมด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2 หมื่นราย มีแนวโน้มว่าจะไม่พุ่งทะยานต่อ โดยข้อมูลนี้แสดงให้เห็นการติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล ซึ่งตกวันละ 8 พันกว่าราย หรือคิดเป็น 72% ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด ซึ่งแนวโน้มค่อนข้างคงที่มาหลายวัน อย่างกรุงเทพมหานคร รายงานวันหนึ่งประมาณ 4 พันกว่าราย เช่นวันนี้(21 ส.ค.) 4,342 ราย สมุทรปราการ 1,584 ราย ส่วนสมุทรสาครอีก 1,449 ราย ขณะที่ชลบุรีแม้ตัวเลข 1,235 ราย แต่ตัวเลขน้อยลง ที่เหลือเป็นจังหวัดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึง 1 พันราย

00 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสูงอายุ-โรคเรื้อรัง วันนี้พบหญิงตั้งครรภ์และผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยเสียชีวิตโควิด

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต 261 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง โดยพบทั้งสัญชาติไทย 250 ราย เมียนมา 6 ราย กัมพูชา 2 รายลาว จีน และเบลเยี่ยมอย่างละ 1 ราย โดย 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง รวม 2 กลุ่มประมาณ 87% นอกนั้นไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง แต่มีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และมีผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งไม่มีประวัติฉีดวัคซีน ส่วนปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว มีโรคอ้วน โรคไต และมีผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยเสี่ยงจากแหล่งโรคทำให้ติดเชื้อ โดยติดจากพื้นที่ระบาดมากที่สุด 235 ราย ติดจากคนรู้จัก เพื่อนบ้าน 97 ราย ติดเชื้อจากครอบครัว 24 ราย ที่เหลืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง 114 ราย โดยจำนวนผู้เสียชีวิต 261 รายพบว่าเดิมกทม.มาก แต่ขณะนี้เหลือครึ่งหนึ่ง โดยกทม. 88 ราย พื้นที่รอบๆกทม.ปริมณฑล 53 ราย ที่เหลือพบในจังหวัดชายแดนใต้ 24 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ที่เหลือภาคเหนือและภาคกลาง

00 ย้ำ! ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรณีผลการศึกษา : ผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนที่มีการรายงานโดยกรมควบคุมโรค โดยเป็นกรณีซิโนแวค 2 เข็ม ซึ่งมีการประเมินกันทุกเดือน พ.ค. มิ.ย. และก.ค. ส่วนข้อมูล ส.ค. อยู่ระหว่างรวบรวม ซึ่ง 3-4 เดือนที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนซิโนแวคป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 72% โดยเฉลี่ย ซึ่งภาพรวมคนได้วัคซีนยังได้ประโยชน์สูงอยู่

ส่วนการศึกษาผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ข้อมูลในต่างประเทศป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 70-80% ส่วนข้อมูลไทย จากการศึกษากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.2564 หากดูจากผลลัพธ์การป่วยหนักและเสียชีวิต เปอร์เซ็นต์ยังพบค่อนข้างสูง อย่าง พ.ค. พบ 84% ส่วนมิ.ย. 93% และก.ค. ป้องกันได้ 85% สรุปคือตั้งแต่ 80-90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การฉีดแอสตร้าฯ ยังได้ประโยชน์สูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องฉีด 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้จะเป็นช่วงของประชาชนที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มสอง

00 ไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ ภูมิยังไม่ขึ้น พบอัตราเสียชีวิตสูง 140 ต่อล้านคน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศิริราชพยาบาล ในเรื่องการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์เดลตา โดยในส่วนการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า สร้างภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งในบรรดาสองเข็มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวคกับซิโนแวค แอสตร้าฯ กับแอสตร้าฯ หรือซิโนแวคกับแอสตร้าฯ ก็ล้วนสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงอยู่ และเมื่อดูข้อมูลประสิทธิผลการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต จะเห็นว่าคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบสองเข็มมี 26 ราย เมื่อคิดอัตราการเสียชีวิตต่อคนฉีดวัคซีน 100 คน อยู่ที่ 4.4 ต่อล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดวัคซีนและเสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ขณะนี้ โดยกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือยังฉีดไม่ถึง 14 วัน ซึ่งภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 140 ต่อล้านคน ต่างกันประมาณ 30 เท่า

“จึงอยากชวนทุกคนในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังให้รีบฉีดวัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าสูตรใดก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้เร็วและสูง” นพ.โสภณ กล่าว

00 ตรวจ ATK กทม.พบเชื้อแนวโน้มลดลง

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลการตรวจด้วยชุดแอนติเจน เทสต์ คิท ATK วันที่ 20 ก.ค.-20 ส.ค. โดยกทม.มีการตรวจมากที่สุด ซึ่งเปอร์เซนต์การพบเชื้อค่าเฉลี่ยเมื่อวานนี้อยู่ที่ 5 % ดังนั้น การตรวจพบเชื้อมีแนวโน้มลงลงเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา