สถาบันพระบรมราชชนก เปิดอบรมพยาบาลหลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตระยะสั้น เสริมความรู้ภาคทฤษฎีและทักษะภาคปฏิบัติ ใช้เวลา 1 เดือนจะมีพยาบาล 1,165 คน พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการหนักทั่วประเทศ

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรการอบรมระยะสั้นทางการพยาบาล : การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (หลักสูตร 1 เดือน ) ผ่านระบบวิดีโอทางไกล กับวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 27 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมพิธีเปิดการอบรม

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะนี้ทำให้สถานบริการต้องเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก ต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรพยาบาลที่เป็นกำลังสำคัญดูแลผู้ป่วยวิกฤติ จึงได้ให้สถาบันพระบรมราชชนก จัดอบรมหลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตระยะสั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการพยาบาลให้มีทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ป่วยและญาติได้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

“อีก 1 เดือนนับจากนี้ พยาบาลที่จบการอบรม จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ ในระยะวิกฤตให้มีความปลอดภัย เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ความมั่นใจว่าพยาบาลกลุ่มนี้ทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความปลอดภัย” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันพระบรมราชชนกได้สนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นเพื่อให้พยาบาลได้พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต คู่ขนานไปกับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะอาการหนักหรือเสียชีวิต หากเกิดการติดเชื้อโควิด 19

ทั้งนี้การจัดอบรมระยะสั้นทางการพยาบาล “หลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต” (หลักสูตร 1 เดือน) โดยคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เป็นการจัดอบรมทั้ง ภาคทฤษฎีแบบออนไลน์ และภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 17 กันยายน 2564 กลุ่มเป้าหมาย คือ พยาบาล ผู้ปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตในหอผู้ป่วยสามัญ (Cohort ward) หอผู้ป่วยแยกโรคและไอซียู ที่คัดเลือกจากสถานบริการสังกัดต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร สภากาชาด เป็นต้น รวม 1,165 คน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นวิทยากรให้ความรู้