เนื่องจากระบบสาธารณสุขไม่สามารถแบกรับจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ทั้งหมด การกักตัวรักษาตัวที่บ้าน (Home-isolation) จึงตามมาและในระว่างการกักตัวก็ต้องมีการรักษาตัวเองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งบางประเทศมีการจัดเจ้าหน้าที่คอยไปตรวจอาการเป็นระยะหรือให้ผู้ป่วยรายงานด้วยตัวเองพร้อมๆ กับให้ยาไปรักษาตัวเองเรียกว่า การใช้ยารักษาตัวเอง (Self-medication)

อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้วิธีให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาตัวเอง แต่เป็นการรักษานอกระบบที่เกิดจากการปฏิบัติโดยผู้ป่วยเองโดนไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบสาธารณสุขล้นจนบุคลากรแพทย์แบกรับไม่ไหวจนมีรายงานว่าผู้กักตัวตามบ้านเรือนไม่มีแพทย์มาพบอยางที่ควรจะเป็น ภาวะการณ์เช่นนี้ บวกกับความตื่นตระหนกของชาวอินเดียทำให้เกิดการทำ Self-medication แบบผิดๆ ขึ้นในวงกว้าง

เมื่อสำรวจรายงานข่าวการทำ Self-medication ในอินเดียจะพบว่าเริ่มมีกระแสการทำแบบนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ในอินดียกำลังเลวร้ายอย่างที่สุด จากรายงานวันที่ 6 เมษายนพบว่า ผู้ป่วยโควิดในเดลีจำนวน 7,983 (55%) ถูกกักตัวอยู่บ้าน ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่แพทย์กล่าวว่าสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ต้องอยู่แยกที่บ้านก็คือต้องติดต่อกับแพทย์ในระหว่างการแยกตัว ไม่ว่าจะผ่านการปรึกษาทางไกลหรือการมาเยี่ยมเป็นระยะ แต่ปรากฎว่าผูเติดเชื้อใช้ยาด้วยตัวเองและเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงก็ก็รีบไปโรงพยาบาล (1)

ต่อมาในเดือนพฤษภาคมแพทย์คำเตือนเรื่องการใช้ยาด้วยตัวเองเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเพราะประชาชนเริ่มซื้อยามาใช้เองในวงกว้างมากขึ้น แพทย์จากสถาบัน Post Graduate Institute of Medical Education and Research (PGIMER) ในอินเดียได้เตือนว่า การให้ยาต้านไวรัส สเตียรอยด์ และยาปฏิชีวนะนอกเหนือจากการฉีดยาต้านไวรัส เช่น เรมเดซิเวียร์โดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจทำให้อาการโควิด-19 รุนแรงได้ (2)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ จีดี ปุรี (GD Puri) หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีแพทย์และการดูแลแบบเร่งรัด คณบดีคณบดีของ PGIMER สาขาเขตจัณฑีครห์กล่าวกับ Times of India ว่า "เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ย่อมมีความหวาดกลัวอยู่ในใจ ผู้ป่วยเริ่มวิ่งหายาเพื่อกำจัด โควิด 19" พร้อมกับชี้ว่า ยาเช่นสเตียรอยด์และการใช้เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) และอิโตลีจูมับ (Itolizumab) โดยไม่จำเป็นก่อให้เกิดอันตราย แทนที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยมันอาจเพิ่มความรุนแรงของโรคได้ (2)

ในเดือนพฤษภาคมเช่นกันที่แพทย์รายงานว่าผู้ป่วยตุนยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline), ไอเวอร์แมกติน (Ivermectin), เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) จนกระทั่งยาเหล่านี้ขาดตลาด และผู้ป่วยบางคนใช้ยาเหล่านี้ด้วยตัวเอง นอกจากจะทำให้ยาขาดตลาดแล้วยังเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองด้วย แพทย์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้

แพทย์เผยว่าหลังจากที่แพทย์จ่ายยาด็อกซีไซคลินในการรักษาโควิด-19 ยานี้ก็ขาดตลาด แม้แต่เมื่อแพทย์มีใบสั่งยาไปยังเภสัชกร เภสัชกรก็จ่ายยาให้ไม่ได้เพราะขาดตลาด และที่น่าวิตกก็คือผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์ก่อนที่ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจะลดลงต่ำกว่า 94 และเมื่อใช้สเตียรอยด์กับยาปฏิชีวนะแล้วอุณภูมิร่างกายจะลดลง ทำใผู้ป่วยคิดว่าไม่ต้องไปพบแพทย์แล้ว แต่มันจะทำให้พวกเขาต้องไปพบแพทย์ในภายหลังอยู่ดี (3)

เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม การใช้ยารักษาตัวเองของชาวอินเดียก็เริ่มแสดงให้เห็นว่าเป็นหายนะครั้งใหญ่ โดยมีรายงานว่าการใช้ยาโทซิลิซูแมบและสเตียรอยด์ที่หาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาแพทย์และจะลดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและการใช้ยาดังกล่าวโดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออาการ Covid-associated mucormycosis (CAM) หรือโรคราดำ ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มของเชื้อราที่เรียกว่า mucormycetes ซึ่งพบได้ทั่วไปในดิน อากาศ หรือในผลไม้ที่เน่าเปื่อย ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเมื่อสูดดมสปอร์ของเชื้อรา มีผลต่อไซนัส สมอง และปอด และเป็นอันตรายถึงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นเบาหวาน มะเร็ง และเอชไอวี/เอดส์ ยาที่ใช้รักษามีราคาแพงและขาดตลาดเนื่องจากมีความต้องการมากขึ้น (4)

จากรายงานของ Deccan Chronicle เมื่อต้นเดือนมิถุนายนระบุว่าการใช้ยาด้วยตนเองและการใช้ยาเกินขนาดเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโคโรนาไวรัส เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อราดำในรัฐอานธรประเทศควบคู่ไปกับการรักษาที่ผิดพลาดหลังการรักษาโควิด โดยมีมีรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อราดำสองสามรายที่สารภาพกับแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐว่าพวกเขาได้กินยาป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโคโรนาไวรัส และผู้ป่วยที่ติดเชื้อเหล่านี้บางรายได้ติดต่อแพทย์ส่วนตัวหรือนักต้มตุ๋นในท้องถิ่น และกดดันให้พวกเขาสั่งยาที่มีฤทธิ์รุนแรงรวมถึงสเตียรอยด์เพื่อใช้หลังจากพบอาการของโควิด โยที่ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการไปตรวจโควิด-19 หรือฉีดวัคซีน (5)

ผลจากการใช้ยากรักษาด้วยตัวเองจากการระบาดระลอกที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียอาจจะยังไม่ชัด แต่ในเดือนกรกฎาคมมีข้อมูลที่น่าสนใจเปิดเผยออกมาโดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคมใน PLOS Medicine ระบุว่าช่วงคลื่นลูกแรกของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ในอินเดียมีการขายยาปฏิชีวนะสูตรผสมที่ใช้ในผู้ใหญ่และวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ที่ใช้เกิน 38 ล้านโดสระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2563 ภาคส่วนในอินเดียและยาปฏิชีวนะที่ไม่ใช่สำหรับเด็กรวมกันเกิน 216 ล้านโดส โดยเป็นการจ่ายยา "เกิน" นั่นคือไม่จำเป็น (6) และยังไม่เห็นตัวเลขการใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงการระบาดใหญ่ที่สุดในอินเดียในปี 2564 ซึ่งน่าจะมีตัวเลขที่สูงมาก

ถึงแม้จะยังไม่มีตัวเลขออกมา แต่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างหนักของชาวอินเดียทำให้แพทย์บอกว่ามันคือ “หนึ่งในข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในช่วงการระบาดใหญ่” และถือเป็นการระบาดใหญ่ซ้อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะการใช้ยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้เชื้อดื้อยาและทำให้ผู้ป่วยต้องรักษาตัวนานขึ้น

นพ.สุรนชิต ฉัตรจี ที่ปรึกษาอาวุโส อายุรศาสตร์ โรงพยาบาล Indraprastha Apollo กรุงนิวเดลี กล่าวว่า Self-medication อาจเป็นอันตราย จากอาการป่วยเล็กน้อยแต่หากเลือกใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์โรคอาจถึงขั้นรุนแรงและยากต่อการรักษา นอกจากนี้ หากโรคติดต่อได้ ก็จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นด้วย พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการทำ Self-medication เช่น การวินิจฉัยโรคที่ไม่ถูกต้องและขั้นตอนการรักษาที่ไม่ถูกต้อง, ความล้มเหลวในการรับรู้ความเสี่ยงทางเภสัชวิทยาทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง, ปฏิกิริยาระหว่างอาหารและยา และผลกระทบทางจิตใจจากการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง (7)

ดร. รอมเมล ติกกู (Dr Rommel Tickoo) แพทย์ที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียได้เขียนบทความให้กับ The Print โดยสรุปสถานการณ์ความปั่นป่วนที่เกิดจากการทำ Self-medication แบบผิดที่ผิดทางเอาไว้ว่าเป็นผลมาจากความตื่นตระหนกและสับสนในหมู่ประชาชนที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ นำไปสู่การเชื่อถือข้อมูลที่ผิดๆ เกี่ยวกับยาและการใช้ยาด้วยตนเองเพิ่มขึ้

"ผู้คนถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านและตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาและมาตรการป้องกัน นอกจากนี้ คำแนะนำที่อาจมาจากเพื่อน ครอบครัว เพื่อนบ้าน เภสัชกร และใบสั่งยาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดรายอื่นๆ ทำให้ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นหายนะขึ้นมา" ดร. รอมเมล ติกกูกล่าว (8)

แล้วจะแก้ปัญหาความตื่นตระหนกอย่างไรดี? ดร. รอมเมล ติกกูย้ำว่า "จะต้องเชื่อหมอ" และหากผู้ป่วยต้องการปกป้องร่างกายตัวเองก็ควรจะใช้วิตามินซีและสังกะสี และรับประทานผลไม้ประเภทซิตรัส (เช่น ส้ม) และอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน จะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงผ่านการระบาดไปได้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วยของเขาที่ฝึกบังคับลมหายใจแบบโยคะหรือปราณยามะและออกกำลังกายแบบโยคะจะแข็งแรงขึ้นเนื่องจากสภาพจิตใจดีขึ้นและมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ดีขึ้น

"สิ่งที่เราต้องการคือการมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่สภาพแวดล้อมของความกลัว เพื่อเอาชนะโรคระบาดนี้" ดร. รอมเมล ติกกูกล่าว (8)

 

 

อ้างอิง

1. Jha, Durgesh Nandan. ( Apr 6, 2021). "Covid-19: Why self-medication in even mild cases is a no-no". Times of India.

2. Sehgal, Manjeet. (May 6, 2021). "Self-medication can increase Covid severity, warn doctors". India Today.

3. Banerje, Tamaghna. (May 13, 2021). "Kolkata: Stocking, self-medication trigger antibiotic shortage". Times of India.

4. "Self-medication linked to black fungus risk" (May 22, 2021). The India News Express.

5. "Self-medication for Covid prevention causes black fungus spread in Andhra Pradesh". (June 1, 2021). Deccan Chronicle.

6. Bagcchi, Sanjeet. (July 19, 2021). "COVID-19 boosted excess sale of antibiotics in India". SciDev.Net.

7. Choudhury, Disha Roy. (August 2, 2021). "‘One of the biggest mistakes during pandemic’: Doctors worry over injudicious antibiotic use in Covid patients". The Indian Express

8. Tickoo, Rommel. (May 24, 2021). "Self-medication for Covid has turned disastrous. Families must not assume doctors’ role". The Print.

 

ภาพ - MorgueFile/wikipedia.org