ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขแจงหลักเกณฑ์จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นรอบตามแผนที่วางไว้ เบื้องต้นส่ง 50-75% ก่อน หากต้องการเพิ่มหรือตกหล่นให้แจ้งเพิ่มได้เพื่อจัดส่งรอบถัดไป ขณะที่ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 รวมแล้ว 21 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์และการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยังโรงพยาบาลเพื่อฉีดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนด จากเดิมส่งวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ก็สามารถส่งล็อตแรกตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม โดยหลายพื้นที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งในการประชุมร่วมกับโรงพยาบาลในทุกสังกัด มีการวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะส่งวัคซีนเป็นรอบ ไม่ใช่ส่งไปในครั้งเดียว เพราะถ้าส่งไปครั้งเดียวก็จะเป็นจำนวนปริมาณสูง อาจมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บและการฉีดวัคซีนได้

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การจัดส่งวัคซีนยังพิจารณาจากฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมกับข้อมูลการสำรวจความต้องการวัคซีนไฟเซอร์ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าของแต่ละจังหวัด หากแจ้งมาต่ำกว่า 50% ของฐานข้อมูล จะจัดสรรให้เต็ม 50% เนื่องจากอาจมีผู้ต้องการรับวัคซีนเพิ่มเติม หากจำนวนสำรวจแจ้งมา 50-75% ของฐานข้อมูลจะส่งให้ตรงตามที่ขอ หากเกิน 75% ของฐานข้อมูลจะส่งให้เบื้องต้น 75% และจะมีการส่งวัคซีนเพิ่มเติม หากตกหล่นหรือต้องการเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลแต่ละจังหวัดติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, ส่วนโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ให้แจ้งสำนักอนามัย และคลินิกเอกชนใน กทม. ติดต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อรวบรวมเข้ามายังกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้การจัดส่งเติมเต็มในรอบถัดไป ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตามเกณฑ์ทุกราย ไม่มีการสูญหายไปไหน โปร่งใสตรวจสอบได้ ส่วนกรณีข่าวโรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ระบุว่าจัดส่งรอบแรกไปไม่เพียงพอตามจำนวน ก็มีการจัดส่งไปได้ครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ การเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะผสมน้ำเกลือตามที่บริษัทวัคซีนกำหนดเหมือนกันทุกประเทศ ไม่ได้ผสมน้ำแน่นอน และเนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์เก็บในอุณหภูมิแช่แข็ง -70 องศาเซลเซียสจะมีอายุใช้งานได้นาน เมื่อส่งถึงพื้นที่สามารถเก็บในตู้เย็นปกติได้ประมาณ 1 เดือน เมื่อออกมาอยู่ในอุณหภูมิห้องเพื่อผสมและเตรียมฉีด ต้องใช้งานภายใน 6 ชั่วโมง วัคซีน 1 ขวดฉีดได้ 6 คน หากฉีดไม่หมดในเวลา 6 ชั่วโมง เช่น มีคนมาฉีดไม่ถึง 6 คน จะเอาวัคซีนกลับไปแช่อีกไม่ได้ ต้องทิ้งวัคซีนที่เหลือทำให้เกิดความสูญเสีย จึงต้องบริหารจำนวนคนมาฉีดให้เหมาะสม

สำหรับจำนวนการวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 9 สิงหาคม 2564 รวม 21,171,110 โดส เป็นเข็มแรก 16,336,743 คน เข็มสอง 4,566,345 คน และเข็มสาม 268,022 คน วันที่ 9 สิงหาคมฉีดได้มากกว่า 5 แสนโดส ส่วนบางวันมีการฉีดมากฉีดน้อย มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายส่วน หากฉีดเข็มหนึ่งเต็มกำลัง เมื่อคนฉีดเข็มหนึ่งถึงรอบมาฉีดเข็มสอง อาจจะไม่มีวัคซีนก็จะเกิดผลเสีย จึงต้องบริหารให้มีวัคซีนฉีดเข็มสองไม่ขาดตอน ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนแบ่งเป็นซิโนแวค 10,269,135 โดส, แอสตร้าเซนเนก้า 9,230,417 โดส, ซิโนฟาร์ม 1,541,724 โดส และไฟเซอร์ 129,834 โดส

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org