“นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์” อธิบายหลังเผยแพร่ข้อมูลวิจัยฟ้าทะลายโจร จนมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจผิด และตัดบทความไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ว่ารักษาไม่ได้ ข้อเท็จจริงไม่ได้สื่อสารเช่นนั้น ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ย้ำ! “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้ฟ้าทะลายโจรว่า ข้อเท็จจริงแล้วมีประสิทธิผลในการช่วยผู้ป่วยโควิดอย่างไร สืบเนื่องจากมีการแชร์ข้อมูลของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว เปิดเผยผ่านhttps://drsant.com/ เกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรนั้น
โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว เปิดเผยผ่าน https://drsant.com/ ระบุว่า
เมื่อวานนี้ผมเล่าเรื่องคณะผู้วิจัยชาวไทย ที่ทำวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดได้ขอถอนต้นฉบับของตัวเองกลับออกมาจากเว็บไซต์งานวิจัยรอตีพิมพ์ ( medRxiv) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการคำนวณเชิงสถิติในประเด็นการคิดค่านัยสำคัญทางสถิติ (p-value) คิดไม่ถึงว่าจะมีผู้ตัดเอาบทความของผมครึ่งบรรทัดไปโพนทะนาผ่านทางหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดไม่ได้ผลเสียแล้วควรต้องเลิกใช้..ไปโน่นเลย ผู้คนก็พากันกระต๊าก กระต๊าก ต่อๆกันไป ซึ่งเป็นการตัดบทความของผมเอาไปแค่บรรทัดเดียวแล้วเอาไปกระเดียดที่ได้ผลแบบอะเมซซิ่งทิงนองนอยมากส์
ตัวผมเองไม่ถือสานะครับ เพราะเรื่องก็ดี ชื่อก็ดี ภาพของผมก็ดี มักมีคนชอบเอาไปทำยำใหญ่ใส่สาระพัดเป็นประจำอยู่แล้ว เอาไปขายยาสีฟันก็ยังเคยมีเลย หิ หิ ครั้งนี้ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่กลับมองเห็นเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้คนได้หันมาสนใจและพยายามทำความเข้าใจงานวิจัยทางการแพทย์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะได้ไม่ถูกคนกระเดียดข้อมูลให้ตื่นตกใจได้ง่ายๆ
ภาพประกอบบ https://drsant.com/
ขอย้อนไปเริ่มต้นที่สนามหลวงก่อนนะ
เมื่อมีโรคโควิด19 มา ได้มีการทำวิจัยในห้องทดลองที่ไต้หวันและในเมืองไทย แล้วสรุปผลได้ตรงกันว่าฟ้าทะลายโจรระงับยับยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุของโรคโควิด19ทั้งนอกเซลและในเซลได้ [1,2]
ต่อมาก็ได้มีการทดลองใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนกลุ่มเล็ก (case series) จำนวน 6 คน ซึ่งสรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้ (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน) สัมพันธ์กับการที่ไวรัสลดจำนวนลงและหมดไปจากตัว (viral shedding) ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ไม่ได้ตีพิมพ์ แต่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก [3]
ต่อมาพัฒนาการทางวิชาการในเรื่องนี้ก็แยกกันทำไปสองทาง ทางหนึ่งคือได้มีการทำวิจัยแบบย้อนหลังตามดู (retrospective cohort study) กลุ่มคนไข้โควิด19 ที่ได้รับการรักษาต่างกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ฟ้าทลายโจร 309 คน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้ฟ้าทลายโจร 526 คน แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 3 คน (0.9%) กลุ่มที่ไม่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 77 คน (14.64%) ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในรูปของรายงานสรุป (short communication) ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก [4]
อีกด้านหนึ่งก็มีการทำวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด19 ในรูปของการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นระดับหลักฐานชั้นสูงสุดของการวิจัยทางการแพทย์ รายละเอียดของงานวิจัยมีอยู่ว่าผู้วิจัยได้ใช้ผู้ป่วย 57 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 29 คน ให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วัน อีกกลุ่มหนึ่ง 28 คน ให้กินยาหลอก โดยใช้การเกิดปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่กินยาหลอกเกิดปอดอักเสบ 3 คน (10.7%) ขณะที่กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่เกิดปอดอักเสบเลย (0 คน) เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.039) ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ส่งผลไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ โดยเผยแพร่นิพนธ์ต้นฉบับล่วงหน้าในเว็บไซท์งานวิจัยรอการตีพิมพ์ (medRxiv)[5] แต่ต่อมาคณะผู้วิจัยพบความผิดพลาดในการคำนวณค่า p-value ว่าที่คำนวณได้ p = 0.039 นั้นผิดไป ที่ถูกต้องเป็น p = 0.1 จึงได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับกลับมาแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว
ผมได้เล่าเรื่องการขอถอนต้นฉบับกลับมาแก้ไขให้แฟนบล็อกฟัง และแจ้งเปลี่ยนข้อสรุปของผมเองที่เคยพูดว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19มีมากพอแล้วนั้น ผมต้องขอแก้ไขคำพูดใหม่ เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19ในคนยังมีไม่มากพอ (เพราะยังขาดงานวิจัยระดับ RCT) จึงต้องทำวิจัยซ้ำโดยการขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น เพราะการที่กลุ่มตัวอย่างเล็กได้ค่า p มากกว่า 0.05 ก็บอกได้แค่ว่ายังบอกไม่ได้ว่าความแตกต่างในผลการรักษา (คือการเกิดปอดบวม) ในทั้งสองกลุ่มมันต่างกันจริงหรือไม่ การจะรู้ได้ก็ต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้
ภาพประกอบจากอภัยภูเบศร
ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักแอะเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ฟังให้ดีนะ “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล”
ซึ่งยาคู่แข่งกันที่ใช้ในเมืองไทยอีกตัวคือ Favipiravir ก็มีข้อมูลน้อยประมาณเดียวกัน คือทุกอย่างติดอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือนับถึงวันนี้การใช้ Favipiravir แล้วจะทำให้ไวรัสโควิด19หายไปจากตัวเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ..รึก็เปล่า จะทำให้ใช้ออกซิเจนน้อยลง..รึก็เปล่า จะทำให้ต้องเข้าไอซียู.น้อยลง..รึก็เปล่า และที่สำคัญจะทำให้คนป่วยตายน้อยลง..รึก็เปล่า [6]
แต่ฟ้าทะลายโจรมันมีความพิเศษกว่า Favipiravir ตรงที่แค่ทำวิจัยซ้ำขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดเดียว ก็จะเห็นดำเห็นแดงแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เท่าที่ผู้รู้ทางสถิติคำนวณให้คร่าวๆ หากพิจารณาจากอัตราการเป็นปอดบวมของผู้ใช้และผู้ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจรในงานวิจัย retrospective cohort ที่ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แค่ขยายกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย RCT ไปให้ได้กลุ่มละ 40 คน คือขยายอีกกลุ่มละ 10 คน ก็จะเห็นดำเห็นแดงกันแล้ว
อีกทั้งฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสามัญในท้องถิ่น หาง่ายกว่า ราคาถูกกว่า มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติมากกว่าไปซื้อยาเขามาทั้งๆที่ผลการรักษาก็แปะเอี้ย ในแง่การค้าขายระดับนานาชาติ หากจะขายฟ้าทะลายโจร ก็ต้องมีงานวิจัยระดับ RCT สนับสนุน ตัวหมอสันต์จึงลุ้นตัวโก่งให้ทำงานวิจัยนี้ต่อให้เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำโดยยินดีช่วยทุกอย่างเท่าที่หมอแก่คนหนึ่งจะช่วยได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
1. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
2. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
3. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. การเสวนาวิชาการฟ้าทะลายโจรสมุนไพรไทยใน COVID-19 เมื่อ 17 มิย.64. https://www.youtube.com/watch?v=2phuTUSCld8&t=7681s
4. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(f Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
5. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
6. Hassanipour S, Arab-Zozani M, Amani B, Heidarzad F, Fathalipour M, Martinez-de-Hoyo R. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep. 2021 May 26;11(1):11022. doi: 10.1038/s41598-021-90551-6
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่าน https://drsant.com/
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- “หมอธีระวัฒน์” เผยปมงานวิจัย “ยาฟาวิพิราเวียร์-ฟ้าทะลายโจร”
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1222 views