แพทย์ชี้ 5 ปัจจัยสำคัญทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า พบเด็กที่มีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 6 เท่า ย้ำการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทยได้ผล อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยยังต่ำกว่าประเทศที่เปิดเสรี
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย เปิดเผยงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทย ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Asian Pacific Journal of Cancer Prevention โดยเป็นการสำรวจการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ จำนวน 6,045 คน เก็บข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2562 ผลการศึกษาพบข้อมูลสำคัญคือ อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยกลุ่มที่สูบเป็นประจำที่ 3.7%
ซึ่งอัตรานี้ใกล้เคียงกับการสำรวจเด็กไทยอายุ 13-15 ปี เมื่อปี 2558 ที่พบมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำที่ 3.3% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ประเทศไทยประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2558 หากเทียบกับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สหรัฐอเมริกาจะพบอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำของเด็กมัธยมต้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน (จาก 3.9% เมื่อปี 2557 เพิ่มเป็น 10.5% ในปี 2562) แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เช่น บราซิล ออสเตรเลีย จะพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยยังสูงกว่า ซึ่งอาจจะเป็นช่องโหว่งของกฎหมายที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาชวนเชื่อและยังแอบจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า การศึกษายังพบว่า เด็กที่มีพ่อหรือแม่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงเป็น 6 เท่าของเด็กที่พ่อและแม่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากพ่อแม่แล้ว ยังพบปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าอีก 4 ประการ ได้แก่ การมีเพื่อนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า การที่เพื่อนให้การยอมรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือมองว่าเป็นเรื่องปกติ การที่เด็กสูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว และความเข้าใจผิดเรื่องอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย โดยเด็กที่ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นเป็น 5 เท่าของเด็กที่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย
“การศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญ เร่งให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ากับเด็กและผู้ปกครอง พ่อแม่จำนวนมากอาจจะไม่ทันคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของตนเองจะทำให้ลูกของพวกเขามองการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติและติดบุหรี่ไฟฟ้าในที่สุด และควรดำเนินการจัดบริการช่วยเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า และการบังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องเด็กไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเสพติดนิโคตินที่จะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจต่อทั้งตัวเด็กเอง ต่อครอบครัวและประเทศในอนาคต” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ศ.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงาน Global Tobacco Epidemic 2021 โดยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่ที่ให้สารนิโคติน ได้แก่ บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่แบบให้ความร้อน ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้คำแนะนำว่า หากประเทศใดยังไม่มีกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้าของผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่นี้ ก็ควรจัดให้มีกฎหมายควบคุมที่เหมาะสมเพื่อปกป้องประชาชนในประเทศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพและอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าปลอดภัย รวมทั้งการแทรกแซงการดำเนินงานควบคุมยาสูบจากอุตสาหกรรมยาสูบ
แหล่งข้อมูล
Use of E-Cigarettes and Associated Factors among Youth in Thailand: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34319044/
WHO REPORT ON THE GLOBAL TOBACCO EPIDEMIC, 2021: https://www.who.int/publications/i/item/9789240032095
- 2529 views