เกือบหนึ่งเดือนของการเปิดโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กับสถิตินักท่องเที่ยวผ่านโครงการเข้ามาแล้วกว่า 12,000 คน และมียอดจองการจองเข้าพัก 285,802 คืนระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค.) ค่อยๆ เรียกบรรยากาศความคึกคักของชายหาดเมืองภูเก็ตกลับมาทีละเล็กทีละน้อย แม้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงทำสถิติ new high อย่างต่อเนื่อง

บางส่วนก็เริ่มออกนอกเกาะไปเที่ยวในเส้นทางซีลรูต (sealed routes) อย่างเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เกาะพีพี จ.กระบี่ และเขาหลัก จ.พังงา หลังผ่านการอยู่ในภูเก็ต 14 คืนตามเงื่อนไขแล้ว

“เย้...ฉันได้กลับมาเกาะพีพีแล้ว สวยมาก มีรีสอร์ต ร้านค้า ธุรกิจดำน้ำ ฯลฯ เปิดอยู่หลายแห่ง คนท้องถิ่นพร้อมให้บริการคุณ พวกเขายิ้มแย้มและให้ความช่วยเหลือดี ฉันเจอกระท่อมไม้ไผ่ที่สบายที่สุดพร้อมวิวที่น่าทึ่ง พวกเขาแนะนำร้านอาหารท้องถิ่นที่เป็นอาหารไทยแบบต้นตำรับ แล้วก็ไปว่ายน้ำเย็นๆ ในทะเลสีครามก่อนจะเที่ยวป่าเพื่อไปยังจุดชมวิว”

ส่วนหนึ่งจากข้อความนักท่องเที่ยวที่โพสต์พร้อมภาพบรรยากาศผ่านกลุ่ม ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในเฟซบุ๊ค ที่พอใจกับการได้มาท่องเที่ยวในโครงการนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ประทับใจในความสวยงามของธรรมชาติ และภูเก็ตฉบับสงบ สะอาด ไม่วุ่นวาย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่เป็นมิตรกับพวกเขาเช่นกัน

Dalton Dales นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร ยอมรับกับ Hfocus ว่า การดำเนินการเรื่อง COE เป็นอะไรที่ยุ่งยากและเครียดมาก ด้วยข้อกำหนดเพิ่มเติมในนาทีสุดท้าย เช่น การได้รับ SHABA + QR code สำหรับโรงแรม พร้อมโชว์หลักฐานการชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการตรวจ PCR ทั้ง 3 ครั้ง และรถรับส่ง SHABA+ จากสนามบินไปโรงแรม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้องลุ้นกับความล่าช้าจนเครียด อีกปัญหาสำหรับเธอคือ การตรวจ PCR ตอนมาถึงสนามบิน การ swab จมูกรุนแรงมาก เข้าไปลึกมากและทำให้จมูกเลือดออกอยู่ 2 วัน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 ที่จังซีลอนก็ยังไม่ดีนักแต่ก็ไม่เจ็บเท่าที่สนามบิน รวมไปถึงคำสั่งห้ามบินในประเทศก็เป็นสิ่งนอกเหนือการคาดคิดมาก่อน

“ฉันมาไทยก็เพื่อเจอกับหลานชายที่ฉลองครบ 6 ครบวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงไทย ฉันควรจะได้บินไปกรุงเทพและลูกชายจะไปรับที่สนามบินและพาไประยอง ที่เขาอยู่กับภรรยาและลูกชาย ประกาศออกมา 2-3 วันก่อนฉันจะบิน จึงรู้สึกเครียดมาก จากนั้นลูกชายจองเครื่องบินเช่าเหมาลำในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ) แต่ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน สุดท้ายฉันต้องนั่งรถตู้แบบส่วนตัว 14 ชม.ไปเจอกับลูกชายที่พัทยา เป็นการเดินทางที่ลำบากมาก รถตู้ไม่สบายและฉันเมารถด้วย”

การออกมาตรการควบคุมการเดินทางโดยเครื่องบินของรัฐบาล ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการท่องเที่ยวของหลายคน บ้างมีโปรแกรมจะเดินทางไปกรุงเทพและเชียงใหม่ หลังผ่าน 14 คืนตามเงื่อนไข แต่ก็ต้องปรับไปเที่ยวในเส้นทางขยายอย่าง กระบี่ พังงา และสมุยแทน บ้างก็ประกาศหาเพื่อนร่วมทางแชร์ค่าเช่ารถขับขึ้นเหนือแทนการนั่งเครื่องก็มี

ขณะที่ Phil Natan Sorensen โพสต์ในกลุ่มภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า จากแซนด์บ็อกซ์สามารถเปลี่ยนเป็นเจลบ็อกซ์ได้ในทันควัน หลังช่วงเวลาใน 2 สัปดาห์ของการได้กลับมาเยือนเมืองไทยวิเศษมาก และวางแผนจะอยู่ต่ออีก 2 เดือน แต่แล้วเพื่อนของเขาที่เดินทางมาด้วยกันดันตรวจพบเชื้อโควิดในครั้งที่ 3 และถูกส่งไปโรงพยาบาลทันที

“ประสบการณ์ของผมเปลี่ยนจากวันหยุดที่สมบูรณ์แบบเป็นฝันร้าย ทางโรงแรมแจ้งว่าผมต้องย้ายไป ALQ เป็นเวลา 14 วันโดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แม้จะมีผลตรวจเป็นลบและไม่มีอาการใดๆ ประกันก็ไม่คุ้มครอง ALQ พอขอคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็ได้รับคำตอบว่าตอนนี้ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้!! คุณคิดว่าในการเตรียมการทั้งหมดเพื่อแซนด์บ็อกซ์ พวกเขาจะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับขั้นตอนการกักตัวกับนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์! ผมรู้สึกโดดเดี่ยวและสับสนมากว่าจะต้องไปไหน ทำอะไร สิทธิและความรับผิดชอบของผมคืออะไร ผมถูกขังอยู่ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เสรีภาพทั้งหมดของผมถูกพรากไปเพราะผลตรวจของเพื่อนเป็นบวก”

หลังจากไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่ เขาเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับ ALQ ด้วยตัวเองและพบข้อกำหนดแปลกๆ บางอย่าง เช่น ไม่สามารถสั่งอาหารมาที่โรงแรมได้ บางสถานที่ไม่สามารถใช้เครื่องปรับอากาศได้ ซึ่งเจ้าตัวมองเป็นเรื่องไร้สาระ!

“หลังผ่าน 48 ชม.แห่งความตึงเครียดระหว่างผมกับเจ้าหน้าที่โรงแรม ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่สาธารณที่พูดภาษาอังกฤษได้ และอย่างน้อยเธอก็อธิบายถึงกระบวนการคิดของพวกเขาและเหตุผลที่ควรไป ALQ ผมบอกเธอไปว่าต้องการกลับบ้าน ตอนแรกก็ถูกปฏิเสธว่าไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือในนามสถานทูต สายการบิน และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศผมเพื่อพากลับบ้าน ซึ่งตอนนี้ผมรู้สึกสบายดีและไม่ต้องกักตัวแล้วเพราะผลตรวจเป็นลบทั้งสองครั้ง!” Sorensen เผยพร้อมย้ำว่า ไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางการท่องเที่ยวโครงการแซนด์บ็อกซ์ และสนุกกับโครงการนี้ เพียงแต่คิดว่าการแบ่งปันเรื่องราวนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันอาจเกิดขึ้นได้ และหวังว่าโครงการแซนด์บ็อกซ์จะประสบความสำเร็จและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม Dales คิดว่าความสวยงามและสะอาดของชายหาดที่ได้ไป ความเป็นมิตร ยิ้มแจ่มใสและให้ความช่วยเหลือที่ดีอยู่เสมอของชาวบ้าน ถือว่าคุ้มค่ากับความยุ่งยากและความเครียดที่แลกมา พร้อมเสนอแนะหากเป็นไปได้ อาจไม่ต้อง swab จมูกเด็กเล็ก เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังเป็นประสบการณ์ที่บอบช้ำทางจิตใจ สำหรับเด็กเล็งคงแย่กว่านั้น รวมทั้งให้เลือกได้ว่าจะ swab ทางจมูกหรือคอ และให้เจ้าหน้าที่ทำอย่างนุ่มนวลไม่เจ็บ! โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ผ่านการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและตรวจหาเชื้อเป็นประจำ และทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น

“(การแพร่ระบาดในไทยตอนนี้) รู้สึกกังวลเล็กน้อย แต่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศอื่นๆก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาชนควรได้รับวัคซีนครบเหมือนอย่าง UK ชาติในยุโรปส่วนใหญ่ สิงคโปร์ เพื่อปกป้องคนไทยจึงสำคัญ เมื่อนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ได้รับวัคซีนครบโดสกันแล้ว” Dales กล่าว

สุดท้ายแล้ว...ประเทศไทยจะปลอดภัยในสายตานักท่องเที่ยวหรือไม่ ตัวแปรสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่อง “วัคซีน” ที่จะเป็นเกราะป้องกันจากโรคระบาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ

 

ภาพจาก ททท.