สธ. ร่วมทุกภาคส่วนจัดระบบนำส่งผู้ป่วยต้องการกลับภูมิลำเนา เพื่อรักษาต่อตามมาตรฐาน ด้าน สปสช. เพิ่มคู่สาย 1330 รองรับอีก 500 คู่สาย จากปัจจุบันมี 1,600 คู่สาย พร้อมประสานกสทช. ของดค่าบริการสายด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ขณะที่ สพฉ. เตรียมพาหนะมาตรฐานส่งผู้ป่วยโควิด ทั้งรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน เน้นกลุ่มสีเขียว หากอาการรุนแรงจะรักษาต่อที่รพ.ในกทม. ย้ำ! ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 ก.ค. 2564 ที่กระทราวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ประเด็นการนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนา และเข้าสู่ระบบการรักษา ว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัด แต่ทำงานที่กรุงเทพฯ และติดเชื้อ ซึ่งต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาตัวเองนั้น ทั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครมีประชากรประมาณ 8 ล้านคน แบ่งเป็นคนกทม. 5.59 ล้านคน มีประชากรแฝง 2.41 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคาดว่ากลุ่มคนเหล่านี้อาจมีผู้ติดเชื้อ ที่อยู่ในกทม.และต้องการเดินทางกลับ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหลังจากวันที่ 19 ก.ค. ที่รัฐบาลมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ มีคนเดินทางออกไปต่างจังหวัด จนถึงปัจจุบัน 504,241 คน ซึ่งคาดว่าจะมีคนติดเชื้อออกไปด้วย จึงต้องมีมาตรการในการดูแล และเมื่อถึงภูมิลำเนาต้องได้รับการรักษา
นพ.ธงชัย กล่าวว่า เป้าหมายของเราต้องการให้ผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งเริ่มจากหากผู้ป่วยประสงค์จะเดินทางกลับ ให้ติดต่อสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. จากนั้นจะมีการส่งข้อมูลมาให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ในการประสานกับปลายทาง คือ จังหวัดที่ท่านจะเดินทางไปถึงวัน เวลา เท่าไหร่ เพื่อให้เตรียมสถานที่ ขณะเดียวกันก็จะประสานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เพื่อเตรียมการนำรถ เพื่อส่งภูมิลำเนาต่อไป คาดว่าไม่เกิน 3 วันหลังจากประสาน ดังนั้น ต้องกราบเรียนผู้ติดเชื้อต้องมีเวลาเตรียมตัว ประมาณ 3 วันจะได้เดินทาง ซึ่งระหว่างรอต้องปฏิบัติตนเช่นเดิม ระวังตัวเองไม่ให้แพร่ระบาด แต่หากมีอาการหนักขึ้นก็ประสานไปที่ สายด่วน 1330 หรือ 1668
“สำหรับการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงระบาด มีการเดินทางกลับไปแล้วทั้งสิ้น 31,175 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ทั้งนี้ ต้องมีการประเมินด้วยว่า สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ เพราะถ้าขยับเป็นผู้ป่วยสีแดง ต้องมีการรักษาในรพ.กทม.” รองปลัด สธ.กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งมีหลายทางเลือกในการรักษา ทั้งรักษาที่บ้าน หรือที่ชุมชน รวมไปถึงการนำส่งกลับไปรักษาที่บ้านที่ภูมิลำเนาของตนเอง ทั้งนี้ ช่องทางการติดต่อในการขอกลับภูมิลำเนา นอกจากสายด่วน 1330 กด หมายเลข 15 ซึ่งยังสามารถติดต่อผ่านเว็บไซต์ และคิวอาร์โค้ดที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ติดต่อยาก ต้องขอความกรุณารอสาย อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่า ระบบเรามีมาตรฐาน เมื่อติดต่อเข้ามาแล้วจะมีการประสานปลายทางให้เรียบร้อย เมื่อส่งข้อมูลมาเราจะส่งข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขทุก 8 โมงเช้า ตัดข้อมูลทุกวัน ไม่มีการค้าง มีการกำหนดการส่งกลับที่ได้มาตรฐานอย่างปลอดภัย ขออย่าเดินทางกลับเอง เพราะอาจเสี่ยงแพร่เชื้อได้
เมื่อถามถึงกรณีไม่สามารถติดต่อสายด่วน 1330 และยังคิดค่าบริการอยู่หรือไม่ ทพ.อรรพร กล่าวว่า มีพี่น้องประชาชนสอบถามมามากที่รอสาย ซึ่งขณะนี้มี 1,600 คู่สาย แต่ขณะนี้กำลังเพิ่มอีก 500 คู่สาย ส่วนที่ยังต้องเสียค่าโทรสายด่วน 1330 นั้น ขณะนี้กำลังประสานไปยัง กสทช. เพื่อขอให้งดค่าบริการ โทรสายด่วน 1330 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ขณะที่ รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยมีจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้า รพ.ได้ โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสีเขียว อาการไม่มากหรือไม่มีอาการ ก็สามารถรักษาตัวที่บ้าน รวมทั้งกรณีที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ซึ่งก็จะมีระบบติดตามอาการคอยดูแลนั้น สำหรับคนที่มีความประสงค์จะกลับต่างจังหวัด ได้มีการเตรียมระบบ สามารถติดต่อ 1330 กด 15 และเมื่อมีการประสานข้อมูลกับ รพ.หรือจังหวัดปลายทางแล้วนั้น ทางสพฉ.จะตรวจสอบความพร้อมของพี่น้องประชาชนว่า อาการเป็นอย่างไร หากอาการรุนแรงจะไม่แนะนำกลับต่างจังหวัด แต่จะรับจากบ้าน หรือที่พักในกทม. เพื่อส่งต่อรพ.ในกทม.ต่อไป แต่หากอาการเหมาะสมเดินทางได้ ก็จะนำส่ง โดยจะมีรถต่างๆนำส่ง ทั้งรถตู้ รถไฟ หรือเครื่องบินในบางกรณีจัดเฉพาะให้ผู้ป่วยเดินทางกลับ
ทั้งนี้ เครื่องบิน และรถไฟจะเหมาะกับทางไกล โดยเฉพาะเครื่องบินต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และจะมีความซับซ้อนในการตรวจสอบด้วย แต่ไม่ว่าทั้งทางบก ทางอาการ ทางสพฉ. จะประสานพาหนะ ความปลอดภัยระหว่างเดินทาง จะมีทีมแพทย์ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย ขอย้ำว่า การนำส่งตรงนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5 views