ผอ.สำนักอนามัยมั่นใจสิ้นเดือนนี้ฉีดวัคซีนประชากรในพื้นที่ได้ครบ 70 % สำนักการแพทย์ปรับให้ผู้ป่วยสีเขียวกักตัวอยู่บ้าน ปรับเตียงผู้ป่วยสีเขียวเป็นสีเหลืองรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 ก.ค. 2564   กรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าว Online สรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Teleconference  โดย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตบริเวณตรอกบ้านพานถม ถนนสามเสน แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กทม. เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการทำให้ศพต้องอยู่บนถนนที่เกิดเหตุเป็นเวลาหลายชั่วโมง ว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการตายผิดธรรมชาติ แม้ว่าก่อนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่กทม.ได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่หลังจากที่เสียชีวิตพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่จะต้องมาทำการชันสูตรแล้วสั่งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรกับศพ คงตอบแทนตำรวจไม่ได้ ผู้ตายกรณีดังกล่าวผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนกลุ่มนี้แล้ว

 

ด้านพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า ก่อนผู้ป่วยรายนี้จะเสียชีวิตศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ที่รับผิดชอบในพื้นที่ได้รับแจ้งจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลมีการวัดความดันให้ออกซิเจนและน้ำเกลือที่จุดเกิดเหตุ และมีการประสานเตรียมส่งโรงพยาบาลแต่ติดต่อไม่ได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“เจ้าหน้าที่ได้ทำ CPR โดยใส่ชุดป้องกันเต็มที่เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีการติดเชื้อหรือเปล่า ก็เป็นหน้าที่ที่ได้รับการประสานมาเราก็ลงไปดำเนินการ การออกข่าวไปบางทีอาจจะไม่ได้เห็นช่วงเวลานั้น เพราะจากนั้นก็ได้แจ้งตำรวจ 191 ซึ่งพอมาถึงก็เสียชีวิตแล้ว เป็นเรื่องน่าเสียใจแต่ทางเราก็พยายามทำเต็มที่" พญ.ป่านฤดี กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า จากประกาศให้ กทม. ล็อกดาวน์หยุดการเคลื่อนย้ายของประชากรเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ สำนักอนามัยมีมาตรการเชิงรุกเข้าไปในบ้าน ให้ความรู้ป้องกันกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ วิธีการใช้แอนติเจ้นท์ เทสต์ คิต ตรวจหาผลการติดเชื้อ การเข้าสู่ระบบ isolation การจ่ายยาให้กับผู้ติดเชื้อในชุมชน

"สำนักอนามัยยังให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เรียกว่า 60-8 คือ กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง กับผู้ที่ตั้งครรภ์ ติดตามให้ยา ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาด เป็นมาตรการเชิงรุกในชุมชนใน กทม.ทั้งหมด 2,016 ชุมชนให้ได้ภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เร่งในช่วงล็อคดาวน์ให้ประชาชนอุ่นใจว่าแม้จะอยู่ในบ้านก็ยังได้รับการดูแล โดยมีผู้สูงอายุกว่า 1.7 หมื่นคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งในวัดและในชุมชนต่างๆ เป็นสิ่งที่สำนักอนามัยดำเนินการอยู่ รวมถึงการสนับสนุนให้ Home isolation เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ต่อไปโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดที่หากไม่ฉีดวัคซีนจะมีอาการรุนแรง" พญ.ป่านฤดี กล่าว

พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปแล้ว 637,000 รายคิดเป็น 46 % ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวฉีดไปแล้วประมาณกว่า 460,000 รายคิดเป็น 60 % มีการประชุม รพ.ทั้ง 132 แห่งทุกสัปดาห์เพื่อปรับกลยุทธ์ในการฉีด หลังจากที่หมอพร้อมปิดจะส่งข้อมูลผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังให้กับโรงพยาบาลเพื่อเร่งฉีด

“ขอร้องให้ฉีดในวันหยุดด้วย ทำให้กทม.สามารถฉีดวัคซีนประกอบการไปฉีดเชิงรุกในชุมชน และศูนย์อีก 25 แห่ง รวมถึงสถานีกลางบางซื่อก็ช่วยฉีดด้วย เพราะฉะนั้นการเทวัคซีนมาให้ กทม. ขณะนี้ระหว่างที่กำลังมีการระบาดหนักขนาดนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ภาพรวมของ กทม. ทุกภาคส่วนรวมกันแล้วฉีดไปได้ประมาณ 50% สิ้นเดือนนี้ก็น่าจะบรรลุเป้าหมาย 70% ได้" พญ.ป่านฤดี กล่าว

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์   กทม. กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ติดเชื้อสีแดงและเหลืองใน กทม. มี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน กับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 200 เตียง ปรับจากเตียงผู้ป่วยสีเขียวให้เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง 150 เตียง ปรับ modular ICU 4 ยูนิต ยูนิตละ 10 เตียง รวม 40 เตียง สำหรับผู้ป่วยสีแดงซึ่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดย รพ.ผู้สูงอายุฯ มีห้อง ICU 16 เตียง ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนปรับจากสีเขียวเป็นสีเหลือง 140 เตียง ในขณะที่ศูนย์พักคอยจะยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยมีอธิบดีกรมการแพทย์เป็นผู้ดูแล

"การจัดการเตียงซึ่งเราแบ่งงผู้ป่วยเป็น 3 คือสีเขียว สีเหลือง สีแดง จะรับผู้ป่วยที่ผลตรวจเป็นบวกจาก RTPCR แล็บ ซึ่งเป็นมาตรฐาน ส่วนผลตรวจจากแอนติเจ้นท์ เทสต์ คิต ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับให้ประชาชนนำไปใช้ แต่ผู้ป่วยที่ผลตรวจเป็นบวกทั้ง 2 กรณี เราแนะนำให้ทำ Home isolation เป็นหลัก ยกเว้นว่าบ้านที่พักอาศัยไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ในสัปดาห์หน้าเข้าใจว่าจะมีการเปิดหอผู้ป่วยรวม (cohort ward) โรงพยาบาสลเจริญกรุง 2 หอ รับผู้ป่วยได้ประมาณ 50 ราย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน เพิ่ม cohort ward อีก 25 เตียง เราช่วยเหลือเต็มที่สำหรับพี่น้องประชาชนอาการที่เป็นหนักในสีเหลืองและสีแดงก่อน นอกเหนือจากการขยายโฮสพิเทลที่ กทม.ร่วมกับภาค ซึ่งขณะนี้มีกว่า 8,000 เตียง และจะเพิ่มให้มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ" ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าว

 

ภาพประกอบจากเฟซบุค กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์