คำสั่งล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะคล้ายผึ้งแตกรัง ไม่เพียงแรงงานจากต่างถิ่นจำนวนมากพากันเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลของคำสั่งล็อกดาวน์ แต่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ก็พากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเช่นกัน ส่งผลให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยง ซึ่งจะต้องกำหนดแนวทางรับมือกับผู้คนที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนา

สิ่งแรกซึ่งทุกพื้นที่ต้องเตรียมพน้อมคือ‘จุดพักคอย’ ให้ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงพักอาศัยเป็นที่กักตัว

"เมื่อคนเข้ามาแล้วต้องรู้สึกเหมือนบ้าน ไม่ต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ขอให้ได้สัก 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่ามาแล้วอะไรก็ไม่มีเลยเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร เราไม่ต้องไปบังคับเขา เพราะเขาบังคับตัวเองอยู่แล้ว ว่าเขาก็ต้องกักตัว แต่สถานที่กักตัวเราบริการเขาแบบไหน ทิ้งๆ ขว้างๆ เหมือนแคมป์กักตัวหรือไม่ สุดท้ายเขาก็อยู่ไม่ได้ การทำเรื่องนี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถที่จะเบิกจ่ายได้มีระเบียบบอกอยู่แล้ว แต่ต้องดูฐานะการเงินการคลังด้วยว่าช่วยไหวหรือไม่" ว่าที่ ร.ท.อนุรักษ์ ทัพวิเศษ หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)สายลำโพง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เล่าถึงแนวทางที่ท้องถิ่นชุมชนกำลังเตรียมการ

ว่าที่ร.ท.อนุรักษ์กล่าวว่า จ.นครสวรรค์ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะ อ.ท่าตะโก หลังจากพบว่าผู้ที่เดินทางกับเข้าพื้นที่ 10 ราย จะตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ถึง 4 ราย หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องนำมาตรการต่างๆ มาใช้ร่วมกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาตรการของชุมชน

“เมื่อเกิดการระบาดใหม่ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อน้อย เรื่องการกักตัวทำได้ง่าย แต่ตอนนี้จำนวนมากขึ้น เราไม่ทราบเลยว่าผู้ที่เดินทางมาติดเชื้อหรือเปล่า แต่มาตรการของรัฐบาลคือต้องกักตัว ชุมชนผมค่อนข้างจะมีหลายหมู่บ้าน จำนวนประชากรเกือบ 1 หมื่นคน แล้วพื้นที่มันห่างกันแต่ละหมู่ ยกตัวอย่างหมู่ 9 ผลเป็นบวก 1 คน ไม่มีเตียง ในขณะที่เรายังไม่ได้คุยเรื่องจุดพักคอยก็เลยใช้ศูนย์ผู้สูงอายุ ใช้เชือกกั้น ให้คณะกรรมการควบคุมโรคเข้ามาดูแล แล้วพักไว้ 3 วันก่อน นี่คือมาตรการของเรา"

(ว่าที่ร.ท.อนุรักษ์)

 

นอกจากธรรมนูญสาธารณสุขซึ่งเป็นมาตรการของชุมชนแล้ว ยังมีการใช้กฎระเบียบกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องด้วย

“พื้นที่ผมปลัดอำเภอค่อนข้างที่จะตามงานมาก ข้าราชการต้องทำจริง พื้นที่ ต.สายลำโพง กำนันก็เข้มแข็งคุมผู้ใหญ่บ้านได้ ข้อนี้สำคัญถ้าผู้ใหญ่บ้านแตกไม่ฟังกำนันมาตรการการรายงานตัวก็จะไม่เข้มงวด ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่รายงานก็มีบทลงโทษตรงนั้นเลย มีการเก็บเงิน หักเงินเลย กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่มาประชุมก็โดนหักเงินแล้ว ถือว่าเด็ดขาดทำให้เกิดความเกรง ฝ่ายปกครองถือว่าเป็นหัวหลักในพื้นที่" หัวหน้าสำนักปลัด อบต.สายลำโพง กล่าว

ว่าที่ร.ท.อนุรักษ์ยืนยันว่าความเข้มแข็งเอาจริงเอาจังและร่วมมือกันคือสิ่งสำคัญของการควงคุมการแพร่ระบาด จากที่ผ่านมาความล้มเหลวในหลายพื้นที่เกิดจากท้องที่และท้องถิ่นไม่ร่วมมือกัน

“สายลำโพงมีความเข้มแข็งของตำบลอยู่ เพราะมีการทำเรื่องสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงวัยมานานพอสมควร ท้องที่ก็เป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ส่วนท้องถิ่นก็เป็น อบต. บางแห่งที่ล้มเหลวเพราะท้องที่กับท้องถิ่นขัดแย้งกันไปด้วยกันไม่ได้ ศักยภาพอาจจะได้แต่ท้องที่กับท้องถิ่นต่างคนต่างทำ งานบางอย่างไปข้างหน้าไม่ได้ เมื่อมีความเข้มแข็งแล้วเราให้ระดับผู้นำมานั่งคุยกัน ทั้งหน่วยงานที่ประสานอำเภอ หน่วยงานที่รับผิดชอบในตำบล รวมถึงนายอำเภอ โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสาธารณสุขอำเภอด้วย เราไม่ต้องไปรอจังหวัด เพราะจังหวัดก็ไม่ไหวแล้ว ผู้ว่าฯ ก็จะไม่ไหวแล้ว เราก็คงต้องช่วยเหลือตัวเองกันแล้ว มาคุยกันว่าเราจะทำในรูปแบบไหน”

แนวทางของอบต.สายลำโพงคือ การประชุมกำหนดแนวทางร่วมกันให้แต่ละหมู่กำหนดจุดกักตัวภายในพื้นที่ขึ้นมาเอง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะไปหารือกันภายในเพื่อลดความกังวลของคนในชุมชน ส่วนมาตรการควบคุมในจุดพักคอยจะเป็นมาตรการร่วมกัน เริ่มจากต้องมีการรายงานตัวเข้ามาในพื้นที่โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

“ถ้าไม่มารายงานตัวผู้ใหญ่บ้านผิดทันที ทั้งมาตรการและ พรบ.ควบคุมโรค โดนมาตรา 157 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ละเว้น ถึงกับออกจากตำแหน่ง ร้ายแรงจริงๆ เหมือนมีกฎหมายไปบังคับให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เราก็ไม่ได้ไปซ้ำเติมนะ คือเราช่วยเต็มที่แล้ว ถ้ากักตัวมีอาหารดูแลหมด คุณอยู่เฉยๆ เพื่อให้มันครบ 14 วันเท่านั้นเอง ถ้าคุณทำไม่ได้คุณก็ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มันก็ต้องโดนกฎของสังคมลงโทษ เรื่องมาตรการที่ต้องเด็ดขาดด้วย พื้นที่ก็ต้องเด็ดขาดด้วย”

การดำเนินการต่อจากจุดพักคอยคือเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อก็จะต้องกำหนดการกักตัว โดยผู้ใหญ่บ้านต้องไปสำรวจสถานที่พักอาศัยของผู้ติดเชื้อ หากพักอาศัยอยู่หลายคน ก็ต้องดูว่าบ้านญาติพี่น้องสามารถใช้กักตัวได้หรือไม่ หากไม่สามารถกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ ก็กำหนดให้อยู่ในอาคารเอนกประสงค์ โดยให้ใช้งบจากกองทุนหมู่บ้าน นำงบสาธารณะประโยชน์จากดอกผลมาใช้ นำงบกองทุนหมู่บ้านไปซื้ออุปกรณ์เครื่องนอนและอำนวยความสะดวกเรื่องอาหาร โดยผู้ที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยในระหว่างกักตัว 14 วันก็คือ อสม.

"ต้องบอกเลยว่าทุกวันนี้ที่เข้ามาคือคนหนีตายจากอดตายเพราะไม่มีอะไรจะกินแล้ว อย่างที่ 2 คือไม่มีเตียง เขารู้แล้วว่าตัวเขาติดเชื้อ แต่พื้นที่ที่เขาอยู่ไม่ว่าจะ กทม. หรือ จ.ปทุมธานี ใน 13 จังหวัด ไม่มีรองรับให้เขา หลังชนฝากันหมดแล้ว ปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลต้องแก้ด้วยการเร่งเอาวัคซีนเข้ามาเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นแก้ได้อีกแล้ว ผมบอกได้เลย และต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพด้วย" หัวหน้าสำนักปลัดอบต.สายลำโพง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เล่าถึงการจัดการที่เกิดขึ้นในชุมชน