ผอ.กองระบาดวิทยา ย้ำล็อกดาวน์ ร่วมมาตรการคุมโรคจะได้ผลหรือไม่อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ถ้ายังออกจากบ้านแพร่เชื้อไปอีกบ้านโอกาสได้ผลก็ลดลง ชี้หาก กทม.ติดเชื้อลดต่ำกว่า 500 หรือ 1,000 รายถือว่าได้ผล

 

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันในรอบ 4 วัน ที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่เกิน 1 หมื่นราย เสียชีวิต 80 ราย สถานการณ์ช่วงนี้ติดเชื้อรุนแรง ทั้ง กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา เกิดการระบาดต่อเนื่องในหลายจังหวัด ในครอบครัวและชุมชน เพราะไม่ได้กักตัวเองจนครบ 14 วัน ขณะที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่รวดเร็ว หากติดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีโอกาสอาการรุนแรงได้

สิ่งที่จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรค คือ วัคซีน ซึ่งวันที่ 19 ก.ค. 2564 ฉีดเพิ่มขึ้น 2.5 แสนโดส โดยช่วงนี้จะเน้นการฉีดในผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่ง กทม.ฉีดสะสมกลุ่มผู้สูงอายุเกือบ 60% แล้ว ขอให้ช่วยกันในการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุอีก 40% ให้ครบใน 2 สัปดาห์นี้ 

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ยังไม่ใช่ล็อกดาวน์ 100% แต่มาตรการที่ออกมาต้องการให้งดการเดินทาง อยู่กับบ้าน ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวหนึ่ง เพราะการทำกิจกรรมทั้งในที่ทำงาน ภายนอกบ้านและขนส่งสาธารณะ ทำให้แพร่เชื้อต่อเนื่องได้ รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เนื่องจากวัคซีนทุกตัวแม้จะฉีดครบแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ต้องช่วยกันอยู่บ้านด้วย 

ทั้งนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขช่วง 14 วันนี้ ขอให้เริ่มวันนี้เป็นวันแรกอย่างจริงจัง คือ 1.ขอให้ทุกคนงดออกจากบ้าน 2.ป้องกันการติดเชื้อคนในบ้าน โดยสวมหน้ากาก แยกกันรับประทานอาหาร แยกที่นอน ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได โต๊ะอาหาร พัดลม รีโมท งดกิจกรรมหรือการสัมผัสที่ใกล้ชิดกันมากๆ

3.ตรวจความเสี่ยงของทุกคนในบ้าน ถ้าเคยใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไปสถานที่แออัด ที่ทำงานมีผู้ติดเชื้อหรือพบลูกค้าจำนวนมาก ให้ไปตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ใกล้บ้านฟรี โดย กทม.มี 4 จุด คือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น

4.ถ้าผลเป็นลบไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ อาจติดเชื้อแต่อยู่ในช่วงฟักตัว ต้องป้องกันตนเองตลอด โดยตรวจซ้ำใน 3-5 วัน ถ้าผลติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ประสาน CCR Team ดูแล หรือติดต่อประสานงาน 1330 สปสช. ถ้าเริ่มมีอาการขอคำแนะนำ CCR Team ประเมินความเสี่ยงคนในบ้าน ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง อาการป่วย ประวัติการรับวัคซีน เพื่อรับอุปกรณ์วัดไข้ วัดค่าออกซิเจนในเลือด บางรายอาจเริ่มให้ฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร ผู้สูงอายุในบ้านที่ยังไม่ฉีดก็ประสานฉีดวัคซีน 

สำหรับวิธีตรวจสอบสัญญาณเชื้อลงปอดด้วยตนเอง เช่น เดินรอบเตียงแล้วเหนื่อย ยกขาขึ้นลงหลายครั้งหายใจเหนื่อยมาก วัดออกซิเจนน้อยกว่า 96 หรือเดินแล้วค่าลดน้อยลงกว่า 92 หากมีอาการรุนแรงรีบแจ้ง CCR Team เข้าสู่การรักษาขั้นถัดไป และ 5.พาผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ไปฉีดวัคซีน

“ข้อยกเว้นการออกจากบ้าน คือ ซื้ออาหาร เครื่องใช้จำเป็น ยา ไปพบแพทย์ หรือไปฉีดวัคซีน รวมถึงคนทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ เช่น ทหาร ตำรวจ จิตอาสาที่มาช่วยเรื่องอาหารในกลุ่มเปราะบาง การออกจากบ้านถ้าไม่ระวังตัวอาจรับเชื้อและแพร่ต่อคนในบ้านหรือครอบครัวอื่น สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ คือ ออกจากบ้านต้องเว้นระยะห่าง คนซื้อของเยอะอย่าเข้าไปเบียดหรือแออัด สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ พกเจลแอลกฮออล์ และงดรับประทานอาหารร่วมกัน” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า หากร่วมมือกันดำเนินการอยู่บ้าน ป้องกันคนในบ้าน และสวมหน้ากากตลอดเวลา มาตรการล็อกดาวน์จะสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น คาดว่ายอดติดเชื้อรายใหม่จะลดลงใน 1-2 เดือน ซึ่งมาตรการจะได้ผลหรือไม่อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ถ้ายังออกจากบ้านแพร่เชื้อไปอีกบ้านโอกาสได้ผลก็ลดลง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อต้องการให้ลดลงจนเพียงพอกับขีดความสามารถทางการแพทย์ เตียงรองรับได้ อย่าง กทม.ต้องต่ำกว่า 1 พันราย หรือถ้าต่ำกว่า 500 ราย การล็อกดาวน์ถือว่าได้ผลมาก