ที่ประชุม ศบค.มีมติคงมาตรการล็อกดาวน์ถึง 31 ส.ค.64 พร้อมเพิ่มมาตรการจัดการองค์กร ยังคง Work From Home ต่อเนื่อง ส่วนพนง. รัฐหรือเอกชน ต้องมาปฏิบัติงานขอให้ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ขณะที่สถานประกอบการ องค์กรให้เตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน เตรียมพร้อมหากพบติดเชื้อให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบรักษา HI และ CI
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 16 ส.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ว่า กรณีการประเมินผลและการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึงการประเมินผลและการคาดการณ์ ซึ่งจะมีเป็นกราฟฉากทัศน์ โดยเราเริ่มล็อกดาวน์เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับฉากทัศน์ที่คาดการณ์กัน โดยเส้นกราฟที่ป่วยสูงสุดกรณีไม่มีมาตรการใดๆ ผู้ป่วยอาจแตะถึง 6-7 หมื่นในเดือนหน้า แต่กรณีมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ work from home ปิดสถานที่เสี่ยง ลดค่า R หรือการระบาดได้ 20% ซึ่งหากมาตรการนี้ประกาศถึงวันที่ 31 ส.ค. เส้นกราฟจะนิ่งและไปโด่งที่ปลายเดือนตุลาคมจนต่อพฤศจิกายน แต่หากมาตรการเข้มถึง 25% ก็จะกดเคิร์ฟลดลงไปได้ถึงปลายเดือนกันยายน แต่หากตุลาคมมีการระบาดก็อาจตัวเลขเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันเราใช้ฉากทัศน์ที่ประกาศถึงสิ้นเดือนนี้
“ที่ประชุมได้มีการประเมินผล โดยพิจารณาตัวเลข กทม.และชลบุรี ที่เป็นจังหวัดในพื้นที่แดงเข้ม โดยพบว่าหลังจากมีมาตรการเปรียบเทียบกับเม.ย.ปีที่แล้วที่มีล็อกดาวน์เช่นกัน จะเห็นว่าพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือและลดการเดินทาง ซึ่งทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. ให้คงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิมตั้งแต่วันที่ 18-31 สิงหาคม 2564 หรือพูดง่ายให้ทำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.เพิ่มมาตรการและการจัดการขององค์กรดังนี้ 2.1. ดำเนินการมาตรการ Test-Trace-Isolation อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ชุดทดสอบแบบเร็ว ATK เน้นกทม.และปริมณฑล ขณะเดียวกันเตรียมทีม CCRT ให้เพียงพอ และจัดระบบการนำเข้าสู่ HI และ CI หรือรพ. 2.2 มาตรการองค์กร สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขอให้เน้น WFH ต่อเนื่อง และพนักงานของรัฐ และเอกชน จำเป็นต้องมาปฏิบัติงานขอให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนการคลายล็อกดาวน์ และเตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน และเตรียมความพร้อมของบุคลากร ในการติดตามการคัดกรองด้วย ATK และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบรักษา HI และ CI
2.3 มาตรการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ทั้งโรงงาน สถานประกอบการที่มีพนักงานเกิน 100 คน ตลาดให้คัดกรอง ATK ผู้ค้า แรงงานทุกสัปดาห์ 2.4 เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 608 อย่างน้อย 80%ในกทม. อย่างน้อย 70% ใน 12 จังหวัด และอย่างน้อย 50%ในพื้นที่อื่น และเพิ่มอัตราการหมุนเวียนการรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง และเร่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประชาชน องค์กร สถานประกอบการต้องสามารถตรวจหาเชื้อโควิดได้ด้วยตัวเอง โดยรัฐควรสนับสนุนให้มีการใช้โดยไม่เป็นภาระประชาชน เช่น จำหน่ายราคาถูก จัดหาได้ง่าย และการดูแลรักษาที่รองรับเมื่อพบเชื้อ เน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตัวเองทุกกรณี และสื่อสารให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เรียกว่า ป้องกันทุกกรณี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะขยายความคำนี้เพิ่มให้อีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดทำแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเดิมที่มีอยู่ต่อไป รวมทั้งพิจารณาร่วมจัดทำ Thai Covid Pass ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ
“มีคำถามว่า เราฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไปทำไม ต่อไปจะมีคำว่า Thai Covid Pass ซึ่งเป็นเอกสารรับรองว่า ฉีดวัคซีนแล้วจะไปที่ไหน อย่างไร ก็จะเห็นภาพการใช้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน เช่น ไปร้านอาหารที่เป็นห้องแอร์ คนที่มีวัคซีนฉีดครบแล้วก็สามารถไปใช้บริการได้ ซึ่งทำกันอยู่ในหลายประเทศ โดยไทยก็จะมีเรื่องนี้” โฆษก ศบค. กล่าว และว่า 3. การปรับมาตรการจำหน่ายสินค้าจำเป็น ในห้างสรรพสินค้า เพื่อกระจายช่องทางการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ขอเปิดกิจการธนาคาร สถาบันการเงิน โดยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
- 19 views