กระทรวงสาธารณสุขมีข้อสั่งการให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และเหลื่อมเวลาปฏิบัติงาน ให้เริ่มตั้งแต่ 16 เม.ย.64 เป็นต้นไป โดยให้ จนท. สังกัดส่วนกลาง Work From Home ไม่น้อยกว่า 50% รวมทั้งให้ทำงานเหลื่อมเวลากำหนด 2 รอบเวลาขึ้นไป

ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานราชการออกมาตรการการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home หลังช่วงสงกรานต์เพื่อช่วยสกัดการรวมกลุ่มจำนวนมาก สกัดการระบาดโควิด19 นั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้ภายหลังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เคยออกประกาศแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ล่าสุดนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ สธ.0208.07/ว 215 ลงวันที่ 14 เมษายน 2564 เรื่อง การดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและการเหลื่อมเวลาปฏิบัติงาน โดยส่งถึง อธิบดี ทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก และหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี

โดยระบุว่า ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVD-19) ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ให้ดำเนินการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาปฏิบัติงาน โดยให้ทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งหน่วยงานในสังกัดทราบและถือปฏิบัติ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในปัจจุบันอย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสม นั้น

กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ส่วนราชการในสังกัดทุกแห่งดำเนินการ ดังนี้

1. พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดส่วนกลาง ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสัดส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้มาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานที่ตั้งส่วนกลาง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ไม่ส่งผลเสียต่อภารกิจของหน่วยงานและทางราชการ ยกเว้นหน่วยบริการซึ่งให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ให้พิจารณาสัดส่วนเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องกำหนดวิธีการลงเวลาปฏิบัติงานและการรายงานผลการปฏิบัติงาน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย

2. ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด กรณีที่มีความเสี่ยงใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยเข้าข่ายหรือผู้ป่วยยืนยัน รีบรายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อขออนุญาตปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (กักตัว 14 วัน) และหากมีอาการเข้าข่ายเกณฑ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ไปพบแพทย์โดยด่วน พร้อมรายงานต่อผู้บังคับบัญชาทันที และผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ทั้ง 2 กรณี โดยกำหนดวิธีการลงเวลาปฏิบัติงานและรายงานผลการปฏิบัติงานด้วย

ซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้เป็นไปตามความเหมาะสมและหรือตามที่แพทย์วินิจฉัย ตามแต่กรณี และหากระหว่างการได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง แพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ถือว่าสิ้นสุดระยะเวลาการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และให้เป็นไปตามประเภทการลาที่เกี่ยวข้องแทน เช่น ลาป่วย เป็นต้น และรายงานผลการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เท่าจำนวนวันที่ปฏิบัติงานจริง

3. ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกคน สามารถปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและลักษณะงานขององค์กร คำนึงถึงประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ไม่ส่งผลเสียต่อภารกิจของหน่วยงานและทางราชการ สามารถกำหนดได้ตั้งแต่ 2 รอบเวลาขึ้นไป เพื่อช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจร ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น 07.30 น. 08.30 น. 09.30น. เป็นต้

4. กำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกคน ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ชุมนุมชนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

5. กรณีมีคำสั่งของจังหวัดอื่นใด ที่กำหนดมาตรการงดเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นการชั่วคราวหรือมาตรการที่ส่งผลต่อการเดินทางมาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ได้ตามความเหมาะสม

6. ดำเนินการตาม ข้อ 1-5 ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีข้อสั่งการเป็นอย่างอื่น

7. ให้รายงานผลการดำเนินการ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบ ได้ที่ bit.ly/Reportmoph_5 เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอความร่วมมือถือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และไม่ส่งผลเสียต่อภารกิจของส่วนราชการ ต่อไปด้วย