กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะวิธีใช้แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit: ATK) ตรวจโควิดด้วย ระวัง! ผลบวกปลอม - ผลลบปลอม พร้อมไขข้อสงสัยทำไมบางคนตรวจเชื้อครั้งแรกเป็นบวก แต่ต่อมาตรวจซ้ำกลับไม่พบ เพราะผลเชื้อครั้งแรกอาจเป็นระยะท้ายของการติดโควิด ต้องทำความเข้าใจ เหตุมีปัจจัยจำนวนวันติดเชื้อร่วมด้วย
เมื่อ11.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ (Facebook : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กรณีการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(Antigen test kit: ATK) ว่า จะเป็นชุดตรวจอย่างง่าย แต่ไม่ได้มีแค่ตรวจหาแอนติเจนอย่างเดียว แต่ยังมีแอนติบอดี้ เทสต์ คิท(Antibody test kit) เป็นการเจาะเลือดปลายนิ้วหรือท้องแขน ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกัน เนื่องจากตรวจหาแอนติบอดี้ จะเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอามาใช้ตอนนี้ เนื่องจากกว่าภูมิฯ จะขึ้นต้องใช้เวลานานราว 10 วันถึง 3 สัปดาห์ รวมถึงขณะนี้มีประชากรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วประมาณ 14 ล้านคน และยังมีผู้ที่ติดเชื้อและภูมิฯ เกิดตามธรรมชาติอีก 2-3 แสนคน ดังนั้น หากเอาชุดตรวจแอนติบอดี้ มาตรวจก็จะพบภูมิฯ ในร่างกาย ก็จะให้ผลเป็นบวก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ทั้งนี้ ขอย้ำว่าชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องเป็นแอนติเจน เทสต์ คิท เพื่อหาองค์ประกอบของไวรัส
00 ไม่มีความเสี่ยงไม่จำเป็นต้องตรวจชุดแอนติเจน เทสต์ คิท
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นหากไม่มีความเสี่ยงอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ แต่หากเป็นผู้ที่มีโอกาสต้องไปสัมผัสผู้คน มีโอกาสติดเชื้อ ก็สามารถซื้อมาตรวจได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ซื้อมาตรวจเอง จะมี 2 ทางคือ 1.ซื้อจากร้านขายยา 2.ร้องขอไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการ หรือคลินิกใกล้บ้านที่ได้รับการประสานงานให้ประชาชนสามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK ได้ตามเหตุผลที่จะต้องตรวจ
“ หากนำมาตรวจแล้วให้ผลลบ จะแปลความได้ว่า 1.ไม่ติดเชื้ออะไรเลย 2.ติดเชื้อแต่ปริมาณน้อย หรือ ตรวจเร็วเกินไป เชื้อไม่มากพอที่จะทำให้ชุดตรวจขึ้นผลบวก ดังนั้น หากผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงแต่ตรวจเพื่อความสบายใจ ก็สังเกตอาการ ป้องกันตัวเองตามมาตรการ ส่วนกรณีที่มีความเสี่ยง แต่ตรวจครั้งแรกให้ผลลบ ก็ตรวจซ้ำได้ใน 3-5 วัน หรือตรวจซื้อเมื่อมีอาการป่วย โดยระหว่างรอตรวจซ้ำก็ให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
00 ระวัง! ตรวจเชื้อพบ "ผลบวกปลอม-ผลลบปลอม"
อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีให้ผลบวก จะต้องเข้ามาสู่ระบบ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ขยายไปถึงคลินิกชุมขนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีกว่า 100 แห่งใกล้บ้าน นำชุดตรวจที่ให้ผลบวก เข้ารับคำปรึกษาจากหน่วยบริการดังกล่าว ซึ่งจะมีการตรวจซ้ำในกรณีที่ผลบวกกำกวม หรือชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยบริการ อย่างไรก็ตาม หากผลบวกแล้ว แต่ไม่มีอาการ แข็งแรงดี ก็จะให้ทำมาตรการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation: HI) เข้าระบบและรับอุปกรณ์ดูแลตัวเอง เช่น เครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจน มีแพทย์ติดตามอาการเป็นระยะ หรืออาจส่งต่อไปที่ศูนย์พักคอยแยกกักในชุมชน(Community Isolation: CI) แต่ในกรณีนี้จะมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าติดเชื้อจริง เพราะหากการตรวจด้วย ATK ให้ผลบวกลวง คือ ไม่ได้ติดเชื้อจริง ดังนั้น การที่นำไปรวมกับคนอื่นที่ติดเชื้อ ก็จะเป็นการไปรับเชื้อใหม่แทน ขณะเดียวกัน หากกรณีผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการ กลุ่มป่วยสีเหลืองหรือแดง จะต้องเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ดำเนินตามกระบวนการทางการแพทย์ ด้วยการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง หากให้ผลลบ ก็แสดงว่าไม่ได้มีการติดเชื้อ แต่อาจจะป่วยด้วยสาเหตุอื่น
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ที่จะนำมาใช้กับประชาชน ขณะนี้ บริษัทผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 26 บริษัท กำลังปรับจากสำหรับการใช้โดยบุคลากรแพทย์เท่านั้น มาเป็นการใช้สำหรับประชาชน เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ตรวจเอง ด้วยวิธีการเก็บเชื้อจากโพรงจมูก ตรวจจากน้ำลาย ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา เข้าใจว่าผู้ประกอบกำลังรีบดำเนินการอยู่ แต่ขออย่าไปซื้อในออนไลน์ บางที่เห็นขายกล่องละเป็นหมื่นบาท แพงเกินไป จึงขอความกรุณาประชาชนใช้เวลารอชุดตรวจที่ถูกต้อง และเราไม่ได้อนุญาตขายออนไลน์ ดังนั้นหากพบเห็นให้แจ้งกับอย.ได้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขอเน้นย้ำว่า การตรวจหาเชื้อที่อาจให้ผลลบปลอม หมายถึง มีการติดเชื้อแต่ชุดตรวจให้ผลลบ สาเหตุ 1.เกิดได้จากช่วงแรกของการติดเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนไม่มากพอจึงตรวจไม่พบ 2.เวลาเก็บสาคัดหลั่ง ผู้ตรวจแยงไม้ไม่ถึงโพรงจมูก เพราะอาจกลัวเจ็บ ก็จะไม่ได้สารคัดหลั่งที่มีองค์ประกอบหรือเซลล์ของไวรัสติดออกมาด้วย ฉะนั้น ก็จะตรวจไม่พบ หรืออาจทำขั้นตอนบางอย่างผิด เช่น อ่านผลช้าหรือเร็วเกินไป น้ำยาก็อาจทำปฏิกิริยากับสารคัดหลั่งไม่มากพอ
“ดังนั้นเมื่อเป็นผลลบ อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ แต่เราต้องวางมาตรการป้องกันโรคและตรวจหาเชื้อซ้ำในครั้งต่อไป” นพ.ศุจภิจ กล่าว
00 แจงข้อเท้จจริงกรณีตรวจเชื้อครั้งแรกเป็นบวก แต่ครั้งต่อมาเป็นลบ
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีติดเชื้อแล้ว ติดซ้ำได้หรือไม่ และตรวจโควิดครั้งแรกพบเชื้อ แต่ต่อมาไม่พบเชื้อ ว่า การติดเชื้อไปแล้วครั้งหนึ่ง เหมือนเป็นการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ แต่อย่างที่ทราบหลังจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดิมอาจไม่มากพอต่อสู้กับเชื้อรุ่นใหม่ เช่น เดลตา ทำให้ป่วยซ้ำได้ แต่โดยปกติเราจะพบกรณีแบบนี้ไม่มาก หากติดเชื้อซ้ำก็จะไม่ค่อยรุนแรง ส่วนการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ตรวจครั้งแรกเป็นบวก อีก 2 วันต่อมาไปตรวจพบเป็นลบ ก็เป็นไปได้ เพราะการตรวจครั้งแรกเป็นบวก เพราะอาจเป็นระยะท้ายของการติดเชื้อ เมื่อตรวจครั้งต่อมาก็อาจเป็นลบ
“เรื่องนี้จึงต้องทำความเข้าใจ และสอบถามคุณหมอที่ดูแล จะได้ไม่งงว่า หรือผลเชื่อถือไม่ได้ เพราะจะมีรายละเอียดจำนวนวันที่ตรวจเชื้อ” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
- 4916 views