กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันแม้โอมิครอนที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ BA.2 แต่ความรุนแรงไม่มาก การตรวจ ATK เป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ยกเว้นอยู่กลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์ เช่น น้ำหนักเยอะ เบาหวาน ไตวายเรื้อรังระดับ 4  ฯลฯ หรือตามที่แพทย์วินิจฉัย 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาไขข้อสงสัยว่า หากตรวจโควิดด้วยชุด ATK แล้วผลเป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำ แต่ปรากฏว่ายังมีประชาชนจำนวนมากต้องการตรวจยืนยันผลด้วย RT—PCR

ล่าสุดนพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ไขข้อข้องใจเรื่องนี้อีกครั้ง  โดยเฉพาะขณะนี้โควิดที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งติดเชื้อง่ายกว่า BA.1 ว่า  การตรวจด้วย ATK แล้วและผลเป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากโอมิครอนไม่ว่า BA.1 หรือ BA.2 ความรุนแรงไม่มาก ต้องถามตัวเองว่า ATK บวกแล้ว เรามีความเสี่ยงทางการแพทย์หรือไม่ เช่น น้ำหนักเยอะ อ้วน เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรังระดับ 4 หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ปอดที่น่าจะเป็นปัญหา หากผลบวกแล้วอยู่ในกลุ่มนี้ก็ควรพบแพทย์ให้ประเมินอาการว่าตรวจซ้ำ RT-PCR หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจซ้ำทุกราย

ที่สำคัญไม่แนะนำใช้ RT-PCR ไปตรวจเชิงรุกว่าใครติดเชื้อ เพราะต้องใช้พลังในการตรวจและค่าใช้จ่ายสูง ทุกวันนี้เราตรวจไป 20 กว่าล้านเทสต์ เฉลี่ย 2 พันบาทก็เป็นหมื่นล้านบาท ATK ก็จะช่วยได้ ยิ่งคนไปมีความเสี่ยงมาก็ใช้ ATK ตรวจได้ เราจะตรวจ RT-PCR เฉพาะมีความเสี่ยงทางการแพทย์และเข้ารักษาใน รพ.

   
“การตรวจATK ก็จะช่วยได้ ยิ่งคนไปมีความเสี่ยงมาก็ใช้ ATK ตรวจได้ในการคัดกรองตัวเอง จะตรวจ RT-PCR เฉพาะมีความเสี่ยงทางการแพทย์และเข้ารักษาใน รพ.รวมถึงวิธีใหม่ที่กรมวิทย์ให้ใช้ตรวจยืนยันได้นอกจากRT-PCRด้วย แม้ว่าจะมีราคาถูกลงกว่าRT-PCRที่ราคา 900 บาทเหลือราว 400-500 บาท ก็ไม่มีความจำเป็นไปต้องไปตรวจยืนยัน”นพ.ศุภกิจกล่าว  

     
ถามย้ำว่ากำหนดให้ผลตรวจATKพบโควิด ไม่ต้องตรวจแล็ปยืนยัน เป็นเพราะห้องแล็ปไม่สามารถรองรับได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่ใช่ เนื่องจากห้องแล็ปทั่วประเทศผ่านการรับรองจากรมวิทย์ 516 แห่ง มีศักยภาพตรวจได้วันละ 2 แสนตัวอย่าง ขณะที่ปัจจุบันมีการตรวจอยู่ที่ 70,000 ต่อวัน ยังสามารถรองรับได้อีก

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-กรมวิทย์ออกคำแนะนำฉบับล่าสุด กรณีการตรวจทางห้องปฏิบัติการไวรัสโควิด-19

-ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ “BA.2” ครองส่วนใหญ่ของประเทศ ย้ำยาฟาวิฯ ยังรักษาได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

.