นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวในการเสวนาออนไลน์เปิดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 4 "สังคมสูงวัยยุคโควิด" ซึ่งจัดโดยสภาองค์กรชุมชน ร่วมกับ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานประสานนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.)ว่า คนไทยที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นระลอกนี้เมืองแตกแล้ว ทำให้เศรษฐกิจสะดุด บทเรียนจากการจัดการโควิดของชนบทไทยมีปีที่ผ่านมาชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ก็ทำให้เราประมาททั้งแผ่นดิน ผู้บริหารประเทศก็ประมาท ระลอก 4 นี้เป็นการกลายพันธ์หรือที่เรียกว่าสายพันธ์เดลต้า ในระลอกนี้เมืองแตกแล้ว ไม่มีที่ไหนที่ปลอดโควิด เรื่องดีๆ คือมีการรับคนกลับบ้านที่ต่างจังหวัด วันนี้เห็นชาวบ้านต่างจังหวัดลุกขึ้นมาช่วยกันเหมือนชาวบ้านบางระจัน
นายประกาศ เปล่งพานิชย์ ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า มาตรการกับหลังการล็อคดาวน์ ในจังหวัดมีหลายพื้นที่ซึ่งมีธรรมนูญสุขภาพและมีการรับมือที่ค่อนข้างเป็นระบบ โดยเน้นเรื่องการรักษาฟื้นฟูเป็นหลัก ผู้สูงอายุในชุมชนแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ออกมาทำงานเป็นแกนนำชุมชน เป็นอสม. เป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ส่วนผลกระทบจากการล็อคดาวน์นั้น จ.ปทุมธานีค่อนข้างจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะจ.ปทุมธานีน่าจะเป็นพื้นที่ส่งออกผู้ติดเชื้อไปยังจังหวัดต่างๆ มากกว่า โดยยังมีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง 2 ตลาดใหญ่ๆ ซึ่งยังเป็นพื้นที่การระบาดอยู่
ว่าที่ ร.ท.อนุรักษ์ ทัพวิเศษ หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสายลำโพง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่าสถานการณ์การกระจายของกลุ่มที่ไปทำงานในพื้นที่สีแดงเข้มจะรอรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้มไม่มีพื้นที่ในการกักตัว โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน จึงมีแนวคิดเรื่องจุดพักคอยของแต่ละตำบล เป็นจุดป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงมาแพร่เชื้อในครอบครัว
“ต้องบอกว่าแนวคิดนี้ได้รับเสียงต่อต้านหากจุดพักคอยอยู่ใกล้ชุมชน แต่ถ้าอยู่ไกลชุมชนจะได้รับเสียงตอบรับดี ประชาชนมีความหวาดกลัว เป็นแนวคิดจะผ่านประชาคมหรือเปล่ายังอยู่ในขั้นตอนประชุม"ว่าที่ร.ท.อนุรักษ์กล่าว
หัวหน้าสำนักปลัดอบต.สายลำโพงกล่าวว่า การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุจะเสริมในเรื่ององค์กรเข้าไป คือชมรมผู้สูงอายุตำบลสายน้ำโพง ร่วมกับ อบต.สายน้ำโพง บูรณาการร่วมกับสภาองค์กรชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ต่อมาคือสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านอาหาร เมื่อโควิดไม่สามารถเพิ่มรายได้ ก็จะหาทาช่วยลดรายจ่ายประจำวันเช่นการปลูกพืชเพื่อการบริโภคโดยการแจกเมล็ดพันธ์ เน้นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ดำเนินการในระยะหนึ่งแล้ว และสามารถช่วยชาวบ้านได้จริงๆ นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยในสถานการณ์โควิด ปรับสภาพบ้านให้กับผู้สูงอายุและพิการเน้นเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต
ว่าที่ ร.ท.อนุรักษ์กล่าวว่า ส่วนการรับมือผู้ที่เดินทางเข้ามาเน้นตั้งจุดพักคอย หลายครัวเรือนมีผู้สูงอายุและผู้พิการ เท่าที่สืบค้นมาก็ทราบว่าติดมาจากลูกหลานที่เดินทางกลับมา จึงป้องกันด้วยการไม่ให้เข้าไปสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือสมาชิกในครอบครัว การรับมือเหมือนหลายๆ ที่ เข้ามามีการรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน มาจากจังหวัดพื้นที่สีอะไร ในกรณีที่ไม่พบเชื้อก็ดีไป แต่ถ้ากักตัวแล้วพบเชื้อต้องพิจารณา แล้วถ้าติดเชื้อค่อนข้างเยอะจำเป็นต้องมีการประชุมกับคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอ เพราะบางคนเดินทางเข้ามาแล้วไม่แจ้งก็มีนี่คือปัญหา
“บางคนต้องการที่จะมาหาพ่อแม่อย่างเดียว กลัวจนไม่คิดถึงมาตรการที่จังหวัดประกาศเลยก็มี แล้วบังเอิญเคสอย่างนี้ติดเชื้อ นี่คือปัญหาหลักที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นทุกพื้นที่ เมื่อกักตัวแล้ว อบต.สายลำโพงก็จะช่วยเหลือ สนับสนุนและเยียวยา ช่วยเหลือคือถ้าต้องไปกักตัวโดยมีค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ซึ่งต้องมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการคุ้มครองโรคระดับอำเภอยืนยันว่าติดจริงอนุญาตให้กักตัวได้" หัวหน้าสำนักปลัด อบต.สายลำโพง กล่าว
ด้าน นางประคอง ปาระมี พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.ห้วยโป่ง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในพื้นที่มีกระเหรี่ยง ม้ง ไทใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่สูง การคมนาคมยังลำบาก สถานการณ์โควิดในพื้นที่คือผู้ป่วยรายใหม่ที่มาจาก กทม. แต่เป้าหมายร่วมคือ ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนอยู่ดีมีสุข ภัยโควิด 19 ระยะฟื้นฟูคุณภาพชีวิต มีเจตจำนงร่วมคือสานพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 ทุกภาคีเครือข่ายต้องมีส่วนร่วม นำแกนนำมาวางแผนร่วมกัน ชุดข้อมูลสถานการณ์การพัฒนาชุมชน 4 มิติ รองรับสังคมสูงวัยของตำบล หมู่บ้าน ที่ได้จากกระบวนการการจัดประชุมแบบมีส่วนร่วม
- 56 views