อย. เผยหลักการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด ต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนขอนำเข้า กรณี “ไฟเซอร์” คือ บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาต ยกเว้นบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศยินยอมให้มีผู้อื่นเป็นตัวแทนเพิ่ม แต่ผู้นั้นต้องมาขออนุญาตจาก อย. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลักการนำเข้าวัคซีนเข้ามาในประเทศต้องเป็นคนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า ซึ่งกรณีไฟเซอร์ ก็จะมีบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ผู้ซื้อไปดีลตรงกับบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศเมื่อดีลได้แล้ว คนที่นำเข้ามาก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาต คือ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศยินยอมให้มีผู้อื่นเป็นตัวแทนเพิ่มเติมก็ได้ แต่ผู้นั้น หรือบริษัทนั้นๆ ก็ต้องมาขออนุญาตเป็นผู้นำเข้าจากอย.ก่อน ซึ่งขณะนี้ ในส่วนของไฟเซอร์นั้นยังไม่พบว่ามีผู้มาขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าเพิ่มเติม ผู้ที่ได้รับอนุญาตยังคงเป็นไฟเซอร์ไทยแลนด์
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ทั้งนี้ กรณีเป็นบริษัทเดียวกัน หลายแหล่งผลิต อาจจะมีเรื่องของชื่อทางการค้าที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตอนที่มาขึ้นทะเบียนนำเข้ายา หรือเวชภัณฑ์นั้นเขาจะต้องแจ้งทั้งชื่อบริษัทผู้ผลิต และสถานที่ผลิตควบคู่กันอยู่แล้ว
ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงใน ศบค. เปิดเผยว่า ตามที่มีการอนุญาตให้มีการตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือกนั้น ทางคณะกรรมการฯ เขามีการประชุมไปตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งตอนนั้นเขามีการพิจารณาว่าวัคซีนที่รัฐจัดซื้อไว้ขณะนั้นมี 5 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีอยู่เดิม กรรมการก็มีการพิจารณาชี้วัคซีนเพิ่มอีก 3 ชนิดที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกัน คือ mRNA คือไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และสุดท้ายคือสปุตนิก V ส่วนที่เหลือให้เป็นวัคซีนทางเลือก โดยถ้าเอกชนซื้อเข้ามาได้ก็สามารถนำไปขายได้ นั่นคือเหตุการณ์ตอนนั้น มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางที่ต้องไม่ซ้ำกับวัคซีนที่รัฐจัดหาเข้ามาแต่อย่างใด
“ดังนั้นจะเห็นว่าที่ผ่านมา รัฐได้มีการสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดสอยู่แล้ว และตอนนี้วัคซีนของรัฐที่ซื้อก็ยังมีอยู่แค่นี้และในสัปดาห์หน้า จะมีการหารือของผู้ที่เขาเกี่ยวข้อง ว่ามีวัคซีนตัวใหม่ๆ อะไรที่ออกมาบ้างแล้ว ซึ่งมีอยู่หลายตัว” แหล่งข่าวฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เข้าใจว่ายังมีข้อกำหนดเรื่องวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้ามาต้องไม่ซ้ำกับที่รัฐจัดหา แต่หากเป็นคนละแหล่งผลิตกันสามารถทำได้หรือไม่ เช่น รัฐนำไฟเซอร์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเข้ามา ส่วนเอกชนนำไฟเซอร์ที่ผลิตในประเทศอื่น และถ้าเป็นคนละรุ่นวัคซีน นำเข้าได้หรือไม่ แหล่งข่าวฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะได้มาก่อน อย่างก่อนหน้านี้มีเอกชนบางรายออกมาพูดว่าจะเอาโมเดอร์นาเข้ามาก่อน แต่สุดท้ายก็เอาเข้ามาไม่ได้ สุดท้ายพอมีคนบอกให้นำเงินมาวาง ก็ไม่มีการเอาเงินมาวาง เพราะฉะนั้นมติเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้จัดหาวัคซีนทางเลือกยังเป็นเหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนที่พูดจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนเป้าหมายไปเรื่อย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 233 views